หน้าแรกTrade insightข้าว > สถานการณ์ตลาดข้าวของอิหร่านซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอการนำเข้าจนถึงเดือนมีนาคม 2568

สถานการณ์ตลาดข้าวของอิหร่านซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอการนำเข้าจนถึงเดือนมีนาคม 2568

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตลาดข้าวในอิหร่านเกิดความผันผวนโดยราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

      1. เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศซึ่งมีการใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าว (22 ก.ค. – 20 พ.ย. 2024)
      2. ข้าวนำเข้าปริมาณ 100,000 ตันยังค้างอยู่ที่กรมศุลกากรอิหร่าน ไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ทันก่อนเริ่มมาตรการห้ามนำเข้าข้าว
      3. ความไม่ลงรอยกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของอิหร่าน โดยฝ่ายภาครัฐเห็นว่าผลผลิตภายในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากๆ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและการผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องการการไหลออกของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการนำเข้า

ทั้งนี้สมาฃิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลภาคใต้ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าข้าว เนื่องจากการห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งและชายแดนทางภาคใต้ของประเทศอิหร่านที่บริโภคข้าวนำเข้า ในทางกลับกันสมาชิกผู้แทนราษฎรของจังหวัดทางภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของประเทศไม่เห็นด้วยต่อการอนุญาตนำเข้าข้าว เนื่องจากภายในประเทศยังมีข้าวเหลือในสต็อกอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ทางสมาคมผู้นำเข้าอิหร่าน (The Iranian Rice Importers Association) ได้ออกแถลงการณ์ แสดงการคัดค้านต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการจำกัดการนำเข้าข้าว โดยเปิดเผยว่าอย่าได้ผูกมัดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไว้กับปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในประเทศ นอกจากนี้ ความแตกต่างด้านรสนิยมและอำนาจการซื้อข้าวของประชาชนจะเป็นผลให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นและการขาดแคลนข้าวในตลาด ทั้งนี้ สมาคมผู้นำเข้าข้าวเปิดเผยว่าข้าว ในประเทศและข้าวนำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์สองชนิดที่แตกต่างกัน และมีเป้าหมายตลาดที่แตกต่างกันอย่างฃัดเจน ซึ่งข้าวนำเข้ามีราคาไม่แพงและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนชั้นกลางในสังคม เนื่องจากข้าวอิหร่านมีราคาสูงกว่าข้าวต่างประเทศมาก ดังนั้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในสังคมจึงนิยมบริโภคข้าวประเภทนี้ ซึ่งในทางกลับกันการจำกัดการนำเข้าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มสูงขึ้น และไม่สามารถเข้าควบคุมได้เหมือนที่ผ่านมา และทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยซื้อข้าวได้น้อยลงด้วยและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากข้าวถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของชาวอิหร่าน

ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดอิหร่านได้ขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 50

      • ราคาข้าวหอมอิหร่านเกรด เอ กิโลกรัมละ 1,620,000 เรียล (ประมาณ 110 บาท)
      • ราคาข้าวหอมอิหร่านเกรด บี กิโลกรัมละ 1,400,000 เรียล (ประมาณ 95 บาท)
      • ราคาข้าวอินเดีย กิโลกรัมละ 900,000 เรียล (ประมาณ 60 บาท)
      • ราคาข้าวปากีสถาน กิโลกรัมละ 1,350,000 เรียล (ประมาณ 90 บาท)
      • ราคาข้าวไทยเกรดบี กิโลกรัมละ 475,000 เรียล (ประมาณ 32 บาท)

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายกำลังรอดูว่าภายหลังจากพ้นระยะเวลาการห้ามนำเข้าข้าว รัฐบาลจะตัดสินใจต่อไปอย่างไร โดยอันดับแรก คือการขนถ่ายสินค้าข้าวที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือที่นำออกไม่ทันก่อนการเริ่มมาตรการห้ามนำเข้า ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถเข้ามาควบคุมราคาสินค้าข้าวได้ อาจเปิดไฟเขียวให้มีการนำเข้าข้าวก่อนสิ้นปีงบประมาณปัจจุบันได้ (มีนาคม 2568) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความต้องการข้าวในประเทศสูงเพราะใกล้ฃ่วงเทศกาลปีใหม่อิหร่านและเทศกาลถือศึลอด ซึ่งในช่วงเวลานั้นรัฐบาลอาจเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าเองหรือเปิดไฟเขียวให้กับภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการเกษตรและญิฮาดของอิหร่านได้ให้ข่าวว่า อิหร่านยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจนถึงเดือนมีนาคม 2568 เนื่องจากมีสต็อคการนำเข้าข้าวก่อนหน้านี้ 4 แสนกว่าตัน และสต็อคข้าวที่ผลิตเมื่อปีที่แล้วอีก 1 แสนตัน ประกอบกับผลผลิตข้าวปีนี้มีปริมาณมาก เมื่อรวมกันแล้วมีความเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานการณ์ตลาดข้าวของอิหร่านซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอการนำเข้าจนถึงเดือนมีนาคม 2568

Login