หน้าแรกTrade insightข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ > สถานการณ์ตลาดข้าวโพดในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ของจีน

สถานการณ์ตลาดข้าวโพดในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ของจีน

ข้อมูลจาก สำนักอาหารและวัตถุดิบสำรองของมณเหอเป่ย ระบุว่า ภาพรวมของตลาดข้าวโพดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ในช่วงกลางเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 ก่อนเทศกาลตรุษจีน เกษตรกรมีความกังวลใจ เนื่องจากความคืบหน้าการขายธัญพืชลดช้าลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างนั้น ธุรกิจและผู้ประกอบการปลายน้ำ ยังคงมีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับต่ำ ที่เป็นส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเทศกาลตรุษจีน อุปทานของตลาดข้าวโพดอยู่ในช่วงผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของความต้องการในการแปรรูปเชิงลึกและสินค้าเพื่อการเลี้ยงสัตว์มีข้อจำกัด ส่งผลให้ตลาดข้าวโพดค่อย ๆ มีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่อุปทานเริ่มอ่อนแอลง ในช่วงกลางเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ราคาขายของข้าวโพดไม่ดีนัก ทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มไม่เต็มใจในการกระจายสินค้าออก พื้นที่จัดเก็บธัญพืชเริ่มลดลง ต้นทุนด้านการจัดเก็บสินค้าในคลังเพิ่มสูงขึ้น และกำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ตลาดข้าวโพดเข้าสู่ช่วงแรงกดดัน นอกจากนี้ ราคาข้าวสาลีที่ลดลง ทำให้ข้าวสาลีถูกนำมาทดแทนข้าวโพดด้านการเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้น ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การปลูกข้าวสาลีในประเทศประสบปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนัก คาดว่าอีกสองเดือนข้างหน้าผลผลิตข้าวสาลีจะลดลง บวกกับมอลต์เริ่มเข้าสู่ตลาด จะสามารถดึงดูดให้บริษัทด้านอาหารสัตว์กลับมาบริโภคข้าวโพดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยราคาข้าวโพดที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นในการปลูกข้าวโพดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปี 2564 จีนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 ด้วยนโยบายการสนับสนุนด้านการเพาะปลูกถั่วเหลืองและพืชน้ำมัน ส่งผลให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดลดลง แต่ในปี 2566 ภาครัฐกลับมาเพิ่มนโยบายเรื่องรักษาความเสถียรภาพด้านอาหารและขยายพื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2565/66 จีนมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด 43.07 ล้านเฮกต้าร์ มีผลผลิต 277.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 YoY หากพื้นที่การเพาะปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศมากนัก จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดในปี 23/24 เพิ่มมากขึ้น

จากปริมาณที่ลดลงของข้าวโพด และราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับมอลต์ก็กำลังถูกทยอยเข้าสู่ตลาด ที่ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคข้าวโพดในประเทศมีข้อจำกัดจากหลายด้าน ตลาดข้าวโพดมีความยากลำบากในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ตลาดดูจะไม่ค่อยดีนัก แต่จีนยังคงมีการควบคุมและการสนับสนุนทางด้านต่างๆ ที่เป็นแรงผลักดันให้กับราคาข้าวโพดในตลาด โดยราคาข้าวโพดโดยเฉลี่ยของทั่วประเทศ ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 บนเว็บไซต์ Mysteel.com อยู่ที่ 2,800 หยวนต่อตัน เพิ่มขึ้น 10 หยวนต่อตันจากวันที่ 8 กรกฎาคม 2566

ในด้านของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ท้องถิ่น ประกาศโดยเว็บไซต์กระทรวงการเกษตรและกิจการชนบทแห่งชาติจีน ณ สัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 3 หยวนต่อกิโลกรัม (ราคาโดยเฉลี่ยของทั่วประเทศ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า / 2.75 หยวนต่อกิโลกรัม (ราคาโดยเฉลี่ยของ 3 มณฑลในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้แก่ เฮยหลงเจียง จี๋หลินและเหนียวหนิง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดหลักของจีน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า / 3.14 หยวนต่อกิโลกรัม (ราคาในตลาดมณฑลกว่างตง ซึ่งเป็นตลาดบริโภคข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลักของจีน)  เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

จากสถานการณ์ข้าวโพดในช่วงครึ่งปีแรก 2566 อุปสงค์และอุปทานในตลาดยังคงมีความขัดแย้ง สร้างความกังวลด้านราคาข้าวโพดในตลาด ทำให้ราคาผันผวนในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ผลกระทบยังอยู่ในระยะสั้น หากในอนาคตอุปสงค์และอุปทานข้าวโพดในประเทศยังคงไม่สมดุลกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ข้าวโพดยังมีราคาสูงขึ้นต่อไป

ในด้านของการนำเข้าทดแทน ข้อมูลจากศุลกากรจีนแสดงให้เห็นว่า การนำเข้าข้าวโพดของจีน ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 10.19 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.6 YoY แม้ว่าภาพรวมการนำเข้าข้าวโพดจะลดลง แต่การนำเข้าข้าวสาลียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 จีนนำเข้าข้าวสาลี 7.19 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.5 YoY คาดว่าปริมาณการนำเข้าทดแทน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น จะมีปริมาณถึง 14.6 ล้านต้น และคาดว่าจะมีปริมาณข้าวโพดนำเข้า 2-3 ล้านตัน จะหลั่งไหลเข้าคลังสำรอง จากโควตาเกินมาตรฐานและปริมาณสำรองที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันด้านอุปทาน

ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ข้าวโพดเป็นหนึ่งในธัญพืชที่มีความต้องการสูงทางการตลาด เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญของปศุสัตว์ตลอดจนอาหารมนุษย์ เป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความมั่นคงด้านอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จีนให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ข้อมูลสถิติประมวลโดย Global Trade Atlas ระบุว่า เดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2566 จีนนำเข้าข้าวโพด (HS Code 1005 : Corn) รวมทั้งสิ้น 12.03 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 11.49 YoY)  มีมูลค่า 4,270 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 3.52 YoY) โดยจีนนำเข้าข้าวโพดจากประเทศสหรัฐอเมริกาปริมาณสูงสุด 4.96 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 39.01 ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดทั้งหมดของจีน) รองลงมาคือประเทศยูเครนปริมาณนำเข้า 4.33 ล้านต้น (คิดเป็น 36.03% ) ประเทศบราซิลปริมาณการนำเข้า 2.21 ล้านตัน (คิดเป็น 18.41%) ประเทศบัลแกเรียปริมาณการนำเข้า 293,077 ตัน (คิดเป็น 115.96%) และประเทศรัสเซียปริมาณการนำเข้า 202,360 ตัน (คิดเป็น 523.15%) ตามลำดับ ทั้งนี้ ปักกิ่งมีการนำเข้าข้าวโพดมากที่สุด (คิดเป็น 61.11% ของการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมาคือมณฑลฝูเจี้ยน (13.48%) มณฑลกว่างตง (6.05%) มณฑลซานตง (5.60%)  และ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (4.6%) ตามลำดับ

ที่มา :

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1771543737543976121&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1771339012114982661&wfr=spider&for=pc

https://ncp.mysteel.com/a/23080916/8D106F3139C79D59.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

11 สิงหาคม 2566

Login