หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > สถานการณ์เงินเฟ้อและภาษีน้ำตาล ส่งผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมของครอบครัวชาวอิตาเลียน

สถานการณ์เงินเฟ้อและภาษีน้ำตาล ส่งผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมของครอบครัวชาวอิตาเลียน

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอยู่ ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าอาหารของชาวอิตาเลียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ก็ยังนับว่าสูงอยู่ ส่งผลให้กำลังซื้อของครอบครัวในอิตาลีลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ 92% ของชาวอิตาเลียน เปลี่ยนนิสัยการใช้จ่ายทางด้านอาหาร โดยครึ่งหนึ่งจะพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพมากขึ้น ซึ่งในประเภทอาหารที่ผู้บริโภคเริ่มลดการบริโภคเป็นอันดับต้น ๆ คือ เครื่องดื่มน้ำอัดลม โดยในปี 2565 การบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมของชาว อิตาเลียนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเล็กน้อย แต่จากการที่ค่าครองชีพปรับพุ่งสูงขึ้นส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมเกิดการชะลอตัวลงอย่างมาก โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่า ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีปริมาณลดลง -1.3% จากการสังเกตุพฤติกรรมของชาวอิตาเลียนในการรับมือกับราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับเพิ่มขึ้นพบว่า ชาวอิตาเลียน 6 ใน 10 ได้เริ่มไปจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านค้า discount หรือมีการไปจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านดังกล่าวบ่อยขึ้น ในขณะที่ชาวอิตาเลียน 8 ใน 10 ต้องการเพิ่มการจับจ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่นส่วนลด นอกจากนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแบบบรรจุกล่อง (อาหารและไม่ใช่อาหาร) ลดลง

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แห่งอิตาลี (Nomisma for Assobibe) ได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ “ตลาดน้ำอัดลมในอิตาลี ระหว่างปี 2566-2568 กับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านภาษีน้ำตาล” โดยระบุว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของประเทศถดถอยในสิ้นปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในยูเครนที่แย่ลง ราคาพลังงานที่เพิ่มสูง และภาวะเงินเฟ้อที่ไม่แน่นอน จะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมอาจหดตัวถึง -5.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปี 2565 ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมต่อคนในอิตาลีเท่ากับ 31.9 ลิตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าปี 2555 (อยู่ที่ 34.4 ลิตรต่อคน) และยังคงอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงโอกาสการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลมในอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมหภาค อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของการบริโภค และการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล (Sugar Tax) ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป (สำหรับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีสารให้ความหวาน ชำระในอัตรา 10 เซ็นต์/ลิตร แต่สำหรับเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานน้อยกว่า 25 กรัม จะได้รับการยกเว้นภาษีน้ำตาล) อาจส่งผลให้ ปี 2566 ตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมจะมีแนวโน้มลดลง -2.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยในปี 2567 – 2568 เมื่อการเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนในประเทศน้อยลงและเอื้ออำนวยในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ

แต่หากพิจารณาในกรณีที่ภาษีน้ำตาล (Sugar Tax) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 (โดยเริ่มแรกรัฐบาลอิตาลีได้มีการเสนอให้มีผลบังคับใช้ภาษีน้ำตาลตั้งแต่ ปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ดังกล่าว) การบริโภคน้ำอัดลมอาจจะมีแนวโน้มลดลงอีก เนื่องจากผู้บริโภคชาวอิตาเลียนมีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยด้านราคา จากการศึกษาข้อมูลโดย Nomisma for Assobibe พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในช่วง 2 ปี (ปี 2567-2568) อาจลดลงระหว่าง -12.4% ถึง -15.6% โดยการลดลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานทั้งหมด ในเวลาเดียวกันถือเป็นการลดสภาพคล่องของบริษัท ภาษีใหม่จะลดแนวโน้มในการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตกว่า 46 ล้านยูโร และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์วัตถุดิบ เนื่องจากความต้องการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ลดลงในตลาดอิตาลี จะนำไปสู่การลดปริมาณการผลิต ซึ่งท้ายสุดภาษีน้ำตาลก็จะส่งผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่มที่เชื่อมโยงกับการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมในตลาดอิตาลีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล จะส่งผลให้ระหว่างปี 2567-2568 รายได้ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวจะลดลงถึง 275 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับมูลค่าที่คาดหวังในสถานการณ์ที่ไม่มีการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล

ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
จากสถานการณ์ความยึดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ ราคาพลังงานที่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในอิตาลีอาจอยู่ในภาวะถดถอย ประกอบกับความขัดแย้งที่พึ่งเกิดการปะทุขึ้นระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (กลุ่มฮามาส) ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกและอิตาลีมีแนวโน้มแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลด้านราคาพลังงานที่จะปรับเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง (หลังจากที่ได้ปรับลดลงมา) ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในอิตาลีลดลงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประชาชนในอิตาลีมีการรัดเข็มขัดเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้จ่ายสินค้าฟุมเฟือย/สินค้าที่ไม่จำเป็น เลือกซื้อสินค้าที่มีโปรโมชั่นส่วนลดเพิ่มขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงภาวะถดถอยที่อาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สำหรับผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมของครอบครัวชาวอิตาเลียน อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์จากไทยมายังอิตาลีอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มายังอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีมูลค่าส่งออก 68.59 ล้านบาท ขยายตัว +38.91% ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจากผู้นำเข้าในอิตาลี/ยุโรป
——————————————————————-
ที่มา: Food Affairs, https://www.repubblica.it/economia/rapporti/osserva-italia/mercati/2023/10/10/news/bevande_analcoliche_inflazione_costi_e_sugar_tax_pesano_sui_consumi-417470029/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login