ที่มาภาพ: https://www.chinadaily.com.cn/a/202302/22/WS63f56b5aa31057c47ebb01a9.html
Carrefour (家乐福) สาขาแรกในประเทศจีนถูกก่อตั้งโดยบริษัทฝรั่งเศสในปี 2538 ที่กรุงปักกิ่ง Carrefour ถือเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีสินค้าหลากหลายชนิดถือเป็นความแปลกใหม่ที่น่าดึงดูดใจแก่ผู้บริโภคในสมัยนั้น จากนั้นได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วไปยังเซี่ยงไฮ้ เจียงซู กวางตุ้ง เสฉวน ยูนนาน และมณฑลอื่น ๆ ของจีน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 การเปิดตัวของแพลตฟอร์ม E-commerce อย่าง Tmall และ JD.com ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม E-commerce ของจีนให้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค และส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายเริ่มเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องจากการเดินทางไปซื้อในร้านค้าไปสู่การสั่งซื้อออนไลน์ ในช่วงเริ่มต้นของ E-commerce นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของ Carrefour นัก ในปี 2553 Carrefour เป็นผู้ค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนโดยมีร้านค้าทั้งหมด 249 แห่งใน 23 มณฑล ยอดขายของ Carrefour ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2558 หลังจากนั้นยอดขายกลับเริ่มลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับมูลค่า การค้าปลีกออนไลน์โดยรวมในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Carrefour ต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านยอดขาย Carrefour ก็กลายเป็นองค์กรที่ขาดทุนอย่างมหาศาล โดยในปี 2560 ขาดทุนไปถึง 1,090 ล้านหยวน (ประมาณ 5,450 ล้านบาท) และในปี 2561 ขาดทุนไป 578 ล้านหยวน (ประมาณ 2,890 ล้านบาท) ในเดือนมิถุนายน 2562 Suning.com หนึ่งในเครือธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนได้เข้าซื้อหุ้นของกิจการ Carrefour China ร้อยละ 80 เป็นเงิน 4,800 ล้านหยวน (ประมาณ 24,000 ล้านบาท) โดยในขณะนั้นมีจำนวนสาขาอยู่ที่ 210 แห่ง แต่เจ้าของใหม่กลับไม่สามารถกอบกู้สถานการณ์ของธุรกิจ โดยในปี 2562 ขาดทุนไป 304 ล้านหยวน (ประมาณ 1,520 ล้านบาท) ในปี 2563 ขาดทุนไปถึง 795 ล้านหยวน (ประมาณ 3,975 ล้านบาท) และในปี 2564 เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แบบ hypermarket ลดจำนวนน้อยลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันไปสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับธุรกิจค้าปลีกในจีน Carrefour มีผลขาดทุนสุทธิมากถึง 3,330 ล้านหยวน (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) และสถานการณ์ยังคงแย่อย่างต่อเนื่องมาถึงในปี 2565 ช่วงครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิไป 471 ล้านหยวน (ประมาณ 2,355 ล้านบาท) และในช่วง 3 ไตรมาสแรกได้ปิดสาขาไป 54 แห่ง เหลือเพียง 151 แห่งเท่านั้นที่ยังดำเนินการการอยู่
ที่มาภาพ: https://www.statista.com/statistics/233682/number-of-carrefour-stores-in-china/
ในต้นปีนี้ มีข่าวลือในกลุ่มผู้บริโภคว่า Carrefour จะปิดสาขาเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ถือบัตรสมาชิกแบบเติมเงินและยังมีเงินเหลือภายในบัตรเกิดความวิตกกังวลและรีบเข้าไปจับจ่ายเพื่อใช้เงินคงเหลือในบัตร ให้หมดก่อนที่สาขาของ Carrefour ใกล้บ้านจะปิดตัวลง ซึ่งเกิดปัญหาที่ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่สะดวกในการจับจ่าย ดังนี้
- สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อ ชั้นวางสินค้าภายในห้างมีชั้นที่ว่างเป็นจำนวนมากประมาณ ร้อยละ 40 ของชั้นวางสินค้าทั้งหมด แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Carrefour กำลังประสบกับปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินและการดำเนินงาน
