เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดและเจือจางแล้วลงสู่มหาสมุทร จากความกังวลของประชาชนชาวจีนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยจากอาหารทะเลที่อาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือสารพิษตกค้าง เพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค และเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารนำเข้า ในวันเดียวกัน กรมศุลกากรจีน ได้ประกาศห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (รวมถึงสัตว์น้ำที่บริโภคได้) จากประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยมีผลทันที หลังจากประกาศ หลายพื้นที่ในจีนได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้าร่วมถึงร้านอาหารที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
จากข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับสินค้าอาหารทะเลว่า “ยังสามารถรับประทานได้หรือไม่” จากการสำรวจสถานการณ์ผลกระทบในตลาดอาหารทะเล และร้านอาหารญี่ปุ่น เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน พบว่า ร้านขายอาหารญี่ปุ่น อาทิ Hana Shio, Master, Aesthetics, Songyue และ Japanese Cuisine เป็นต้น ได้ออกมาประกาศว่า อาหารทะเลที่ขายภายในร้านไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น หรือระบุว่าจะหยุดใช้วัตถุดิบจากญี่ปุ่นและใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทน ปัจจุบัน ร้านอาหารญี่ปุ่นต่างๆ ในเมืองฝูโจวส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากนัก ผู้บริโภคหลายคนกลับคิดว่า “ต้องรีบคว้าโอกาสในการบริโภคอาหารทะเลในช่วงเวลานี้ ก่อนที่จะมีการปนเปื้อน” จึงทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายร้านยังคงมีผู้คนหลั่งไหลไปบริโภค แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารทะเลยังคงกังวลกับสถานการณ์ที่อาจแย่ลงในอนาคต แม้ว่าอนาคตของร้านอาหารญี่ปุ่นจะยังดูไม่แน่นอน แต่คาดว่าประชาชนจำนวนมากยังคงสนับสนุนร้านอาหาร “แบรนด์ญี่ปุ่น” ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
ในด้านของตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เจ้าของร้านในโซนจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในตลาด Qing Cheng ในเมืองฝูโจว กล่าวว่า ร้านค้าได้รับผลกระทบเล็กน้อย ในวันที่ 24 สิงหาคม หลังจากมีการประกาศข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน สถานการณ์ก็กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ ร้านค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแถวถนน Suwei เขต Gulou เมืองฝูโจว ยังคงมีผู้คนจับจ่ายซื้ออาหารทะเล ธุรกิจยังคงดำเนินได้ดีเหมือนปกติ และยิ่งไปกว่านั้น มีผู้บริโภคซื้อปลาเป็นจำนวนมากในช่วงสองถึงสามวันที่ผ่านมา ราคาขายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในตลาดยังคงเสถียรภาพ
ซูเปอร์มาเก็ตเป็นอีกหนึ่งแหล่งบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนิยม ที่ชาวจีนมักจะไปเลือกซื้อสินค้า โดยสินค้าอาหารทะเลหลายชนิด อย่าง ปลาแซลมอน ใน Sam’s Club Supermarket ที่สาขาถนน Yangqiao West Rd. เมืองฝูโจว กล่าวอย่างชัดเจนว่าอาหารทะเลในซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีแหล่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น สินค้ามีการแสดงแหล่งที่มาอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ อย่าง ปลาแซลมอนส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ผลิตในประเทศนอร์เวย์และชิลีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ อาหารทะเลหลายชนิดมีการยืนยันแหล่งที่มาอย่างชัดเจน อาทิ เนื้อหอยเชลล์จากเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ปลาหมึกมาจากเมืองหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน กุ้งกุลาดำและกุ้งขาวแช่แข็งมาจากประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งอาหารทะเลเหล่านี้ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ราคาและยอดขายค่อนข้างคงที่
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ซึ่งตลาดจีนและฮ่องกงเป็นตลาดอันดับ 1 และ 2 ของการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น การระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากญี่ปุ่น ย่อมส่งผลกระทบกับเม็ดเงินที่สูญเสียไปของญี่ปุ่น รวมถึงสูญเสียความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในภาครวม ส่งผลให้ผู้คนในประเทศจีนเกิดความกังวลต่อสินค้าอาหารทะเลเป็นอย่างมาก หน่ายงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินการสร้างความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจทางด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้าอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบหลักฐานการซื้อขาย การนำเข้า ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เอกสารผ่านศุลกากร ใบกักกันโรคสินค้า และ ใบตรวจสอบโรคสินค้า เป็นต้น เป็นกรณีพิเศษ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยไม่มากนัก ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะในมณฑลที่มีอุตสาหกรรมประมงเป็นหลัก ยังคงบริโภคอาหารทะเล เพียงแต่มีความไว้วางใจที่จะเลือกบริโภคของภายในประเทศมากกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทยต้องให้ความสำคัญ เพิ่มความระมัดระวังซึ่งการส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศจีนต้องเป็นไปตามกฎระเบียบของ GACC หรือศุลกากรจีน อย่างเคร่งครัด
ที่มา:
http://www.taihainet.com/news/fujian/szjj/2023-08-27/2724149.html
https://mp.weixin.qq.com/s/LKNDCcevQwQTAgELN3OZOQ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)
1 กันยายน 2566