หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > วอน EU รับรองคาร์บอนเครดิต อินเดียเร่งพิจารณาหาทางรับมือภาษีสิ่งแวดล้อม

วอน EU รับรองคาร์บอนเครดิต อินเดียเร่งพิจารณาหาทางรับมือภาษีสิ่งแวดล้อม

อินเดียเตรียมนำระบบซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่กระทรวงพลังงานของอินเดียได้พัฒนาขึ้นไปเสนอให้สหภาพยุโรป (EU) เพื่อพิจารณารับรอง หาก EU ให้การยอมรับว่าตลาดคาร์บอนเครดิตของอินเดียเป็นไปอย่างโปร่งใสตามมาตรฐานสากล ผู้ส่งออกอินเดียที่ส่งสินค้าไป EU จะสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิตรายอื่นได้ แล้วนำไปใช้หักกับปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ตนเองปล่อย เพื่อให้ปริมาณคาร์บอนของตนลดลงเพียงพอที่จะไม่ถูก EU เรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมคาร์บอนหรือเสียในอัตราที่ต่ำลง มิฉะนั้น ผู้นำเข้า EU ที่ซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกอินเดียที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสูง ส่งผลต่อราคาขายของสินค้าในตลาด EU ที่จะสูงตามไปด้วย และทำให้แข่งขันในตลาดได้ยากขึ้นตามลำดับ

อินเดียตระหนักในผลกระทบที่จะเกิดกับการส่งออกไปยัง EU แม้ว่าในระยะแรก EU จะบังคับใช้กับสินค้านำร่องเพียง 7 กลุ่มที่มักมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมากก่อนเท่านั้น (อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม ปูนซิเมนต์ และ ปุ๋ย) โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินเดียและ EU ได้ร่วมกันตั้งเวทีการหารือที่เรียกว่า Trade and Technology Council (TTC) โดยจะมีการประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ ระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นการพิจารณารับรองตลาดคาร์บอน (Carbon Credit Trading Scheme: CCTS) ข้างต้นแล้ว อินเดียจะเสนอให้ EU พิจารณายกเว้นการใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผู้ส่งออกอินเดียที่เป็นรายเล็กและรายย่อมด้วย ซึ่งอินเดียเตรียมที่จะเจรจาสองประเด็นนี้กับคู่ค้าอื่นๆ ที่จะออกมาตรการสิ่งแวดล้อมในลักษณะเดียวกัน อาทิ UK, US, Canada และ Australia โดยในขณะนี้ อินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าสำคัญเหล่านี้ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนกันปรับลดอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้สินค้าจากอินเดียมีต้นทุนที่ลดลง เพื่อช่วยชดเชยกับแรงกดดันที่ต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม

ในขณะเดียวกัน อินเดียกำลังเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้แก่ผู้ส่งออกทราบ รวมถึงสูตรการคำนวณค่าธรรมเนียมที่คู่ค้า/ผู้นำเข้าใน EU ต้องเสีย และแนวทางการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำมาเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนของ EU นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือให้ภาคเอกชนยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมในระบบการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ แก้ว กระดาษ ยิปซัม เซรามิค และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ที่จะเป็นเป้าหมายของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยประเทศคู่ค้าในลำดับถัดไป รวมถึง MSMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตในระดับต้นน้ำและกลางน้ำด้วย

มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนของ EU นี้อยู่ภายใต้นโยบาย European Green Deal ที่ตั้งเป้าหมายจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 โดยเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซฯ เมื่อปี 1990 ซึ่งบริษัทผู้ผลิตใน EU ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือภาษีอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซที่มากเกินกำหนด ในขณะที่ บริษัทใน EU ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศยังไม่ต้องรับภาระดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมและเป็นที่มาให้มีการเรียกเก็บจากผู้นำเข้าเช่นเดียวกันด้วย หรือที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM / มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าข้ามพรมแดน) โดยจะมีการเก็บภาษีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดช่วงระยะเปลี่ยนผ่านไว้ระหว่างวันที่1 ตุลาคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคสูงกว่า 150 ยูโร จะต้องมีเอกสารรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งการปล่อยก๊าซในทางตรงและทางอ้อมส่งให้กับคู่ค้าของตนใน EU เป็นรายไตรมาส (CBAM Declaration) เพื่อสำแดงว่าสินค้าที่ส่งมาขายใน EU ในแต่ละล็อตนั้น มีส่วนในการปล่อยก๊าซมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต (Embedded Emission) โดยในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ จะยังไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ผู้นำเข้าใน EU จะสามารถคาดคะเนได้ว่าตนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนประมาณเท่าไหร่เมื่อมีการบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ซึ่งผู้นำเข้าจะถูกลงโทษโดยการปรับ หากไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอนและนำหลักฐานการชำระเงิน (CBAM Certification) ไปยื่นแสดงต่อหน่วยงานของ EU ตามเวลาที่กำหนด

ที่มา www.mercomindia.com  พฤษภาคม 2566

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น

อินเดียเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย โดยในปี 2565 อินเดียมีการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปยัง EU เป็นมูลค่า 5.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกอลูมิเนียมไป EU เป็นมูลค่า 2.22 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากภาครัฐและภาคเอกชนของอินเดียสามารถปรับตัวได้ก็จะได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นรวมถึงไทย อย่างไรก็ดี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาระบบและเครื่องมือการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตแล้ว รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสากลด้วย จึงคาดว่าผู้ส่งออกไทยที่ยังไม่ได้ปรับระบบการผลิตให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซได้มากเพียงพอ จะสามารถซื้อเครดิตจากบริษัทอื่นในไทยเพื่อนำไปใช้ในการหักลบกับปริมาณการปล่อยก๊าซของตนไปก่อนได้

ในขณะเดียวกัน การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนกำลังกลายเป็นสินค้าใหม่ที่สามารถขายและส่งออกได้ โดยในประเทศไทยมีราคาประมาณตันละ 3,000 – 4,000 บาท ผู้ผลิตรายใดที่มีแผนจะทำโครงการลดการปล่อยก๊าซ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) สามารถลงทะเบียนและรับการประเมินการลดการปล่อยก๊าซได้ แล้วนำปริมาณก๊าซที่ลดได้ไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ในขณะที่ ผู้ส่งออกก็สามารถใช้คาร์บอนเครดิตที่ซื้อไปนี้ เป็นส่วนลดเพื่อให้ปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมของตนลดลง และช่วยให้คู่ค้าในประเทศปลายทางสามารถเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคาและความสามารถในการแข่งขันในตลาดนั้นๆ ไว้ได้ต่อไป

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login