Stay-at-Home Economy มีบทบาทมากขึ้นในพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวัน โดยได้ปัจจัยเสริมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2565 มูลค่าการค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ของไต้หวันมีมูลค่าสูงถึง 542,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 จากปีก่อนหน้า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน เล็งเห็นโอกาสในการใช้ช่องทางออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดไต้หวัน โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สคต.ฯ ได้ร่วมมือ Commercial Development Research Institute (CDRI) จัดเทศกาลชอปปิงออนไลน์ไทย-ไต้หวันขึ้น ระหว่างวันที่ 1-30 สิงหาคม 2566 ภายใต้กิจกรรมที่มีชื่อว่า TOPTHAI x Taiwan Select โดยมีร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มของ PChome Thai Shopping เป็นแพลตฟอร์มหลักในการขายสินค้าไทยให้กับผู้บริโภคไต้หวัน ในขณะที่ฝ่ายไต้หวันจะขายสินค้าไต้หวันให้กับผู้บริโภคไทยผ่านเว็บไซต์ Taiwan Select โดยจะมีการโปรโมทเว็บไซต์ของกันและกันผ่านช่องทางต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคของทั้งสองฝ่ายสามารถซื้อสินค้าจากแต่ละฝ่ายได้ง่ายขึ้น ผู้สนใจสามารถเข้าชมเว็บไซต์ของทั้งสองฝ่ายได้ที่ https://taiwan-select.com/
สำหรับแคมเปญของกิจกรรม TOPTHAI ในปีนี้ คือ “This Summer THAI Cool” โดยมีการคัดสรรสินค้าหน้าร้อนที่มีศักยภาพของไทยบนแพลตฟอร์มของ PChome Thai Shopping จำนวนรวมกว่า 6,000 รายการ ประกอบด้วยสินค้าอาหารและไลฟ์สไตล์รวม 6 ประเภท ได้แก่ ชุดว่ายน้ำและเครื่องแต่งกายสำหรับเที่ยวชายหาด รองเท้าแตะสุดเท่ห์ แฟชั่นย้อมคราม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องหอมและสปา สินค้าออกแบบ อาหารว่างและของกินเล่น ซึ่งรวมถึงแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของชาวไต้หวันจำนวนมาก เช่น Divana, Phutawan, Beauty Buffet, Naraya, Mistine, AprilPoolDay, Buffolow, Homrak, Chinrada, Smell Lemongrass, Anona, Café Amazon, Well-B, Sriwanna และ Graph เป็นต้น มาให้ชาวไต้หวันเลือกซื้อ ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของประเทศเมืองร้อนที่ชาวไต้หวันมักคิดถึงในอันดับต้นๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนของไต้หวัน พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยหากซื้อครบ 690 บาทจะมีบริการจัดส่งสินค้าให้ฟรีโดยส่งตรงจากประเทศไทยมาถึงมือผู้บริโภคในไต้หวัน และมีคูปองส่วนลดทันที 50-200 บาท สำหรับให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดไปใช้เป็นส่วนลดตามเงื่อนไขการสั่งซื้อ และเนื่องจากในเดือนสิงหาคมจะมีเทศกาลวันพ่อ (8 สิงหาคม) และเทศกาลวันแห่งความรักจีน (ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม) จึงมีการจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้ที่สั่งซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลทั้งสองเทศกาลนี้ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพัฒนาดิจิทัลไต้หวันและสถาบันวิจัยและพัฒนาการค้าแห่งไต้หวันยังเตรียมจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดอี-คอมเมิร์ซไต้หวันและกิจกรรม Market Day ขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เพื่อแนะนำเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, XR (Extended Reality เป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผสมผสานหลากหลายมิติ), D2C (Direct-to-Customer), Social Commerce มาใช้ในการให้บริการ พร้อมทั้งมีการจัด Mini Exhibition ที่รวบรวมผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซชื่อดังจากทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ มาแนะนำบริการของแต่แพลตฟอร์ม รวมถึง PChome Thai Shopping, Pinkoi, Amazon, Coupang และ EasyStore
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
การที่ผู้บริโภคไต้หวันนิยมไปท่องเที่ยวเมืองไทยและได้ไปบริโภคและใช้บริการสินค้าและบริการของไทย ส่งผลให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไต้หวันถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง โดยล่าสุด GDP per Capita ของไต้หวันได้ขยับสูงขึ้นแซงหน้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว อีกทั้งล่าสุด จากความนิยมในการชอปปิงออนไลน์ของชาวไต้หวันทำให้ยอดขายของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชื่อดังอันดับ 1 ของไต้หวันสามารถแซงหน้าห้างสรรพสินค้าที่เคยมียอดขายสูงสุดในไต้หวันไปแล้ว แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของการค้าออนไลน์ในไต้หวัน อย่างไรก็ดี หนึ่งใน Pain Point สำหรับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ คือ ค่าส่ง ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคไต้หวันใช้ในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า ซึ่ง PChome Thai Shopping นำเสนอบริการที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังไต้หวัน และใช้วิธีการจัดซื้อจากเจ้าของสินค้าโดยตรง จึงถือเป็นการแก้ปัญหาด้านค่าส่งได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การสร้างความร่วมมือกับ PChome Thai Shopping จึงถือเป็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการแบรนด์ไทย เพราะเป็นช่องทางที่แต่ละแบรนด์จะสามารถเข้าถึงลูกค้าไต้หวันได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยังริเริ่มเข้าสู่ตลาด
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)