1. สรุปภาพรวมของตลาด/สินค้า
ตลาดกาแฟในกลุ่มประเทศนอร์ดิกมุ่งเน้นไปที่กาแฟที่มีคุณภาพสูง จากสภาพอากาศที่มีความหนาวเย็นปกคลุมเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ชาวนอร์ดิกมีวัฒนธรรมที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ทั้งภายในครัวเรือน และการดื่มกาแฟในร้านอาหาร และข้างนอกบ้าน ตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีความนิยมการนำเข้ากาแฟประเภท Arabica ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่การนำเข้ากาแฟ Robusta อยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ โดยรวมแล้ว ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตรารับรอง Rainforest Alliance, UTZ, Fairtrade และกาแฟออร์แกนิก
2. แนวโน้มความต้องการของตลาด
กลุ่มประเทศนอร์ดิกมีประชากรรวม 28.04 ล้านคน เป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก จากตัวเลขทางสถิติ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ประชากรดื่มกาแฟมากที่สุดในโลกที่ 12.0 กก./หัวประชากร ตามมาด้วยนอร์เวย์ (2) ไอซ์แลนด์ (3) และเดนมาร์ก (4) ตามลำดับ ส่วนสวีเดนอยู่ที่อันดับที่ 6 ของโลก อย่างไรก็ดี หากดูด้านราคากาแฟ/ถ้วยในร้านอาหาร/ café แล้ว เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีราคากาแฟแพงที่สุด ในโลก รองลงมาคือ นอร์เวย์ (2) ไอซ์แลนด์ (8) สวีเดน (10) และฟินแลนด์ (11)
โดยรวมแล้ว การนำเข้าของกลุ่มประเทศนอร์ดิกมุ่งไปที่กาแฟคุณภาพสูง กาแฟที่ได้รับการรับรองด้านความยั่งยืน รักษ์สังคม และสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยม และเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกาแฟออร์แกนิกด้วย
2.1 การผลิต และการนำเข้า
กลุ่มประเทศนอร์ดิกตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตอนเหนือ มีสภาพอากาศหนาวเย็นปกคุลมตลอดเกือบทั้งปี จึงไม่สามารถปลูกเมล็ดกาแฟได้ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ กาแฟมีมากมายกว่า 124 ชนิด แต่กาแฟที่ได้รับความนิยมในตลาดนี้คือ Arabica และ Robusta
2.1.1 การส่งออก
• ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 กลุ่มประเทศนอร์ดิกส่งออกกาแฟ กลุ่มรหัสศุลการกร 090111 (Coffee, Not Roasted, Not Decaffeinated) และ 090112 (Coffee, Not Roasted, Decaffeinated) รวม 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 99
• ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน 0.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 91 ฮ่องกงประมาณ 14,000 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 181 เดนมาร์กประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 97 เยอรมนีประมาณ 9,000 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 99 และ สหราชอาณาจักรประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 95
2.1.2 การนำเข้า
• ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 กลุ่มประเทศนอร์ดิกนำเข้ากาแฟ กลุ่มรหัสศุลการกร 090111 (Coffee, Not Roasted, Not Decaffeinated) และ 090112 (Coffee, Not Roasted, Decaffeinated) รวม 48.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 86
• แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ บราซิล 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 81 โคลัมเบีย 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 75 กัวเตมาลา 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 47 เปรู 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 86 และฮอนดูรัส 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 96 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การนำเข้ากาแฟจากประเทศไทยยังมีเพียงเล็กน้อย ในอันดับที่ 32 มีมูลค่า 1,036 เหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 93
2.2 กฎระเบียบที่สำคัญ
