เอกวาดอร์ประสบกับวิกฤตพลังงานร้ายแรงที่สุดในรอบ 61 ปี สาเหตุปัญหาหลักจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง
สถานการณ์ภัยแล้งในเอกวาดอร์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความแห้งแล้งทำให้เกิดไฟป่าครอบคลุมหลายพื้นที่ในจังหวัดโลจาติดกับเขตแดนประเทศเปรู ซึ่งไฟป่าทำลายพื้นที่ขนาดประมาณ 37,000 เฮกตาร์ หรือ 231,250 ไร่ ส่งผลกระทบให้ประชากรใน 9 จังหวัดที่ประสบไฟป่าขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค รวมถึงการขาดแคลนน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งนี้ ภัยแล้งดังกล่าวมีความรุนแรงที่สุดตั้งแต่เอกวาดอร์เคยประสบมา
ไฟฟ้าของเอกวาดอร์กว่าร้อยละ 77 ผลิตจากพลังงานน้ำ โดยการขาดแคลนน้ำทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจลดการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อสำรองปริมาณน้ำให้เพียงพอและบรรเทาการขาดแคลนพลังงงานในวงกว้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2567 รัฐบาลเอกวาดอร์ ดำเนินการระงับบริการไฟฟ้าเป็นเวลา 9 ชั่วโมง (ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) เป็นเวลา 1 วัน ใน 12 จังหวัด จาก 24 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลเอกวาดอร์ยังกำหนดให้งดใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัยและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เนื่องจากปริมาณน้ำสำรองในประเทศมีระดับต่ำมาก โดยพื้นที่จำนวน 19 จังหวัดของเอกวาดอร์ขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้า และอาหาร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง
แนวทางการบรรเทาปัญหาดังกล่าวทางหนึ่ง คือ การเช่าโรงไฟฟ้าลอยน้ำที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ จากบริษัท Karpowership ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการพลังงานจากประเทศตุรกี โดยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น พื้นที่ผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเอกวาดอร์ และเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ Mazar สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 170 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่ดังกล่าวประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งเช่นกัน และไม่มีฝนตกต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 70 วันแล้ว ทำให้ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนลดลงจนถึงวิกฤต และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้[1]
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของโคลอมเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่สนับสนุนพลังงานให้เอกวาดอร์ ได้ระงับการส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังเอกวาดอร์ เนื่องจากโคลอมเบียประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นกัน และจำเป็นต้องสงวนพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งโคลอมเบียคาดว่าจะระงับการส่งออกหลังงานไฟฟ้าไปเอกวาดอร์จนถึงเดือนกรกฎาคม 2568[1] ส่งผลให้รัฐบาลเอกวาดอร์จำเป็นต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินสำหรับการใช้ไฟฟ้าในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเอกวาดอร์ประกาศการขยายเวลาระงับใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไป เป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า โดยรัฐบาลได้จัดทำข้อมูลตารางการปิด/เปิดไฟฟ้าในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละเมืองผ่านลิงค์/เว็บไซต์กระทรวงพลังงานและบริษัทผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า[2]
นโยบายด้านพลังงานของเอกวาดอร์
รัฐธรรมนูญของเอวาดอร์ ปี 2551 กำหนดให้ไฟฟ้าอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ทั้งนี้ การพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงงานน้ำเป็นหลัก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง ในช่วงการรับตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ (นาย Daniel Noboa) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ได้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วถึง 4 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยลดการพึ่งพาพลังงานน้ำ และใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประธานธิบดีฯ ได้ขอให้สภาสูงเพิ่มเพดานการลงทุน 10 เท่า สำหรับการผลิตไฟฟ้า (ปัจุบันอยูที่ 10 เมกะวัตต์) และยกเลิกภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเอกวาดอร์มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามครัวเรือนต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30
สถานการณ์ด้านพลังงานในลาตินอเมริกา
หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกเหนือจากเอกวาดอร์ ก็ประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เช่น โคลอมเบียประสบปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ คิวบาประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและเขื่อนกักเก็บน้ำที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้าได้ บราซิลประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนลดลงอย่างมาก โบลิเวียงดการส่งออกพลังงานไปอาร์เจนตินาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 875 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าและก๊าซได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ[3]
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
สถานการณ์ภัยแล้งและวิกฤตพลังงานเป็นปัจจัยปัญหาที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจของเอกวาดอร์ที่อยู่ในสภาพเปราะบางให้อ่อนแอเพิ่มขึ้น การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถดำเนินได้อย่างปกติ ตามที่ธนาคารกลางของเอกวาดอร์ได้ประมาณการการเติบโตของ GDP ของเอกวาดอร์ ในปี 2567 นี้ จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 นั้น อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและวิกฤตพลังงาน โดยปัญหาดังกล่าวกดดันให้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Daniel Noboa ต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างโอกาสการเข้าช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2568[1]
