กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า สถานการณ์ค้าปลีกสหรัฐฯ แสดงแนวโน้มกลับคืนสู่สภาวะปกติก่อนวิกฤต COVID-19 โดยพิจารณาจากรายงานยอดขายปลีกโดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 เปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2022 ยอดขายปลีกรวมทั้งสิ้นของไตรมาสที่ 1 ปี 2023 โดยเฉลี่ยเติบโตร้อยละ 3.6 ยอดขายปลีกโดยเฉลี่ยของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.1 ของยอดขายปลีกรวมทั้งสิ้น เติบโตร้อยละ 8 อัตราเติบโตของยอดขายปลีกในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 นี้ใกล้เคียงกับอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษก่อนหน้าเกิดวิกฤต COVID-19 คือ ร้อยละ 4 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ
คาดการณ์ยอดขายปลีกในปี 2023
The National Retail Federation (NRF) คาดการณ์ยอดขายปลีกในปี 2023 จะสูงกว่าปี 2022 ร้อยละ 4 – 6 (ยอดขายปลีกในปี 2022 สูงกว่าปี 2021 ร้อยละ 7) อัตราเติบโตของยอดค้าปลีกที่คาดการณ์นี้สูงกว่าอัตราเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 NRF คาดการณ์ยอดขายปลีก E-Commerce จะเติบโตร้อยละ 10 – 12 ส่วนใหญ่ของการเติบโตของการค้า E-Commerce เป็นผลมาจากการขายในระบบ multichannel ที่ต้องพึ่งหน้าร้าน ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการค้าปลีกที่คิดเป็นร้อยละ 70 ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
สรุปสถานการณ์ยอดค้าปลีกแยกตามกลุ่มสินค้า ในระยะ 4 เดือนแรก (มกราคม – เมษายน) 2023 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ข้อมูลจาก U.S. Census Bureau กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ)
- รถยนต์และชิ้นส่วน +0.6%
- เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน -1.6%
- อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน -1.8%
- อุปกรณ์และเครื่องมือก่อสร้างและทำสวน -2.1%
- อาหารและเครื่องดื่ม +4.6%
- สินค้าเพื่อสุขภาพและการบำรุงรักษาร่างกาย +7.2%
- เสื้อผ้าและเครื่องตกแต่ง +0.9%
- เครื่องกีฬา hobby เครื่องดนตรี และหนังสือ +0.3%
- สินค้าทั่วไปที่วางจำหน่ายในธุรกิจ department stores +1.8%
- สถานบริการอาหารและเครื่องดื่ม +14.5%
สถานการณ์สต็อกสินค้าและความต้องการสินค้าสำหรับวางจำหน่าย
แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกยังคงประสบปัญหาสินค้าล้นสต็อก แต่สถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีกหลายรายเริ่มบรรเทาลง เป็นผลจากการนำสินค้าออกขายลดราคาต่อเนื่อง และธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่พร้อมที่จะแสวงหาสินค้าใหม่ๆ และที่เป็นสินค้าทันสมัยสำหรับการขายในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว
สถานการณ์นำเข้าสินค้าสำหรับธุรกิจค้าปลีก
การนำเข้าสินค้าเพื่อการค้าปลีกในขณะนี้ยังไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากภาคธุรกิจค้าปลีกยังคงระมัดระวังสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อระดับความต้องการบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐฯ
Descartes Datamyne บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระบบห่วงโซ่อุปทาน รายงานว่า สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดค้าปลีก ซึ่งนำเข้าจากประเทศแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญในเอเชียและผ่านขึ้นที่ท่านำเข้าบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประตูหลักของการนำเข้าสินค้าจากเอเชีย จะมีปริมาณตู้สินค้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2023 ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนเกือบร้อยละ 23 ประเมินสถานการณ์นำเข้าได้ว่ากำลังปรับลดระดับเข้าสู่สภาวะการณ์ปกติก่อนวิกฤต COVID-19
อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การขาดแคลนแรงงานเป็นแรงกดดันให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น หลายบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน รวมถึงความจำเป็นต้องยื่นล้มละลาย (Chapter 11) เพื่อขอรับการคุ้มครองหนี้ในระหว่างการปรับระบบการทำธุรกิจ และต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย
