เนื้อหาสาระข่าวและบทวิเคราะห์: ในปัจจุบันประเทศหนึ่งในภูมิภาคแคริบเบียนที่ยังเป็นที่พูดถึงและที่น่าห่วงกังวลในสายตานานาชาติถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองการปกครอง อันเป็นต้นเหตุของความผันผวนทางเศรษฐกิจในระดับรุนแรง อัตราเงินเฟ้อที่สูง และสภาวะที่ค่าเงินของประเทศอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่พลเมืองในประเทศ วิกฤติทางมนุษยธรรม และความมั่นคงทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่เลวร้าย ก็คือประเทศเฮติ (Haiti) ประเทศซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะ Hispaniola มีเขตแดนร่วมกับสาธารณรัฐโดมินิกัน (Dominican Republic) โดยเฮติเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นลำดับที่ 3 รองจากคิวบา (Cuba) และสาธารณรัฐโดมินิกัน ตามลำดับ
สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นความท้าทายเชิงมนุษยธรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดเครือข่ายเฝ้าระวังทุพภิกขภัย (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) หรือ The Famine Early Warning Systems Network: FEWS NET ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (United States Agency for International Development: USAID) เป็นเครือข่ายที่ทำหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารในบางประเทศที่น่าจับตา โดยในครั้งนี้ได้หยิบยกเผยแพร่รายงาน Price Bulletin หรือ รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารโดยการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าพื้นฐานที่มีความสำคัญ (Commodities) ในประเทศนั้น ๆ โดยในรายงานฉบับนี้ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ราคาสินค้าหลักที่คนส่วนใหญ่บริโภค (Staple Food) และได้ฉายภาพรวมของประเทศที่มีปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียน ซึ่งปรากฎว่าในภูมิภาคแคริบเบียนมีเพียงประเทศเฮติประเทศเดียวที่อยู่ในรายงานฉบับนี้
ในรายงานได้ระบุว่าสินค้าอาหารหลักที่คนส่วนใหญ่บริโภคในภาพรวมของทั้งภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียนนั้นประกอบไปด้วย 3 สินค้า ได้แก่ ข้าวโพด (Maize), ข้าว (Rice) และถั่ว (Beans) ซึ่งสำหรับถั่วก็ถือว่าเป็นแหล่งสารอาหารโปรตีนที่สำคัญมากชนิดหนึ่งสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เมื่อพิจารณาเฉพาะในประเทศเฮติพบว่าพึ่งพาแหล่งอาหารหลักทั้งสามชนิดได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และถั่วดำ สำหรับข้าวโพดและถั่วดำนั้นเฮติมีฤดูกาลเพาะปลูกเช่นกัน โดยหน้าปลูกข้าวโพดจะอยู่ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน ขณะที่ถั่วดำสามารถเพาะปลูกได้สองช่วงคือ เดือนมีนาคม – พฤษภาคม และเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม ทั้งยังทำการปลูกถั่วชนิดอื่น ๆ ได้ในช่วงปลายปีเดือนธันวาคม – มกราคม อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาภายในประเทศ และสภาพโครงสร้างพื้นฐานและธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับยังคงมีปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนระบบชลประทานที่เหมาะสม ทำให้ในปัจจุบันเฮติมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยในภาพรวมเฮติสามารถผลิตข้าวโพดและถั่วดำได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภคในประเทศ ในขณะที่สามารถผลิตข้าวได้เพียงร้อยละ 20 ของความต้องการบริโภคในประเทศ
จากสถานการณ์ที่ได้อธิบายไปในข้างต้น ทำให้เฮติต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพด พืชหัว/หัวมัน (Tubers) และถั่วจากสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นหลัก และพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ มากถึงร้อยละ 80 ตลอดจนแป้งข้าวโพด (Maize Flour) โดยข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ นั่นนับว่ามีราคาถูกกว่า และสำคัญอย่างมากต่อการบริโภคของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ
ภาพที่ 1: แสดงข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าอาหารข้าวโพดจากเดือนสิงหาคม 2566 – กรกฎาคม 2567 ประเทศเฮติ และเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
ภาพที่ 2: แสดงข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าอาหารถั่วดำจากเดือนสิงหาคม 2566 –
กรกฎาคม 2567 ประเทศเฮติ และเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
ภาพที่ 3: แสดงข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าข้าวจากเดือนสิงหาคม 2566 –
กรกฎาคม 2567 ประเทศเฮติ และเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐฯ = 131 กูร์ดเฮติ (HTG)
แผนภาพที่ 1 – 3 จะแสดงให้เห็นถึงราคาสินค้าอาหารข้าวโพด ถั่วดำ และข้าว ตามลำดับ ในประเทศเฮติซึ่งติดตามข้อมูลราคาย้อนหลังไปเกือบ 1 ปี เต็ม (ถึงเดือนสิงหาคม 2566) โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ในภาพรวมจะพบว่าราคาสินค้าอาหารนั้นยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเงินเฟ้อราคาอาหาร (Food Inflation) ที่พุ่งสูงกว่าร้อยละ 40 ในเฮติ โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาขายปลีกข้าวปริมาณ 6 ปอนด์อยู่ที่ประมาณ 1,300 HTG (ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯ) ราคาขายปลีกข้าวโพดปริมาณ 6 ปอนด์อยู่ที่ประมาณ 600 HTG (ประมาณ 4.6 เหรียญสหรัฐฯ) และราคาขายปลีกถั่วดำปริมาณ 6 ปอนด์อยู่ที่ประมาณ 900 HTG (ประมาณ 6.9 เหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยในประเทศเฮติ
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจที่สอดแทรกอยู่ในรายงานข่าวสารประจำสัปดาห์ครั้งนี้ คือข้อมูลเชิงลึกของสินค้าอาหารหลักที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเฮติ และประเทศในภูมิภาคแคริบเบียนภาพรวมบริโภคกัน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้สนใจส่งออกสินค้าอาหารข้าว ข้าวโพด และถั่วชนิดต่าง ๆ มายังตลาดแคริบเบียนควรทราบเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบในการวางแผนเจาะตลาด
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในส่วนของการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาค โดยข้อมูลจากในรายงานจะทำให้เห็นได้ว่าในบางประเทศในภูมิภาคเคริบเบียน และหลายประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคอีกทอดหนึ่ง มากกว่าการนำเข้าสินค้าโดยตรง เนื่องด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ภาวะเงินเฟ้อที่มีผลต่อการนำเข้าสินค้าและการวางกลยุทธ์ทางการตลาด ค่าขนส่งเทียบกับปริมาณสินค้าที่สามารถสั่งได้ในแต่ละครั้ง และความไม่มีเสถียรภาพในประเทศ ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าผ่านประเทศรอบข้างเป็นสำคัญ ดังนั้น สินค้าจำเป็นต่าง ๆ ต้องนำเข้าผ่านตัวแทนทั้งในสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นหลัก และต้องเป็นสินค้าที่มีความต้องการอย่างจำเป็นเท่านั้น แม้ว่าเฮติเองเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอีกมากที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ เนื่องจากภูมิภาคแคริบเบียนถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอเมริกาทั้งทวีป และนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป
สำหรับประเทศเฮติเองนั้น ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงน่ากังวลอย่างมากอยู่นั้น อาจทำให้ผู้ที่สนใจตลาดประเทศเฮติควรจะต้องพิจารณารอคอยให้สถานการณ์ภาพรวมต่าง ๆ คงที่และอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม จึงพิจารณาดำเนินการในขั้นต่อไป
ที่มา: FEWS NET Price Bulletin
เรื่อง: “Central America and the Caribbean July 2024”
โดย: Famine Early Warning Systems Network (FEWS NET)
สคต. ไมอามี /วันที่ 1 สิงหาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในแคริบเบียนที่น่าจับตา