- ทาง Carrefour ได้ตั้งข้อจำกัดเพิ่มเติมในการใช้บัตรสมาชิก บัตรไม่ครอบคลุมถึงสินค้าประเภท ขนม เครื่องดื่ม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ทำให้สินค้าที่ต้องการซื้อเพื่อใช้เงินในบัตรให้หมด มีตัวเลือกน้อยลง
- Carrefour ได้มีการกำหนดให้ใช้เงินในบัตรได้แค่ร้อยละ 20 ของยอดซื้อในครั้งนั้น เช่นซื้อของจำนวนเงินที่จุดชำระ 500 หยวน สามารถใช้เงินในบัตรได้แค่ 100 หยวน หากต้องการใช้เงินในบัตรให้หมด 500 หยวน จะต้องซื้อสินค้าถึง 2,500 หยวน เท่ากันว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2,000 หยวนเพื่อใช้เงินในบัตรให้หมด
- ตั้งแต่ 2 มิถุนายนได้มีการปรับเปลี่ยนเวลาเปิดให้บริการเป็น 10:00 น. ถึง 19:00 น. ซึ่งปิดเร็วกว่าช่วงเวลา 20:00 น. เป็นการตัดโอกาสในการขายสินค้าในช่วงที่ห้างสรรพสินค้าจะมีจำนวนลูกค้ามากที่สุด
ที่มาภาพ: https://daxueconsulting.com/the-rise-and-fall-and-rise-again-of-carrefour-in-china/
ทาง Carrefour ได้ค้นพบวิธีแก้ไขปรับปรุงทางด้านการจัดการ supply chains และได้เปิด community-based shopping centers เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัท Carrefour จึงเปลี่ยนศูนย์การค้ารูปแบบ hypermarket ในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้เป็น brick-and-mortar service centers for communities เป็นศูนย์การค้าแบบดั้งเดิมที่มีบริการเสริมเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ลูกค้า เช่นสนามเด็กเล่น และบริการจัดเลี้ยง เพื่อสร้างความแตกต่างจาก online-to-offline services อยากบริการให้เหตุผลว่าทำไมลูกค้าเลือกใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าของตนเอง และเนื่องจาก Carrefour เป็น hypermarket ขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูง ทางบริษัทได้มีความพยายามที่จะเปิดตัวแอป E-commerce แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก จึงได้มองหาการเติบโตใหม่เพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบ โดยห้างสรรพสินค้า Beijing Carrefour ได้มีการร่วมมือกับแอป Suning.com (苏宁易购), Meituan (美团), Ele.me (饿了么), JD Daojia (京东到家) และ FoodTalks (淘鲜达) เพื่อเปิดตัวบริการจัดส่งถึงที่บ้าน ซึ่งทำให้สามารถได้รับคำสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว Carrefour กำลังพยายามปรับเปลี่ยนช่องทางการขาย และได้จัดทำกลยุทธ์ “ชีวิตที่สะดวกสบาย 15 นาที” ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Suning.com เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ในปัจจุบันพื้นที่อาหารสดของร้าน Carrefour Beijing Shuangjing มีแผนที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง และจะนำเสนออาหาร การศึกษา และด้านอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้
ตลาดจีนเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคการซื้อขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ แม้แต่ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สามารถทำกำไรและดำเนินธุรกิจในจีนได้มาอย่างยาวนานยังได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและปรับตัวตลอดเวลาเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ในยุคปัจจุบัน ช่องทางการซื้อขายเป็นสิ่งที่จำเป็น และผู้บริโภคในยุคปัจจุบันไม่ยึดติดกับแบรนด์เท่ายุคก่อน หากผู้บริโภครู้สึกไม่สะดวกในการซื้อก็จะเปลี่ยนไปเลือกซื้อในช่องทางที่รู้สึกสะดวกมากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายค่อนข้างมาก ร้านค้าในปัจจุบันจึงควรมีช่องทางการค้าออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงได้มากขึ้นและรู้สึกสะดวกในการซื้อของได้มากขึ้น
________________________________________________________________________________
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้
วันที่ 9 มิถุนายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)