เดนมาร์ก สวีเดน และฟินแลนด์เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จึงมีกฎระเบียบนำเข้าเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป และถึงแม้ว่านอร์เวย์ และไอซ์แลนด์มิได้เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ใช้กฎระเบียบการนำเข้าที่อ้างอิงกับสหภาพยุโรป โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดกฎระเบียบการนำเข้าได้ที่ EU Trade helpdesk โดยมีกฎระเบียบที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น (1) ข้อกำหนดด้านสารกำจัดศัตรูพืช เช่น สารกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิด สารพิษจากเชื้อรา และ Salmonella (แม้ว่ากาแฟจะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ) (2) ข้อกำหนดด้านฉลากอาหาร โดยระบุข้อมูลชื่อผลิตภัณฑ์ รหัสประจำตัวขององค์กรกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organisation (ICO) identification code) ประเทศต้นทาง (country of origin) เกรดสินค้า น้ำหนักสุทธิ และสำหรับกาแฟที่ได้รับการรับรอง ต้องระบุ ชื่อและรหัสของหน่วยตรวจสอบและหมายเลขรับรองด้วย และ (3) ข้อกำหนดด้านการบรรจุ
นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบตามความสมัครใจที่มิได้เป็นข้อบังคับในการนำเข้าที่เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับในตลาดนี้ เช่น GLOBALG.A.P, HACCP ใบรับรองด้านการค้าที่เป็นธรรม รักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Rainforest Alliance, UTZ, Fairtrade และตรารับรองออร์แกนิก ได้แก่ EU organic logo, Ø-label (เดนมาร์ก), KRAV (สวีเดน) และ Debio (นอร์เวย์)
2.3 ช่องทางการจัดจำหน่าย
2.3.1 การบริโภคในครัวเรือน ได้แก่
1) เดนมาร์ก: บริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ในเดนมาร์กแบ่งออกเป็น 5 เครือใหญ่ ได้แก่
• บริษัท Coop ประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต SuperBrugsen (230 สาขา) Kvickly (65 สาขา) Brugsen (314 สาขา) 365discount (ประมาณ 350 สาขา) และ Irma (2 สาขา) และ และร้านค้าออนไลน์ Coop.dk
• บริษัท Salling Group ประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต Netto (เฉพาะในเดนมาร์ก 520 สาขา) Bilka (19 สาขา) Føtex และ Føtex food (109 สาขา) และร้านค้าออนไลน์ bilka.dk, føtex.dk และ salling.dk
• บริษัท Dragofa ประกอบด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต Min Købmand (156 สาขา) MENY (112 สาขา) SPAR (134 สาขา) และ Let-Køb (112 สาขา)
• บริษัท Reitan บริหารซูเปอร์มาร์เก็ต REMA1000 ในเดนมาร์ก จำนวน 387 สาขา
• บริษัท LiDL บริหารซูเปอร์มาร์เก็ต LiDL ในเดนมาร์ก จำนวน 138 สาขา
2) สวีเดน: บริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ในสวีเดนสามารถแบ่งออกเป็น 3 เครือใหญ่ ได้แก่
• บริษัท ICA Gruppen AB ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ต ICA Sweden (1,267 สาขา) แบ่งออกเป็น Maxi ICA Stormarknad (88 สาขา) ICA Kvantum (130 สาขา) ICA Supermarket (423 สาขา) ICA nära (626 สาขา)
• บริษัท Coop มีซูเปอร์มาร์เก็ต Coop ในเครือจำนวน 819 สาขา
• บริษัท Axel Johnson มีซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือจำนวน 600 สาขา ประกอบด้วย Hemköp, Willys, Tempo, Urban Deli, Snabbgross, Eurocash, Handlar’n, City Gross และ Matöppet
3) นอร์เวย์: บริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ของนอร์เวย์ คือ บริษัท Norgesgruppen ASA ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือกว่า 1,800 สาขา ได้แก่ Storcash (8 สาขา) ASKO (wholesaler มีคลังสินค้าจำนวน 13 แห่ง) SPAR (267 สาขา) EUROSPAR (27 สาขา) KIWI (690 สาขา) MENY (186 สาขา) Joker (470 สาขา) Nærbutikken (152 สาขา) และอื่นๆ ได้แก่ MIX, Jacob’s และ UNIL
4) ฟินแลนด์: บริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ในฟินแลนด์สามารถแบ่งออกเป็น 2 เครือใหญ่ ได้แก่
• บริษัท S Group กว่า 1,900 สาขา
• บริษัท Kesko Group ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ต K-Citymarket (81 สาขา) K-Supermarket (250 สาขา) K-Market (800 สาขา) Kespro (14 สาขา) และ Neste K (70 สาขา)
5) ไอซ์แลนด์: ได้แก่ Kronan (26 สาขา) และ Bonus (31 สาขา) และยังมี Costco Wholesale ที่ได้รับความนิยมในไอซ์แลนด์อีกด้วย
2.3.2 การบริโภคนอกครัวเรือน:
• เครือร้านกาแฟรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (coffee chain) คือ Espresso House จากสวีเดน มีสาขารวมประมาณ 430 แห่งในเดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเยอรมนี เครือใหญ่อื่นๆ เช่น Joe & The Juice และ Ole & Steen Lagkagehuset (เดนมาร์ก) และ Wayne’s Coffee (สวีเดน)
