ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคชาวจีนพัฒนาขึ้น ส่งผลต่อทัศนคติในการเลือกรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป จากที่ให้ความสนใจแค่ “กินให้อิ่ม” เปลี่ยนเป็นเน้น “กินให้ดี” เป็นหลัก ดังนั้น ผู้บริโภคจีนในปัจจุบันจึงหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรที่สดใหม่ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม นอกจาก ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ไก่ หรือนม ที่ต้องการความสดใหม่แล้วนั้น ผู้บริโภคชาวจีนยังให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของ “ข้าว” อีกด้วย
คำว่า “ข้าวใหม่” หมายถึง ข้าวที่เพิ่งจะถูกเก็บเกี่ยวในปีนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยว จะผ่านกระบวนการตากแดด กะเทาะเปลือก และขัดสีเพื่อให้ออกมาเป็นข้าวสาร โดยข้าวใหม่ที่เพิ่งวางขายในตลาดมีจุดเด่นที่กลิ่น การใช้ข้าวใหม่หุงเป็นข้าวสวยที่มีกลิ่นหอมอบอวล เม็ดข้าวมีความสวยใส แน่น และเหนียวนุ่ม ซึ่งผู้บริโภคสามารถรับรสสัมผัสของข้าวใหม่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีความแตกต่างจากข้าวเก่าที่ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ข้าวใหม่จึงกำลังได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จีนบางพื้นที่จะมีประเพณีกินข้าวใหม่ เพื่อขอให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันจีนจะเป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลก และสามารถตอบสนองต่อความของตลาดภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการบริโภคข้าวคุณภาพสูงของผู้บริโภคชาวจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จีนจึงมีความต้องการนำเข้าข้าวคุณภาพดีจากไทยเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ตามข้อมูลสถิติของศุลกากรจีน ระบุว่าปัจจุบัน พม่า เวียดนาม ไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวหลักของจีน ในปี 2565 จีนมีการนำเข้าข้าวอยู่ที่ 6.194 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยนำเข้าจากไทย 767,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12.39 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมด ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2566 จีนมีการนำเข้าข้าวปริมาณ 2.27 ล้านตัน ด้วยมูลค่าการนำเข้า 1.209 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวของไทยจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมของแต่ละปี ทำให้ราคาข้าวมักจะสูงขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี เนื่องจากปริมาณข้าวในตลาดมีน้อยลง และช่วงเวลาการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป
เมื่อนำข้อมูลการส่งออกข้าวของไทย และข้อมูลการนำเข้าข้าวของจีนตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มาเปรียบเทียบกัน พบว่า การนำเข้าข้าวของจีนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตและการส่งออกข้าวใหม่ของไทย สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พื้นที่ของจีนที่มีการนำเข้าข้าว 10 อันดับแรก ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง กรุงปักกิ่ง มณฑลยูนนาน มณฑลฝูเจี้ยน นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอานฮุย มณฑลเจียงซี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และมณฑลเหอหนาน ตามลำดับ
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
ปัจจุบัน ข้าวใหม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคเพศหญิงในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง จากสถิติจากแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ T-Mall / Taobao พบว่า ยอดการจำหน่ายข้าวใหม่มีสัดส่วนสูงกว่าการจำหน่ายข้าวขาวทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยยอดจำหน่ายข้าวใหม่ระดับพรีเมี่ยมมีราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 10-30 หยวนต่อกิโลกรัม
ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อข้าวจากตลาดสดหรือซูเปอร์มาเก็ตเป็นช่องทางหลัก แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมานิยมสั่งซื้อข้าวผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก ประหยัดเวลาเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย ในขณะเดียวกัน คนจีนที่พำนักคนเดียวมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าวที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก (2.5 กิโลกรัม) ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาและติดตามพฤติกรรม รวมถึงแนวโน้มความต้องการผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพื่อสามารถตอบสนองต่อความต้องการและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
————————————————–
แหล่งข้อมูล :
https://finance.sina.com.cn/money/future/agri/2023-11-25/doc-imzvuzsr5938590.shtml
https://www.sohu.com/a/537952184_121117085
https://mp.weixin.qq.com/s/Gj7TaIUr2xEclxBnBtvHnQ
https://kepu.gmw.cn/agri/2021-09/13/content_35160430.htm
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ฤดูกาลนำเข้าข้าวไทยมายังตลาดจีน