ท่ามกลางแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง บริษัท Domain (บริษัท Real Estate agent) คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ราคาที่อยู่อาศัยในนครซิดนีย์จะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9 (ราคากลางเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.66 ล้านเหรียญออสเตรเลียซึ่งสูงกว่าราคากลางในเดือนมีนาคม 2565 ที่ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 1.59 ล้านเหรียญออสเตรเลีย) โดยได้รับอิทธิพลจากความต้องการของตลาดที่พักอาศัยที่มีจำนวนมากจากแนวโน้มจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น (รวมถึงการอนุมัติวีซ่าชั่วคราวและถาวรเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงานทักษะในประเทศ) ท่ามกลางสถานการณ์การก่อสร้างที่พักอาศัยใหม่ในประเทศที่ชะลอตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ การหยุดชะงักของแหล่ง Supply จากต่างประเทศและปัญหาต้นทุนในการก่อสร้างสูง มีผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งจะเป็นกลไกกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ออสเตรเลียให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ดีในปี 2567
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของราคาที่พักอาศัยในปัจจุบันได้สร้างผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในออสเตรเลียที่กำลังเผชิญกับความกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัย (ทั้งราคาซื้อและค่าเช่า) ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการที่มีมากกว่าจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาด มีผลให้ครัวเรือนที่มีรายต่ำถึงปานกลางใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพมากขึ้น เน้นการซื้อสินค้า Private label และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีราคาสูง (เนื้อสัตว์/ผัก/ผลไม้สด) โดยเปลี่ยนมาซื้อสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งมากขึ้น สินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตปัจจุบันที่ผู้บริโภคหยุดการบริโภคลงชั่วคราวเนื่องจากมีราคาสูงได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบ เนื้อวัว สตรอว์เบอร์รี และผลิตภัณฑ์อาหารเช้า (Cereals และ Muesli) โดย Aldi กลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับความนิยมด้านความคุ้มค่ามากที่สุด สำหรับสินค้าเบเกอรี่ เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสด ในขณะที่ Harris Farm ได้รับความนิยมสำหรับสินค้านมและเนย, ผักและผลไม้สดเนื่องจากมีโครงการ Imperfect Fruits จำหน่ายผลไม้ไม่ได้ขนาดแต่คุณภาพดีในราคาถูก (ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า Groceries ของชาวออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 เหรียญออสเตรเลียต่อสัปดาห์) รวมถึงลดการรับประทานอาหารนอกบ้านลง (อาหารเช้า/อาหารเย็นและผับ) เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและไม่จำเป็น (ผลสำรวจโดย Finder survey)
นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนจะได้รับความกดดันด้านที่พักอาศัยแล้ว ภาคธุรกิจออสเตรเลียโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เริ่มประสบปัญหาต้นทุนการผลิตและให้บริการมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน (จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง ค่าเช่า เป็นต้น) จึงทำให้ที่ผ่านมาภาคธุรกิจต่างๆ ปรับแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อความอยู่รอดโดยการเพิ่มราคาสินค้าและบริการ (ผลักภาระไปยังผู้บริโภค) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลของการขึ้นราคาดังกล่าวทำให้ลูกค้าลดลง หรือเข้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการในความถี่ที่ลดลง ซึ่งทำให้รายได้ของภาคธุรกิจลดลงจนเกิดภาวะขาดทุนและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้จนต้องปิดกิจการไปในที่สุดเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนต่างๆ ได้
โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 (เริ่มปีงบประมาณใหม่ของออสเตรเลีย) โครงการเยียวยาสำหรับประชาชนที่เผชิญวิกฤตค่าครองชีพสูงของรัฐบาลออสเตรเลีย จะเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในออสเตรเลียจำนวนมากที่กำลังประสบความยากลำบาก ได้แก่ การขยายสิทธิ์โครงการประกันบ้านหลังแรก การเพิ่มเงินเดือนคนทำงานดูแลผู้สูงวัย มาตรการเยียวยาราคาพลังงาน และการบริการดูแลเด็กเล็กที่ราคาถูกลง และเงินช่วยลางานเลี้ยงดูบุตร ซึ่งรัฐมนตรีการคลังออสเตรเลีย (นายจิม ชาลเมอส์) ให้ความเห็นว่า มาตรการเยียวดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อได้โดยตรง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ/สภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
………………………………………………………………………….
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครซิดนีย์
Australian Financial Review
www.abc.net.au
www.sbs.com.au
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)