สถานการณ์สินค้าอาหารในประเทศสิงคโปร์
ในปี 2565 การผลิตผัก อาหารทะเล และไข่ในสิงคโปร์ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ผลผลิตในประเทศที่ลดลง และความล่าช้าในการสร้างและปรับปรุงฟาร์มเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
การผลิตไข่ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 30.5% ในปี 2564 แต่ในปี 2565 การผลิตไข่ลดลงเหลือ 28.9% โดยมีสาเหตุมาจากโรคระบาดนิวคาสเซิล ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท และระบบย่อยอาหารของสัตว์ปีกในฟาร์ม Seng Choon เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อย่างไรก็ดี การผลิตไข่ในสิงคโปร์ได้กลับสู่ภาวะปกติในไตรมาสถัดมา ในขณะเดียวกัน สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency :SFA) ได้ทำงานร่วมกันกับ Animal and Veterinary Service (AVS) เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพเพิ่มขึ้น
ในปี 2565 ปริมาณผักที่บริโภคในสิงคโปร์มาจากฟาร์มผักในประเทศน้อยกว่า 4% จากในปี 2564 ส่วนแบ่งอยู่ที่ 4.3% สำหรับอาหารทะเล การผลิตในประเทศลดลงเหลือ 7.6% จาก 8% ในปี 2564
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงฟาร์มใหม่และฟาร์มที่มีอยู่เดิม จึงส่งผลต่อความสามารถของฟาร์มในการขยายกำลังการผลิตให้เต็มที่ นอกจากนี้ ฟาร์มจำนวนหนึ่งได้หยุดดำเนินการในปี 2565 ในขณะที่ ฟาร์มอื่นๆ ได้ย้ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของสิงคโปร์ และต้องการเวลาในการเพิ่มกำลังการผลิต
สิงคโปร์นำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นจาก 172 ประเทศ ในปี 2562 เป็น 183 ประเทศ ในปี 2565 เช่น บรูไน โคลอมเบีย และอินโดนีเซีย ได้รับการอนุญาตให้เป็นแหล่งนำเข้าสำหรับสินค้าไข่ หมู และไก่ ตามลำดับ ในขณะที่ สิงคโปร์มีประเทศที่สามารถนำเข้าได้มากขึ้น แต่ปริมาณอาหารทะเล ผักและผลไม้ที่นำเข้าโดยรวมกลับลดลงระหว่างปี 2564-2565 สิงคโปร์นำเข้าผัก 518,000 ตัน ในปี 2565 ลดลงจาก 544,400 ตัน ในปี 2564
ศาสตราจารย์ William Chen ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากโรคระบาดและสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทำให้ปริมาณการนำเข้าอาหารบางประเภทลดลง เทคโนโลยีสำหรับการทำฟาร์มผักในเมืองและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในสิงคโปร์ยังเพิ่งเริ่มไม่นาน และจะต้องใช้เวลาในการขยายขนาด การผลิตไข่ในท้องถิ่นจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจากฟาร์มในท้องถิ่นเพิ่มการผลิต และมีการสร้างฟาร์มไข่แห่งที่สี่ขึ้นใหม่
ฟาร์มไข่แห่งที่สี่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทท้องถิ่น Ise Foods Holdings และผู้ผลิตไข่ชั้นนำของญี่ปุ่น Ise Foods Japan คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2567 และจะเพิ่มการผลิตไข่ในท้องถิ่นเป็น 50% ของความต้องการในประเทศ เมื่อเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ
ผู้บริโภคในสิงคโปร์จำนวนมากมีความลังเลที่จะซื้อผลผลิตในประเทศเนื่องจากราคาสูงกว่าผลผลิตนำเข้า ดังนั้นเมื่อความต้องการซื้อต่ำทำให้ฟาร์มยากต่อการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ฟาร์มผักบางแห่งต้องทิ้งหรือบริจาคผักส่วนหนึ่งเนื่องจากขายได้น้อย หรือลดกำลังการผลิตลงเพื่อประหยัดต้นทุนและลดความสูญเปล่าจากการทิ้งหรือบริจาค
ภาคการเกษตรอาหารสิงคโปร์และ SFA ได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่เรียกว่า Alliance for Action เพื่อช่วยสร้างความต้องการซื้อผลผลิตในประเทศจากฟาร์มในเชิงพาณิชย์ โดยการเสนอให้ฟาร์มจัดหาผลผลิตให้กับโรงแรม ร้านอาหาร และภาคธุรกิจรับจัดงานเลี้ยง โดยในเดือนมีนาคม 2566 SFA และสมาคมอุตสาหกรรมได้เริ่มโครงการให้ใบรับรองธุรกิจอาหารและโรงแรมที่ใช้ผลผลิตในประเทศอย่างน้อย 15% ของมูลค่าผลผลิตทั้งหมด
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สิงคโปร์ได้ตั้งเป้าในการผลิตอาหารให้ได้ 30% ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศให้ได้ภายในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่งคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังคงพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศอยู่มาก ผู้ประกอบการไทยสามารถมองหาช่องทางและโอกาสในการขยายตลาดการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร/เครื่องดื่มมายังสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข่าวสารและกฎระเบียบในการนำเข้าจาก SFA เพื่อจะได้นำไปพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาดต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดได้ โดยงานแสดงสินค้าสำคัญในประเทศสิงคโปร์ได้แก่ 1) งาน Food & Hotel Asia 2) Food & Beverage Fair 3) Café Asia 4) Restaurant Asia เป็นต้น
แหล่งที่มาภาพ/ข้อมูล : StraitsTimes :- www.straitstimes.com/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)