หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานยังน่าเป็นห่วง: ผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยยังจำกัด

สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานยังน่าเป็นห่วง: ผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยยังจำกัด

แม้ว่าสองขั้วอำนาจในซูดานจะทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเพิ่มขึ้นจนถึงเที่ยงคืนวันที่ 27 เมษายน 2566 แต่สถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน ซึ่งดำเนินมากว่า 10 วัน ได้ส่งผลให้เกิดการปะทะกันในเมืองสำคัญทั่วทั้งซูดาน โดยเฉพาะกรุงคาร์ทูมเมืองหลวง เมืองดาร์ฟูร์ตะวันตก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยธรรม มีผู้เสียชีวิตประมาณ 460 คน บาดเจ็บประมาณ 4,100 คน[1] และเกิดการอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายหลังการหยุดยิงชั่วคราวจบลง สถานการณ์จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานครั้งนี้เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน นำโดยพลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ประธานาธิบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces: RSF) ซึ่งมิได้สังกัดกองทัพซูดาน นำโดยพลเอกโมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล หรือ “เฮเมดติ” รองประธานาธิบดีและผู้บัญชาการ RSF ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2566 และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้นำทั้งสองมีแนวคิดในการบริหารประเทศแตกต่างกันสิ้นเชิง โดยเฉพาะการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน รวมทั้งการผนวก RSF ซึ่งมีกำลังพลเกือบแสนนายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน  ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในซูดานเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ก่อนการแยกตัวออกจากสาธารณรัฐซูดานใต้ในปี 2554 ซึ่งทำให้ซูดานสูญเสียรายได้จากน้ำมัน (คิดเป็นร้อยละ 95 ของการส่งออกทั้งหมด) เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ และมีการประท้วงรุนแรงหลายครั้ง จนนำไปสู่การถอดถอนนายโอมาร์ ฮัสซัน อาเหม็ อัล บาเชียร์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ออกจากตำแหน่งในปี 2562 และมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในปีเดียวกัน ซึ่งต่อมา กองทัพซูดานได้ก่อรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2564 ทำให้ซูดานตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพจนถึงปัจจุบัน โดยมี 2 ขั้วอำนาจหลัก คือ นายพลอัล-บูร์ฮาน และพลเอกเฮเมดตี [2]

ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

ปฏิกริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและมีความกังวลอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสนับสนุนให้มีการเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็วที่สุด โดยที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และสหภาพแอฟริกา ต่างออกมาเรียกร้องให้ยุติการสู้รบโดยรวดเร็วที่สุด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งภูมิภาค ซึ่งมีความอ่อนไหวและผันผวนมากอยู่แล้ว  ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของซูดาน (อียิปต์ เคนยา ซูดานใต้ และจิบูตี) และหน่วยงานระดับภูมิภาคได้เสนอเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างทั้งสองขั้วอำนาจโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ซูดานเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 109 ของไทยกับโลก การค้ารวมระหว่างไทย-ซูดาน ในปี 2565 มีมูลค่า 87.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามากถึง 82.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าในปี 2566 (มกราคม-กุมภาพันธ์) มีมูลค่ารวม 9.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกัน
ในปี 2565 ร้อยละ -54.87 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปซูดาน อาทิ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากซูดาน อาทิ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสินแร่โลหะ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในซูดานจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและซูดานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาจส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าระหว่างไทยกับโลกในภาพรวมอย่างจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับซูดานคิดเป็นร้อยละ 0.01 ของการค้าระหว่างไทยกับโลกเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความไม่สงบในซูดานยืดเยื้อต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาในภาพรวม ซึ่งบางประเทศมีความอ่อนไหวอยู่แล้ว เนื่องจากกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนค่า และการท่องเที่ยวซบเซา  ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของซูดานหยุดชะงักควรเริ่มพิจารณาหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดซูดาน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่า เช่น ซูดานใต้ เอธิโอเปีย แอฟริกากลาง เนื่องจากปัญหาการเมืองในซูดานหยั่งรากลึกในสังคมซูดาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร

26 เมษายน 2566

[1] สถานะวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่มา World Health Organization อ้างใน Al Jazeera https://www.aljazeera.com/news/2023/4/26/no-sign-sudan-warring-parties-ready-to-seriously-negotiate-un

[2] World Bank. 2023. The World Bank in Sudan. https://www.worldbank.org/en/country/sudan/overview

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login