อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายลงในเดือนมกราคม 2567 โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (Labor Department) ได้รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ของเดือนมกราคม 2567 เติบโตร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่าที่นักลงทุน WallStreet คาดการณ์ไว้อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ทำให้เป็นไปได้ยากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ และอาจจะส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามที่นักลงทุนคาดหวัง เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวขึ้นและลดแรงจูงใจในการซื้อพันธบัตร ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
การเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับตลาด ทำให้ราคาหุ้นลดลงและอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรเพิ่มขึ้น โดยดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาดตกลงมากสุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ได้แก่ ดัชนี Dow Jones ดัชนี Nasdaq และดัชนี S&P 500 โดยดัชนี Dow Jones ในวันที่ประกาศดัชนี CPI ได้ปรับตัวลดลง 500 จุดหรือลดลงร้อยละ 1.4 ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.315 ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566
การปรับตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ดูเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นที่น่าพึงพอใจของนักลงทุน เมื่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ลดลงเหลือร้อยละ 3.4 ในเดือนธันวาคม 2566 โดยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยหรืออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น จึงทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาเท่ากับร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนด แม้ว่าดัชนี CPI ล่าสุดจะเป็นข้อมูลของเดือนมกราคม 2567 เดือนเดียว แต่ก็ได้เพิ่มความน่าจะเป็นที่อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ปรับตัวลงตามที่หวัง จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเลื่อนการลดอัตราดอกเบี้ยไปเป็นเดือนมิถุนายน 2567 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤษภาคม 2567
นักลงทุนเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะช่วยให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายงานอัตราเงินเฟ้อได้ทำให้เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเลยทันที เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังต้องการปัจจัยที่จะยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ค่าเป้าหมายที่อยู่ที่ร้อยละ 2 เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ บางคนได้ให้ความเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาอาจมีการเติบโตที่ดีเกินคาดการณ์ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่พร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2567
นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องการจะเห็นข้อมูลมากกว่านี้เพื่อยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ค่าเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 2 ซี่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ด้วย การประมาณการเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ใช้วิธีที่ที่แตกต่างกับกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลสนับสนุนที่มีอยู่ไม่น่าเชื่อถือ แต่เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นข้อมูลระยะสั้นที่มีระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
CPI พื้นฐานหรืออัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้รวมรายการอาหารสดและพลังงานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเท่ากับการเพิ่มขึ้นของเดือนธันวาคม 2566 และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดตั้งแต่กลางปี 2564 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนี CPI ที่ได้มีการปรับตามฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้าและดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีวิธีประมาณการดัชนี CPI ที่แตกต่างกัน โดยดัชนี CPI ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อน้อยกว่า ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ คำนวณดัชนี CPI โดยมีน้ำหนักของค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ซึ่งในเดือนมกราคม 2567 ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ดัชนี CPI ล่าสุดสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังหาข้อมูลเพื่อยืนยันว่าแรงกดดันด้านราคาชะลอตัวลง ซึ่งรวมถึงตลาดรถยนต์มือสองที่มีราคาลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราเงินเฟ้อล่าสุดแสดงให้เห็นว่าราคาของสินค้ามีการลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาสำหรับการบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ราคาของสินค้าในปัจจุบันยังคงสูงกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสินค้าที่ชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายสูง
สินค้าและการบริการที่มีราคาสูงก่อนหน้านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้โภคชาวอเมริกันผิดหวังกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นาย Jan Hatzius นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท Goldman Sachs ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ได้ให้ความเห็นว่าความไม่พอใจต่อสินค้าราคาสูงได้ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับที่ต่ำ ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะลดลงอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าจะใช้ต้องเวลาระยะในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับระดับเงินเฟ้อว่าสินค้ามีราคาสูงมากน้อยเพียงใดมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ
ดัชนี CPI ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ในขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในปี 2567 นี้ แต่อาจจะไม่ราบรื่นนัก
รายงานข้อมูลผู้บริโภคของสถาบันการเงิน Bank of America พบว่าครัวเรือนมีรายการใช้จ่ายกับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านอาหารและบาร์ สินค้าอุปโภคบริโภค และค่าน้ำมันมากกว่าสินค้าประเภทอื่น ตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าดังกล่าวมีการทำธุรกรรมบ่อยครั้ง และมีราคาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19
Ms. Ulrike Malmendier นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of California Berkeley พบว่าราคาของสินค้าที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายประจำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรับรู้ถึงภาวะเงินเฟ้อของผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ผู้บริโภคใช้จ่ายประจำมีราคาสูงก็จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ดี Ms. Malmendier พบว่าอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 9.1 ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งต่างจากภาวะเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษที่ 2510 และ 2520 ที่อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงยาวนานหลายปี จึงทำให้ Ms. Malmendier รู้สึกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
นักลงทุนต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ แต่รายงานดัชนี CPI เดือนมกราคม 2567 ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กลับสูงกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ จึงทำให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้เป็นไปได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลอ้างอิง: Wall Street Journal
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