หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > สถานการณ์การนำเข้าและส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง

สถานการณ์การนำเข้าและส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ศุลกากรหนานหนิง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสำนักงานศุลกากรทุกแห่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ประกาศตัวเลขว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 การค้าการนำเข้าและส่งออกของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่า 393,510 ล้านหยวน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาเติบโต 34.4% ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออก 195,800 ล้านหยวน เติบโต 37.2% มูลค่าการนำเข้า 197,710 ล้านหยวน เติบโต 31.8%

ช่วง 7 เดือนแรก เขตฯ กว่างซีจ้วง นำเข้าและส่งออกสินค้ากับกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่า 215,440 ล้านหยวน เติบโต 67.2% คิดเป็นสัดส่วน 54.7% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของเขตฯ กว่างซีจ้วง ส่วนการนำเข้าและส่งออกกับกลุ่มประเทศอาเซียนเติบโต 71.6% การนำเข้าและส่งออกกับประเทศตะวันออกกลางมูลค่า 27,320 ล้านหยวน เติบโต 19% การนำเข้าและส่งออกกับประเทศแอฟริกามูลค่า 18,870 ล้านหยวน เติบโต 39% นอกจากนี้แล้ว การนำเข้าและส่งออกกับประเทศสหภาพยุโรปมูลค่า 12,080 ล้านหยวน เติบโต 47.7%

รุปแบบการค้าที่สำคัญมากที่สุดของเขตฯ กว่างซีจ้วงคือรูปแบบการค้าทั่วไป โดยมีมูลค่า 158,830 ล้านหยวน เติบโต 28.6% ส่วนรูปแบบการค้าอื่นก็มีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง เช่น รูปแบบการค้าโลจิสติกส์ทัณฑ์บน รูปแบบการค้ามูลค่าขนาดเล็กที่ชายแดน และรูปแบบการค้าระหว่างชาวชายแดน

บริษัทเอกชนเป็นบริษัทดำเนินการนำเข้าและส่งออกหลัก โดยมีมูลค่า 238,880 ล้านหยวน เติบโต 48.6%

ช่วง 7 เดือนแรก เขตฯ กว่างซีจ้วง มีเมืองที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่เติบโตทั้งหมด 11 เมือง โดยเมืองที่มีมูลค่าสูงเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ เมืองฉงจั่ว เมืองหนานหนิง และเมืองฝางเฉิงก่าง เมืองที่มีมูลค่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือเมืองไป่เซ่อ ซึ่งมีมูลค่า 20,750 ล้านหยวน เติบโต 109.8%

สินค้าที่ส่งออกสำคัญคือเครื่องจักร โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด ส่วนการส่งออกสินค้าที่ผลิตโดยอาศัยแรงงานสูง (Labor-intensive products) มีการเติบโตเป็น 80% สำหรับสินค้าที่นำเข้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิ แร่โลหะ, ผลิตภัณฑ์เครื่องจักร, ผลิตภัณฑ์เกษตร, น้ํามันดิบ ฯลฯ

หน่วยงานศุลกากรหนานหนิง เปิดเผยว่า การเติบโตของการนำเข้าและส่งออกของเขตฯ กว่างซีจ้วงได้รับบวกจากการนโยบายของเขตฯ กว่างซีที่มีบทบาทเป็นประตูเปิดสู่ต่างประเทศที่เติบโตอย่างมั่นคง ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การสร้างเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่แข็งแกร่งสําหรับการค้าต่างประเทศของกว่างซี ช่วง 7 เดือนแรก เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออก 144,850 ล้านหยวน เติบโต 55.7% ขณะเดียวกัน เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มค้าขายสินค้าโภคพัณฑ์ กระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัยในเชิงรุก ช่วง 7 เดือนแรก ได้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ปริมาณ 12.792 ล้านตัน และได้ส่งออกสินค้าไฮเทคมูลค่า 30,300 ล้านหยวน เติบโต 69.8%

นอกจากนี้ หลังจากเข้าช่วงฤดูร้อน ด้วยอุณหภูมิอากาศของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการผลิตภัณฑ์พัดลม, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วง 7 เดือนแรก เขตฯ กว่างซีส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวรวมเป็นมูลค่า 860 ล้านหยวน เติบโต 312.5% โดยเฉพาะพัดลมเติบโต 318.8% และเครื่องปรับอากาศเติบโต 117%

ในช่วงฤดูผลไม้ ความต้องการบริโภคผลไม้ของประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าและส่งออกผลไม้ของกว่างซีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับผลไม้นำเข้ามีมูลค่า 6,370 ล้านหยวน เติบโต 120.2% ชนิดผลไม้ที่นำเข้าสำคัญคือ ทุเรียน สำหรับผลไม้ที่ส่งออกมีมูลค่า 1,380 ล้านหยวน เติบโต 44.6% ชนิดผลไม้ที่ส่งออกสำคัญคือ ส้ม

ความเห็นสคต. หลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 การค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ฟื้นฟูตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งความเร็วการเติบโตสูงกว่าทั้งประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการนำเข้า เช่น ช่วง 7 เดือนแรก การนำเข้าของเขตฯ กว่างซีจ้วงเติบโต 31.8% การนำเข้าของทั้งประเทศจีนลดลง 1.1% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการค้าการนำเข้าของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเฉพาะสำหรับการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่รองจากประเทศเวียดนาม สินค้าที่นำเข้าสำคัญคือ เครื่องจักรและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรที่รวมผลไม้ แป้งมันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์ส่งออกสินค้ามายังเขตฯ กว่างซีจ้วงและต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสคต.หนานหนิงทาง Email: thaitcnanning@ditp.go.th

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

แหล่งที่มา https://mp.weixin.qq.com/s/XBgQt41_rGvLgSu2WYRRHg

http://www.gx.chinanews.com.cn/cj/2023-08-12/detail-ihcrzmff7608490.shtml

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login