รายงานชื่อ “Back to Growth: Priority Agenda for the Economic Revival of Nigeria” นำเสนอการวิเคราะห์ระดับสูงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในไนจีเรียแสดงให้เห็นถึงการขาดปัจจัยหลายประการที่จำเป็นในการดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตโดยเฉพาะสภาพวิกฤตพลังงานไฟฟ้าในไนจีเรียทำให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งตามรายงานกล่าวถึงภาคการผลิตมีผลผลิตสูงกว่าภาคเกษตรกรรมมาก และสามารถดูดซับสัดส่วนแรงงานที่มากขึ้นได้ และเพื่อให้การผลิตสามารถแข่งขันได้ ในรายงานกล่าวว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยควรเริ่มต้นและไม่เบี่ยงเบนไปจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศมากเกินไปซึ่งการขาดแคลนไฟฟ้าทำให้ค่าใช้จ่ายทุกอย่างในประเทศไนจีเรียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 นั่นสร้างความเจ็บปวดให้กับการผลิตมากที่สุดโดยบริษัทต่างๆ ประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างเฉียบพลัน นอกจาก ไฟฟ้าดับแล้วยังมีปัญหาคอขวดด้านการขนส่ง อาชญากรรม และการทุจริต ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตอย่างมั่นคงซึ่งทำให้กรณีการดับของไฟฟ้าและความผันผวนของพลังงานกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ดี การที่ไฟฟ้าดับบ่อยทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์เสียหายเป็นเหตุให้บริษัทส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการจ่ายไฟฟ้าด้วยตนเองผ่านการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิตและลดความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่จะรับประกันการจ่ายไฟอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ในรายงานจึงแนะนำให้รัฐบาลควรพิจารณาพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมซึ่งประโยชน์หลักก็คือจะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็เสนอการเข้าถึงวัตถุดิบ แรงงานที่มีทักษะ เทคโนโลยี และวัสดุ โดยคลัสเตอร์ควรตั้งอยู่ในโซนที่เชื่อมต่อกับถนน สายไฟ และโทรคมนาคมเป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าไนจีเรียจะประสบความสำเร็จบ้างกับกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เช่น หมู่บ้านคอมพิวเตอร์ในรัฐโอติกบาและรัฐลากอส กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และอุตสาหกรรมในรัฐเนวิ กลุ่มโรงฟอกหนังในรัฐคาโน และกลุ่มรองเท้า งานเครื่องหนัง และเสื้อผ้าในรัฐอบา อย่างไรก็ดี มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ทำงานเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ การขาดการประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ รวมทั้งการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นระเบียบทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตไนจีเรียกล่าวว่าการขาดแคลนไฟฟ้าของประเทศเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิต โดยสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อปีมูลค่าประมาณ 10.1 ล้านล้านไนร่า หรือประมาณร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไนจีเรีย และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ศาสตราจารย์บาร์ธ นาจิ ยังกล่าวด้วยว่าไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคนต้องการพลังงานมากกว่า 100,000 เมกะวัตต์เพื่อแก้ไขปัญหาไฟฟ้าที่ยังคงมีอยู่ทั่วประเทศโดยที่ปัญหาในภาคส่วนนี้เกิดจากห่วงโซ่คุณค่าอุปทาน โดยเสริมว่าประเทศเผชิญกับความท้าทายในการผลิต การขนส่ง และการกระจายพลังงานซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ไม่สามารถจัดหาแหล่งจ่ายไฟที่เพียงพอให้กับผู้ใช้ได้
อนึ่ง ด้วยน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซินและน้ำมันหล่อลื่นอื่นๆซึ่งใช้ในอุปกรณ์ทดแทนสำหรับธุรกิจและที่อยู่อาศัยนั้นมีราคาสูงขึ้นมาก ส่งผลให้การผลิตลดลง การว่างงานและความยากจนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไนจีเรียประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาซึ่งมีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน ได้รับพลังงานเพียง 4,000 เมกะวัตต์ต่อวัน ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมโยงระหว่างการเข้าถึงไฟฟ้าและความยากจนได้เกิดขึ้นมานานแล้วซึ่งจากการศึกษาของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์พบว่า ผู้คนเกือบหนึ่งพันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไนจีเรีย ถูกจำกัดการเข้าถึงไฟฟ้าและประโยชน์ของเศรษฐกิจยุคใหม่ อาทิ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา จึงส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากยังติดอยู่ในความยากจนหลายมิตินั่นเอง
อ่านข่าวฉบับเต็ม : วิกฤติพลังงานทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ในไนจีเรียเพิ่มขึ้น 40%