หน้าแรกTrade insightการลงทุนระหว่างประเทศ > รายได้ปรับไม่ทันเงินเฟ้อ ผู้บริโภคเช็กยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

รายได้ปรับไม่ทันเงินเฟ้อ ผู้บริโภคเช็กยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

สำนักงานสถิติแห่งชาติสาธารณรัฐเช็กรายงานราคาสินค้าและบริการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565  พบว่าราคาสินค้ามีอัตราการเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าอัตราค่าจ้าง  โดยอัตราค่าจ้างปรับเพิ่มร้อยละ 2.2 ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยในสาธารณรัฐเช็กในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 หรือเท่ากับ 41,265 เช็กคราวน์ เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพบว่าอัตราค่าจ้างจะลดลงร้อยละ 6.7   

การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริงของผู้บริโภคซึ่งขึ้นอยู่กับราคาของสินค้า  พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 16.4 ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุด  สำหรับอัตราเงินเดือนในกรุงปราก เฉลี่ยอยู่ที่ 52,814 เช็กคราวน์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2  จากช่วงเดียวกันของปี2565 ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งหมายความว่าค่าจ้างของประชาชนในกรุงปรากปรับลดลงมากกว่าค่าจ้างเฉลี่ยของทั้งประเทศ ค่าจ้างเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่เมืองคาร์โลวี วารี อยู่ที่ 35,010 เช็กคราวน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยที่ปรับขึ้นสูงสุดอยู่ในภูมิภาคโบฮีเมียใต้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 อยู่ที่ 37,351 เช็กคราวน์

นักวิเคราะห์ จาก Cyrrs ระบุว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่แท้จริงในปัจจุบันสูงกว่าระดับค่าจ้างเฉลี่ยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกำลังซื้อของผู้บริโภคได้กลับไปอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ  Pavel Sobíšek นักวิเคราะห์ของธนาคาร UniCredit ระบุว่า สาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศในสหภาพยุโรปที่มีกำลังซื้อลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2562  อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในสาธารณรัฐเช็ก  การแข็งค่าของเงินสกุลต่าง ๆ และนโยบายการให้เงินชดเชยสำหรับการปรับอัตราค่าจ้างตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563

Jakub Seidler นักเศรษฐศาสตร์จากสมาคมธนาคารเช็กระบุว่า การเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง จะตามไม่ทันการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า  โดยราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าจ้างในปีหน้า   สำหรับอัตราค่าจ้างนั้นมีการปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไป โดยอัตราค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อคือ กลุ่ม ธุรกิจด้านพลังงาน มีอัตราค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 หรือเท่ากับ 79,221 เช็กคราวน์ ภาคการบริหารราชการและการป้องกันประเทศปรับเพิ่มขึ้นรองจากภาคพลังงาน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ตามด้วยการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 และธุรกิจบริการอาหาร ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ในขณะที่งานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มีกำลังซื้อลดลงน้อยที่สุด คือร้อยละ 10.7

นอกจากนี้ สาธารณรัฐเช็กยังคงมีช่องว่างของอัตราค่าจ้างระหว่างเพศชายและเพศหญิง  โดยอัตราค่าจ้างสำหรับผู้ชายอยู่ที่ 37,696 เช็กคราวน์ และผู้หญิงอยู่ที่ 31,856 เช็กคราวน์  จากสถิติพบว่าร้อยละ 80 ของพนักงานได้รับเงินเดือนอยู่ระหว่าง 18,601 – 65,512 เช็กคราวน์ ปริมาณค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่จำนวนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1.

ข้อเสนอแนะ/โอกาส/แนวทาง


          ภาวะเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้การขึ้นค่าจ้างตามไม่ทันการปรับขึ้นของราคาสินค้า  สำหรับผู้บริโภคแล้วอัตราค่าจ้างที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 สำหรับสินค้าที่จำเป็น ยังคงมีโอกาสทางการตลาด แต่ต้องคำนึงเรื่องราคาเป็นปัจจัยหลักในการเข้าเจาะตลาด  แต่สินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ยังคงมีโอกาสค่อนข้างน้อย จนกว่าจะมีปัจจัยบวกที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับสินค้าไทย ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาของตลาด และวางแผนการผลิตและลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร  การผลิตโดยหาวัตถุดิบทดแทนได้และมีราคาถูกลง เป็นอีกกลยุทธ์หนี่งที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตสินค้าได้   ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาด ดูเทรนด์ของสินค้า และเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยและพัฒนาสินค้าจะช่วยให้สามารถปรับตัวและสร้างสรรผลิตภัณฑ์
ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login