📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมกราคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
การโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์โดยกลุ่มกองกำลังฮูตีในเยเมนในทะเลแดง ส่งผลกระทบและความตึงเครียดอย่างมากต่อการค้าผ่านคลองสุเอซ ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 นาย Jan Hoffmann ผู้อำนวยการฝ่ายการอำนวยความสะดวกทางการค้าของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ยังไม่คลี่คลายลง ส่งผลให้ปริมาณสินค้าขนส่งผ่านคลองสุเอซลดลงถึง 42% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ทั้งยังรวมถึง ความหนาแน่นของเรือบรรทุกสินค้าซึ่งแล่นผ่านคลองสุเอซลดลง 67% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในคลองสุเอซ จะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารทั่วโลกอีกด้วย
ปัจจุบัน คลองสุเอซเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทางการค้าที่สำคัญและคับคั่งที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นช่องทางลัด ย่นระยะทางในการเดินเรือระหว่างเอเชียกับยุโรป เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง สินค้าทั้งหมดของโลกประมาณ 12% ขนส่งผ่านคลองสุเอซ โดยเฉพาะเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น จากเหตุความขัดแย้งนี้ ทำให้บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าทั่วโลกต้องระงับการเดินเรือในเส้นทางทะเลแดง และเปลี่ยนไปเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้แทน ซึ่งใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนานขึ้นอย่างน้อย 15-20 วัน นอกจากนี้ สภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัด มีลมพัดแรง และน้ำในทะเลจับตัวเป็นน้ำแข็ง กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่เคยส่งผ่านที่ท่าเรือในยุโรปเหนือ จากเหตุการณ์ทั้งหมด ไม่น่าแปลกใจที่ทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าต้องชำระค่าระวางเรือและค่าธรรมเนียมกรณีฉุกเฉินเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางเรือจากทวีปเอเชียมายังประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง รวมทั้งฮังการี จะขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซ เข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วบริษัทเรือหรือตัวแทนสายเดินเรือสามารถเดินทางไปเข้าท่าเรือต่างๆ เมื่อเรือขนส่งเทียบท่า ถ่ายสินค้าลงและผ่านพิธีการศุลกากรเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้ขนส่งก็จะขนส่งสินค้าต่อไปทางบก คือ ใช้รถบรรทุกหรือรถไฟบรรทุกสินค้าไปถึงประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางต่อไป
ท่าเรือสำคัญที่ผู้ส่งออกสินค้าที่จะส่งออกไปยังยุโรปกลางนิยมใช้ ได้แก่
– ทะเลอาเดรียติก: ท่าเรือโคเปอร์ ประเทศสโลวีเนีย และท่าเรือเมืองริเยก้า ประเทศโครเอเชีย
– ทะเลอีเจียน: ท่าเรือเมืองพิเรอุส ประเทศกรีซ
– ทะเลลิกูเรียน: ท่าเรือเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี
– ทะเลเหนือ: ท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และท่าเรือเมืองแอนทเวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม
– ทะเลบอลติก: ท่าเรือเมืองฮัมบูร์ก และท่าเรือเมืองเบรเมอร์ฮาเฟิน ประเทศเยอรมนี
รูปภาพที่ 1: ที่ตั้งท่าเรือขนถ่ายสินค้าในทวีปยุโรป
ที่มาของข้อมูล: สำนักงานสถิติ คณะกรรมาธิการยุโรป (Eurostat)
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่งผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น
ร้านค้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มและของใช้ในบ้าน Pepco ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่โปแลนด์ และมีหน้าร้านสาขาในหลายประเทศในยุโรป รวมถึงฮังการี เปิดเผยว่า แม้ว่า ณ ปัจจุบัน จะยังมีสินค้าเพียงแค่บางรายการที่ขาดสต็อก อย่างไรก็ดี หากวิกฤตในทะเลแดงยังคงยืดเยื้อ คาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสินค้าส่วนมากนำเข้าจากจีน และอาจจะต้องปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ
ส่วนสินค้าอาหารนั้น บริษัท CBA Kereskedelmi Kft. ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก CBA และ Príma ซึ่งมีหน้าร้านสาขากว่า 1,100 แห่งทั่วประเทศฮังการี ระบุว่าสินค้าราว 80% ของบริษัทฯ เป็นสินค้าที่ผลิตในฮังการี จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดสต็อกสินค้า สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของผู้แทน Hungarian National Trade Association ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในฮังการีไม่ต้องตื่นตระหนก สมาคมฯ เชื่อว่าสินค้าส่วนใหญ่จะไม่ขาดแคลน เนื่องจากผู้ผลิตนอกทวีปยุโรปยังคงสามารถส่งสินค้าทางเส้นทางอื่นๆ ได้ เช่น เส้นทาง Trans-Caspian Corridor เชื่อมจีนกับภูมิภาคยุโรปตะวันออก ตัดผ่านภูมิภาคเอเชียกลาง คอเคซัสใต้ และตุรกี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI (Belt and Road Initiative) จีน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ขนส่งต่างๆ ต้องติดตามสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบ
รูปภาพที่ 2 และ 3: เส้นทาง Trans-Caspian Corridor หรือ Middle Corridor
ที่มาของข้อมูล: Baku Research Institute และ Common Space
ผลกระทบทางลบก็มีให้เห็นอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ บริษัท Magyar Suzuki Zrt. ซึ่งมีที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ยี่ห้อ Suzuki ณ เมือง Esztergom ทางตอนเหนือของประเทศฮังการี ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวระหว่างวันที่ 15-22 มกราคม 2567 เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่น Vitara และ S-Cross ที่ขนส่งจากญี่ปุ่นมาถึงโรงงานไม่ทัน อันเป็นผลมาจากวิกฤตในทะเลแดง
ด้านกลุ่มบริษัท Stellantis ซึ่งมีที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ยี่ห้อ Opel ณ เมือง Szentgotthárd ทางตะวันตกของประเทศฮังการี ระบุว่าบริษัทฯ เลือกใช้ช่องทางการขนส่งวัตถุดิบทางอากาศเป็นการชั่วคราว ดังนั้น วิกฤตในทะเลแดง จึงยังไม่กระทบกับการผลิตรถยนต์ของบริษัท เช่นเดียวกับ กลุ่มบริษัท Mercedes-Benz Group AG ซึ่งมีที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และประกอบรถยนต์ยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น A-Class, CLA และ EQB ณ เมือง Kecskemét ทางตอนกลางของประเทศฮังการี เปิดเผยว่า โรงงานฯ กลับมาเดินเครื่องการผลิตตามปกติในเดือนมกราคม 2567 หลังจากวันหยุดยาวช่วงปลายปี ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กระบวนการผลิตยังเป็นปกติ มีสต็อกสินค้าและวัตถุดิบเพียงพอ สามารถจัดส่งสินค้าได้ตามกำหนดเดิม
ทั้งนี้ ฮังการีเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปยุโรป อุตสาหกรรมยานยนต์ของฮังการีเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการผลิตราว 2.62 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนราว 3.9% ของ GDP
💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭
การก่อเหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงโดยกลุ่มกองกำลังฮูตีในเยเมน ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการค้าโลก ทั้งนี้และทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการขนส่งของแต่ละสินค้า แต่สำหรับประเทศฮังการีและประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง ก็ได้รับผลกระทบในบางกลุ่มสินค้า สินค้าที่ต้องขนส่งผ่านคลองสุเอซ ก็ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น รวมทั้ง สินค้าและวัตถุดิบการผลิตบางประการที่ต้องส่งออกจากทวีปเอเชียอาจขาดแคลนชั่วคราวได้
ในระยะสั้น ผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่ส่งออกสินค้ามายังฮังการี อาจประสบปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นและความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า โดยหากต้องการขนส่งสินค้าโดยเร็ว อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางอากาศหรือระบบราง ซึ่งส่งผลต่อราคาต้นทุนการขนส่งอย่างแน่นอน และทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดยุโรปน้อยลง
ในระยะยาว หลายฝ่ายคาดว่าวิกฤตครั้งนี้อาจไม่คลี่คลายลงโดยเร็ว เนื่องจากชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาโจมตีกลุ่มฮูตีในเยเมน ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งบานปลายสู่ระดับภูมิภาค หากเส้นทางคลองสุเอซใช้ไม่ได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน บริษัทขนส่งต้องขนส่งอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ ซึ่งจะกระทบต่อระยะเวลาขนส่ง และต้นทุนในการขนส่งแน่นอน
เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการขนส่งในทะเลแดง ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาเจรจากับบริษัทขนส่งที่หลากหลาย เพื่อสำรวจเส้นทางขนส่งอื่นๆ ทั้งทางบกและระบบราง เช่น เส้นทาง Trans-Caspian Corridor ที่เชื่อมกับเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล
-
- https://hirtv.hu/hirtv_gazdasagi_hirei/nincs-aruhiany-gyorsan-alkalmazkodnak-a-gyartok-a-voros-tengeri-feszultseghez-video-2579217
- https://trademagazin.hu/hu/mlszksz-20-25-szazalekkal-dragulhat-az-aruszallitas-es-a-raktarozas-2024-ben/
- https://unctad.org/news/red-sea-black-sea-and-panama-canal-unctad-raises-alarm-global-trade-disruptions
- https://www.portfolio.hu/uzlet/20240116/bajba-kerult-a-voros-tengeri-esemenyek-miatt-a-magyar-autoipar-megszolaltak-a-hazai-gyartok-663185
- https://www.vg.hu/penz-es-tokepiac/2024/01/figyelmeztetest-adott-ki-a-pepco-akadozhat-az-elatas-ha-fokozodik-a-valsag-a-voros-tengeren
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มกราคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : วิกฤตทะเลแดงส่งผลต่อการขนส่งสินค้าทั่วโลก รวมทั้งฮังการี ผู้ประกอบการเตรียมปรับตัว