(ที่มาภาพ: https://www.meipian.cn/1u1pph9d)
กล้วยไม้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนมาช้านาน สังเกตได้จากรูปวาดกล้วยไม้และข้อความในบทกวีชื่อดังในสมัยโบราณ ปัจจุบันชาวจีนมีการนำกล้วยไม้มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือประกอบการชงชาเพื่อให้มีกลิ่นหอม รวมทั้งใช้ในกิจการต่างๆ อาทิ ธุรกิจส่งออก สนามบิน โรงแรม ร้านอาหารระดับบนเพื่อการตกแต่ง และใช้ในพิธีสำคัญ เช่น พิธีเปิดกิจการใหม่ พิธีแต่งงาน เป็นต้น ปัจจุบันกล้วยไม้ยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจและสร้างมูลค่าได้ในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันตรุษจีนหรือปีใหม่ มูลค่าการค้ากล้วยไม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ตลาดค้าขายดอกไม้ที่สำคัญของจีนจะกระจุกตัวอยู่ในมณฑลยูนนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง โดยตลาดดอกไม้โต่วหนาน ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเฉิงก้ง นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถือเป็นตลาดค้าขายดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย
(บรรยากาศของตลาดดอกไม้โต่วหนานในนครคุนหมิง
ที่มาภาพ: https://image.baidu.com)
ภาพรวมการนำเข้าดอกไม้ของจีน
ในปี 2565 จีนมีการนำเข้าดอกไม้จากทั้งหมด 58 ประเทศ โดยเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรกของจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของมูลค่าการนำเข้าดอกไม้ทั้งหมดของจีน โดยมูลค่าการนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 135 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 57.97 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ มณฑลที่นำเข้าดอกไม้ 5 อันดับแรกของจีน ได้แก่ มณฑลยูนนาน นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง และกรุงปักกิ่ง ตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าดอกไม้ของ 5 พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 90.32 ของมูลค่าการนำเข้าดอกไม้ทั้งหมดของจีน
ภาพรวมการนำเข้ากล้วยไม้ของจีน
ตารางแหล่งการนำเข้ากล้วยไม้ของจีน (หน่วย : เหรียญสหรัฐฯ)
ลำดับ | ประเทศ | พ.ศ. 2564
|
พ.ศ. 2565
(ม.ค.-พ.ย.) |
พ.ศ. 2566
(ม.ค.-พ.ย.) |
เปลี่ยนแปลง
(%) |
โลก | 18,797,256 | 14,127,173 | 11,068,227 | -21.65 | |
1 | ไทย | 16,859,069 | 12,493,961 | 10,492,638 | -16.02 |
2 | เนเธอแลนด์ | 1,115,445 | 594,410 | 355,680 | -40.16 |
3 | นิวซีแลนด์ | 659,885 | 1,012,998 | 219,909 | -78.29 |
4 | ไต้หวัน | 161,534 | 25,252 | n/a | n/a |
5 | ญี่ปุ่น | 1,323 | 552 | n/a | n/a |
ที่มา: Global Trade Atlas
สำหรับภาพรวมการนำเข้ากล้วยไม้ของจีน แหล่งนำเข้ากล้วยไม้ที่สำคัญของจีน 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ โดยข้อมูลจากสถิติจากศุลกากรจีนตามภาพกราฟแท่งด้านล่าง ไม่มีการแสดงตัวเลขการนำเข้ากล้วยไม้ในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระยะแรกของการระบาด ประเทศจีนมีการล็อคดาวน์ อย่างไรก็ดี ในปี 2564 การนำเข้ากล้วยไม้ของจีน กลับมามีมูลค่าสูงถึง 18.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2565 มีมูลค่านำเข้าทั้งปีอยู่ที่ 15.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.82 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของตลาด
ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกสดรายปีย้อนหลังของจีน
(หน่วย : กิโลกรัม และ เหรียญสหรัฐฯ)
(ที่มา : สถิติจากศุลกากรจีน
และ http://www.leadingir.com/datacenter/view/9301.html )
(อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 6.45 หยวน)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการนำเข้าดอกไม้ รวมทั้งกล้วยไม้ของจีนจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะพันธุ์ไม้บางชนิดที่ขาดแคลนในประเทศมีแนวโน้มความต้องการที่เติบโตอย่างชัดเจน นอกจากนี้ กล้วยไม้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีน เนื่องจากมีสีสันที่โดดเด่น ขนาดดอกใหญ่กว่าสายพันธุ์พื้นเมือง จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยในการขยายตลาดในจีนต่อไป
ผู้ส่งออกที่มีความต้องการส่งออกกล้วยไม้เข้ามาในจีน ควรศึกษาและติดตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของจีน เนื่องจากกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในการค้าขายกล้วยไม้ระหว่างประเทศนั้นมีกฎและขั้นตอนในการดำเนินการอย่างเคร่งคัดทั้งในส่วนของการนำเข้าและส่งออก และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและระเบียบขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ส่งออกจะต้องจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินขั้นตอนของศุลกากร เช่น ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าและใบรับรองสุขอนามัยพืช เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
(แผนที่จำลองของสวนนิทรรศการวัฒนธรรมกล้วยไม้ Xinchuan Orchid Culture Expo Park
ที่มา: https://m.thepaper.cn/baijiahao_25598823)
จากข้อมูลจาก Chengdu Government Affairs นครเฉิงตูมีโครงการเพิ่มสวนแสดงสินค้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ Xinchuanzhixin Park ซึ่งจะมีการก่อสร้างสวนนิทรรศการวัฒนธรรมกล้วยไม้ Xinchuan Orchid Culture Expo Park โดยเป็นความร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2567 จัดแสดงบนพื้นที่ประมาณ 210 หมู่ (หรือประมาณ 87.5 ไร่) แบ่งออกเป็น 5 สวน 12 ฉาก และมีการจัดแสดงกล้วยไม้ล้ำค่ามากกว่า 500 ชนิดและกล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์เกือบ 1,000 สายพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดกล้วยไม้ในนครเฉิงตู ที่เป็นที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จากมูลค่าของตลาดกล้วยไม้และการสนับสนุนของภาครัฐที่เข้ามาลงทุน
จากสถิติการนำเข้ากล้วยไม้จีน แสดงให้เห็นว่าในกล้วยไม้ไทยเป็นสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดจีน จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถต่อยอดตลาดกล้วยไม้ไทยให้สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากจุดแข็งเรื่องสายพันธ์ุกล้วยไม้ไทยที่มีความหลากหลาย รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยสนับสุนนต่างๆ ดังนี้
– การสร้างพันธมิตรทางการค้า เพิ่มช่องทางในการจัดหน่ายกล้วยไม้และส่งเสริมกล้วยไม้ไทยที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ประกอบการ
– การติดตามข้อมูลข่าวสาร ผู้ส่งออกไทยควรติดตามแนวโน้มความต้องการของตลาดกล้วยไม้ในจีนและกฎระเบียบต่างๆ ในการนำเข้า-ส่งออกกล้วยไม้
– การส่งเสริมและนำเสนอตลาดกล้วยไม้ เพื่อเพิ่มความต้องการในตลาดกล้วยไม้ โดยสร้างการรับรู้เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดกล้วยไม้ไทยในจีน
– การพัฒนาสายพันธ์ุกล้วยไม้ ให้ตรงต่อความต้องการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มโอกาสให้กล้วยไม้สายพันธุ์ไทยเข้ามาขยายตลาดในจีนได้มากขึ้น
————————————————–
แหล่งข้อมูล :
https://www.meipian.cn/1u1pph9d
http://www.leadingir.com/datacenter/view/9301.html
http://www.camafa.net/hyzz_hydt/282100200.html
https://www.gov.cn/xinwen/2023-02/21/content_5742540.htm
https://cj.sina.com.cn/articles/view/1496814565/593793e502001ftbd
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานการณ์ตลาดกล้วยไม้ในจีน