ข้อมูลจากหอการค้า Guayaquil ของเอกวาดอร์ พบว่า ภาคธุรกิจนาดกลางและขนาดเล็กสูญเสียรายได้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐในทุกชั่วโมงที่ไม่การใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเอกวาดอร์ พบว่า จำนวนการจดทะเบียนประกาศเลิกจ้างงานมีจำนวนถึง 3,647 คำร้อง เฉพาะในเดือนกันยายน 2567 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของภาคธุรกิจที่จดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งการจดทะเบียนเลิกดังกล่าวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม และการพาณิชย์[2]
สถานการณ์ภัยแล้งและวิกฤตพลังงานของเอกวาดอร์ส่งผลกระทบถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าของประเทศ
- การนำเข้าสินค้าของเอกวาดอร์ เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ หรือต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ เช่น อาหาร ยา การขาดแคลนพลังงานภายในประเทศอาจส่งผลกระทบให้ความต้องการนำเข้าสินค้าโดยรวมลดลง ภาคธุรกิจอาจต้องลดคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อการผลิต เช่น เครื่องจักร และวัตถุดิบ ในขณะที่ ความต้องการนำเข้าของเอกวาดอร์อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล แผงและกังหันลม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตและการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรของเอกวาดอร์ลดลง โดยเฉพาะผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และส่งผลให้เอกวาดอร์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทางเกษตรหลายรายการเพิ่มขึ้น
- การส่งออกสินค้าของเอกวาดอร์ การขาดแคลนพลังงาน ส่งผลกระทบให้การผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ของเอกวาดอร์ต้องหยุดชะงัก ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานเพิ่มขึ้น จากการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันของเอกวาดอร์ที่ลดลงในตลาดต่างประเทศ
ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจะมีโอกาสเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นในเอกวาดอร์ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวางแผนการแก้ไขและป้องกันปัญหาในระยะยาว นอกจากนี้ ภาคการเกษตรกรรมของเอกวาดอร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกและมีการสำรวจพืชพันธุ์ทางเลือกที่ใช้พลังงานและทรัพยากรน้ำที่น้อยลง
แม้ว่าปริมาณการรค้าระหว่างไทยและเอกวาดอร์จะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่มีแนวโน้มมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมการค้าของไทยและเอกวาดอร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) เอกวาดอร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 82 ของไทย และคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา การค้าระหว่างไทยและเอกวาดอร์มีมูลค่ารวม 110.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.25 ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังเอกวาดอร์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ข้าวโพด เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนสินค้า และราคาสินค้าภายในประเทศที่สูงขึ้นอันเนื่องจากการหยุดชะงักในภาคการผลิต และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เอกวาดอร์จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าหลายรายการจากต่างประเทศ เช่น สินค้าเกษตรกรรม สินค้าอาหารแปรรูป ซึ่งถือเป็นโอกาสในการการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังเอกวาดอร์ รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกับเอกวาดอร์
____________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤศจิกายน 2567
[1] https://www.larepublica.co/globoeconomia/ecuador-se-queda-a-oscuras-en-una-crisis-electrica-que-castiga-la-economia-3975195
[2] https://elpais.com/america/2024-10-20/la-pelea-diaria-por-sobrevivir-a-oscuras-en-ecuador.html
[1] A multinational news channel and website – https://cnnespanol.cnn.com/2024/10/01/colombia-energia-electrica-ecuador-orix#:~:text=(CNN)%20%E2%80%93%20El%20ministerio%20de,generada%20por%20medio%20de%20termoel%C3%A9ctricas
[2] Ecuadorean newspaper – https://www.expreso.ec/actualidad/cortes-luz-ecuador-puedes-ver-horario-sector-178571.html#:~:text=Tras%20varios%20d%C3%ADas%20de%20iniciada,energ%C3%A9tica%20que%20atraviesa%20el%20pa%C3%ADs.
A multinational news channel and website – https://cnnespanol.cnn.com/2024/10/09/extienden-apagones-10-horas-ecuador-situacion-energetica-orix
Colombian newspaper – https://www.larepublica.co/globoeconomia/ecuador-se-queda-a-oscuras-en-una-crisis-electrica-que-castiga-la-economia-3975195
[3] https://www.biobiochile.cl/noticias/economia/actualidad-economica/2024/10/24/como-una-capitalista-pragmatica-kamala-harris-busca-ganar-el-voto-latino-a-dias-de-las-elecciones.shtml
[1] Chilean newspaper – https://www.latercera.com/mundo/noticia/ecuador-suspende-el-servicio-electrico-en-12-provincias-por-sequia/NST7TOJU5JF4TMU7N6UB5NJZLY/#
Mexican newspaper – https://www.jornada.com.mx/noticia/2024/09/22/mundo/ecuador-raciona-energia-en-12-de-sus-provincias-por-sequia-4966
An international news agency – https://www.reuters.com/world/americas/ecuador-cuts-power-half-its-provinces-amid-historic-drought-2024-09-22/#:~:text=QUITO%2C%20Sept%2022%20(Reuters),water%20levels%20of%20hydroelectric%20plants.
อ่านข่าวฉบับเต็ม : วิกฤตพลังงานในเอกวาดอร์