หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > วิกฤตอียิปต์ : หนี้สาธารณะสูงขึ้น 4 เท่า สินทรัพย์ลดลง -24.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

วิกฤตอียิปต์ : หนี้สาธารณะสูงขึ้น 4 เท่า สินทรัพย์ลดลง -24.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อียิปต์กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการเร่งหารายได้เข้าประเทศเพื่อชำระหนี้สาธารณะ ซึ่งเพิ่มขึ้นสี่เท่าในช่วงแปดปีที่ผ่านมา เนื่องจากอียิปต์มีการกู้เงินจากภายนอกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ตามแผนภูมิด้านล่าง) อีกทั้งเงินกู้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้อียิปต์ได้ในระยะสั้น เช่น การสร้างเมืองหลวงใหม่ (New Cairo) ราว 58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ราว 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงยาว 2,000 กิโลเมตร ราว 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  รวมทั้งการซื้ออาวุธจำนวนมาก (อันดับ 3 ของประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกในปี 2558 และ 2562) และการพยุงเงินปอนด์อียิปต์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องโดยการดึงสินทรัพย์ต่างประเทศออกไปจากระบบกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลาเพียง 2 ปี จึงทำให้อียิปต์มีสินทรัพย์ต่างประเทศลดลงอยู่ที่ระดับ -24.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตามกราฟด้านล่าง)

แม้ว่ารัฐบาลอียิปต์ยังคงแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ โดยมีแผนจะขายสินทรัพย์รวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 แต่นักวิเคราะห์ยังมีความกังวลว่า อียิปต์จะสามารถเร่งหารายได้เพื่อจัดการกับภาระหนี้สาธารณะของตนในระยะยาวได้ หรือไม่ โดยในปี 2566 เพียงปีเดียว อียิปต์จะครบกำหนดชำระหนี้ระยะสั้น 2.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง และจะครบกำหนดชำระหนี้ระยะสั้นอีก 3.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ระยะยาวอีก 11.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นหลายเท่าตัวของรายได้ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ที่อียิปต์ได้รับจากคลองสุเอซ

ความคิดเห็น/ข้อสังเกต

นอกจากการกู้เงินจากภายนอกตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว อียิปต์ยังเผชิญกับภาวะการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระดับสูง โดยเฉพาะข้าวสาลี ซึ่งอียิปต์เป็นหนึ่งในผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก อาหาร และเชื้อเพลิงพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เงินตราต่างประเทศของอียิปต์ไหลออกนอกประเทศมากขึ้นด้วย โดยหน่วยงานภาครัฐของอียิปต์ได้พยายามเข้าควบคุมการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ (สกุลดอลลาร์สหรัฐ) โดยเฉพาะธนาคารกลางอียิปต์ที่จะต้องพิจารณาอนุมัติให้โอนเงินค่าสินค้านำเข้าสกุลดอลลาร์สหรัฐทุกรายการ ซึ่งบางกรณีอาจใช้เวลานานกว่า 8 เดือน ทำให้มีสินค้าติดอยู่ที่ท่าเป็นเวลานาน และต้องเสียค่า demurrage เพิ่มขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น

ปัจจุบัน แหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญของอียิปต์มาจากการท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียมการขนส่งผ่านคลองสุเอซ และการส่งเงินกลับจากชาวอียิปต์ที่ทำงานในต่างประเทศ แม้ว่าจะรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น ด้วยการรณรงค์ให้จ่ายค่าบัตรเข้าชมโบราณสถานโดยการโอนเข้าบัญชี และการเพิ่มค่าผ่านคลองสุเอซ แต่ยอดการส่งเงินกลับบ้านกลับลดลง เนื่องจากชาวอียิปต์ที่ทำงานต่างประเทศหันไปส่งเงินผ่านตลาดนอกระบบ เนื่องจากมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดูงดูดมากกว่า โดยอัตราแลกเปลี่ยนทางการอยู่ที่ 31 ปอนด์อียิปต์ ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดนอกระบบอาจสูงถึง 39 ปอนด์อียิปต์ ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เงินสกุลต่างประเทศไหลออกนอกระบบ เกิดการเก็งกำไรในค่าเงิน กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการชำระเงินระหว่างประเทศของอียิปต์ยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อียิปต์ยังเผชิญกับการชะลอตัวของการลงทุนโดยต่างจากต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังไม่มีความเชื่อมั่นในอียิปต์มากพอ อีกทั้งยังคงติดตามเฝ้าดูว่าอียิปต์จะดำเนินการทุกอย่างได้ตามที่สัญญาไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อแลกกับเงินกู้ก้อนล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หรือไม่ โดยอียิปต์จะต้องดำเนินการสำคัญ คือ ปฏิรูปโครงสร้างทั้งระบบ ลอยตัวเงินปอนด์อียิปต์ให้เป็นไปตามกลไกตลาด (ระบบค่าเงินยืดหยุ่น) และปล่อยให้เอกชนมาดำเนินการมากขึ้น (privatization) ซึ่งเรื่องสำคัญที่อียิปต์ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ การลอยตัวเงินปอนด์อียิปต์ ซึ่งไม่มีการเคลื่อนไหวมากว่า 3 เดือน แล้ว

——————————————–

https://www.reuters.com/world/africa/egypt-faces-external-debt-reckoning-after-borrowing-spree-2023-06-06/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login