3) เจ้าของธุรกิจต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป
4) ความไม่ปลอดภัยของสถานที่ทำธุรกิจเนื่องจากปัญหาการรบกวนจากคนไร้บ้าน และปัญหาสินค้าถูกขโมยบ่อยครั้งและเป็นจำนวนมาก นอกจากจะสร้างความเสียหายทางการเงินแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของคนงานและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.ลอสแอนเจลิส
- สภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคของคนอเมริกัน แม้ว่าบ่อยครั้งจะมีรายงานการเติบโตของยอดขาย แต่มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในความเป็นจริงแล้ว การบริโภคของคนอเมริกันทุกระดับเศรษฐกิจแสดงแนวโน้มลดลง
- สภาพเศรษฐกิจและวิกฤต COVID-19 สร้างปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น ที่มาจากการเติบโตของจำนวนคนไร้บ้าน คนป่วยโรคจิต และอาชญากรรม ส่งผลต่อสถานการณ์การค้าปลีกในสหรัฐฯ
- การแข่งขันของตลาดค้าปลีกในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงมาก สินค้าที่จะมีโอกาสสูงที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของทั้งเจ้าของธุรกิจค้าปลีกและผู้บริโภค คือ สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้มีวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โอกาสในการแข่งขันจึงอยู่ที่คุณสมบัติอื่นที่นอกเหนือจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการปกติประจำวันของร่างกาย นั่นคือ คุณประโยชน์จากการบริโภค เช่น สามารถบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพให้แก่ผู้บริโภคได้ มีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง (value) เป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง เป็นต้น
- ลักษณะสำคัญของสินค้าที่จะมีโอกาสสูงในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบัน คือ เป็นสินค้าแปลกใหม่ที่สะดุดตา สามารถกระตุ้นความต้องการ (want) และมีมูลค่า (value) ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่เป็น impulse purchase ได้
- สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและข้อมูลการค้าแสดงให้เห็นความท้าทายในสินค้ากลุ่มที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และการปิดร้านค้าจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์สินค้าล้นสต็อกของหลายภาคธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อระดับความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในร้านค้า โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย/สินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
- ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการกระจายสินค้าตรงเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก จำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ธุรกิจร้านค้าปลีก วิธีทำธุรกิจของร้านค้าปลีกเป้าหมาย และสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่จะเติบโตในสภาวะตลาดปัจจุบัน โดยอาจพิจารณาช่องทางอื่น คือ การเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงผู้บริโภคอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นบ้านหรือที่ทำงานซึ่งมีโอกาสสูงกว่าการขายในร้านค้า ทั้งยังช่วยอำนวยความให้แก่ผู้บริโภค เช่น การจัดส่งสินค้า การไปรับสินค้าคืนถึงที่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรต้องมีความเข้าใจว่าสินค้าใดที่เหมาะสมกับการค้าออนไลน์ และเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้เหมาะกับสินค้า
———————————————————–
ที่มา:
- Knoxnews: “Retail theft is a growing and expensive problem” by David Moon, May 26, 2023
- Forbes: “Retail Giants Vs. US Economy: Walmart, Amazon Triumph as Target, Home Depot, And Lowe’s Stumble”, by Jason Goldberg, May 23, 2023
- Retail Insight Network: “US Retailers gear up to restock, boosting shipping prospects”, by Mohamed Dabo, May 25, 2023
- PracticalEcommerce: “Charts: U.S. Retail Ecommerce Sales Q1 2023”, by Adel Boukarroum, May 24, 2023
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | เดือนมิถุนายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)