• ร้านกาแฟเฉพาะ (specialised coffee shops) ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น Coffee Collective (เดนมาร์ก) Drop Coffee Roasters (สวีเดน) และ Fuglen (นอร์เวย์) โดยโรงคั่วเหล่านี้รองรับตลาดเฉพาะ (niche markets) และนำเข้าโดยตรงจากผู้ผลิตโดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว โดยส่วนมากเน้นกาแฟระดับพรีเมี่ยม คุณภาพสูง ตามหลักการค้าที่เป็นธรรม โปร่งใส ตลอดจนรักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อม
3. วิเคราะห์โอกาส/ข้อจำกัดของสินค้าไทย
สินค้ากาแฟจากประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักหากเทียบกับผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มอื่นๆ จากประเทศไทย อย่างไรก็ดี จากกระแสความนิยมกาแฟออร์แกนิกในตลาดนี้ ทำให้โอกาสการเจาะตลาดสินค้ากาแฟออร์แกนิกเป็นโอกาสดีที่น่าสนใจสำหรับกาแฟออร์แกนิกจากประเทศไทย ผู้นำเข้ากาแฟออร์แกนิกรายสำคัญในตลาดนี้ เช่น Löfbergs และ Arvid Nordquist จากสวีเดน นอกจากนี้ บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ยังนำเข้ากาแฟออร์แกนิกภายใต้แบรนด์ของตนด้วย เช่น บริษัท Coop Trading
4. แนวทางการขยายตลาด/ลู่ทางการจำหน่ายของสินค้าไทย
แนวทางการขยายตลาดกาแฟในกลุ่มประเทศนอร์ดิกสามารถแบ่งออก 2 ประเภทใหญ่ คือ การบริโภคในครัวเรือน และการบริโภคนอกครัวเรือน กาแฟชนิดพิเศษกำลังเติบโตในทั้งสองประเภทนี้ เนื่องจากผู้บริโภคชาวนอร์ดิกนิยมกาแฟคุณภาพสูง และยินดีจ่ายในราคาที่สูง โดยรวมแล้ว การทำตลาดกาแฟในกลุ่มประเทศนอร์ดิกแตกต่างกันไปตามคุณภาพของกาแฟ และความสามารถในการผลิต (supplying capacity)
(1) ตลาดระดับสูงและระดับบน: กาแฟคุณภาพสูงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกาแฟอาราบิก้าที่ล้างแล้ว (washed Arabicas) กาแฟเหล่านี้มักมีแหล่งกำเนิดเดียว และเป็นกาแฟที่มีเรื่องราวความเป็นมา ส่วนมากจะผ่านกระบวนการแปรรูปที่มีนวัตกรรม เช่น วิธีธรรมชาติ หรือน้ำผึ้ง เมล็ดกาแฟเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกาแฟ Arabica ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างสมบูรณ์ และมีคะแนน cupping score ที่ 85 ขึ้นไป โดยรวมแล้วสินค้ากลุ่มนี้เป็นตลาดขนาดเล็ก แต่กำลังเติบโต บริษัทผู้นำเข้า เช่น Nordic Roasting Co Aps และ Andersen & Maillard ณ กรุงโคเปนเฮเกน
(2) ตลาดระดับกลาง: เป็นกาแฟคุณภาพดีในเชิงพาณิชย์ กาแฟระดับกลางนี้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ Arabica และ Robusta เช่น เอสเปรสโซคุณภาพสูง การรับรองความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มระดับกลางนี้เป็นตลาดกาแฟที่มีเสถียรภาพ มักขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป และอุตสาหกรรมบริการอาหาร เช่น ซูปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกบริษัท Coop Trading และ Salling Group (เดนมาร์ก) ICA, Axfood และ Kooperativa Förbundet (สวีเดน) Norgesgruppen และ Reitangruppen (นอร์เวย์) S Group และ K Group (ฟินแลนด์)
(3) ตลาดระดับล่าง: เป็นกาแฟคุณภาพพอใช้ ส่วนมากเป็นกาแฟประเภท blended coffee ประมาณร้อยละ 40-100 เป็นกาแฟคือ Robusta ซึ่งส่วนมากเป็นกาแฟบด และกาแฟสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี กาแฟในกลุ่มนี้กำลังได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์นี้ เช่น กาแฟสำเร็จรูปที่ขายอยู่ถั่วไปตามซูปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกทั่วไป
ตัวอย่างบริษัทผู้นำเข้าและคั่วกาแฟรายใหญ่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น BKI, NAF Trading (เดนมาร์ก) Arvid Nordquist (สวีเดน) Friele และ Joh. Johannson Kaffe (นอร์เวย์) ตัวอย่างของผู้นำเข้าเฉพาะทาง (specialised importer) เช่น Collaborative Coffee Source และ Nordic Approach (นอร์เวย์) ซึ่งจำหน่ายกาแฟคุณภาพสูงให้กับโรงคั่วทั่วโลก
ทั้งนี้ บริษัทร้านกาแฟขนาดเล็กที่คั่วกาแฟแบบพิเศษด้วยตัวเองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากวัฒนธรมความนิยมการดื่มกาแฟ ทำให้เป็นโอกาสทางการค้าโดยตรงกับบริษัทคั่วกาแฟเหล่านี้ โดยได้รับแรงหนุนจากความสนใจของผู้บริโภคในกาแฟคุณภาพสูง และการผลิตอย่างยั่งยืน
5. ข้อคิดเห็น ข้อควรระวังและข้อเสนอแนะของ สคต.
5.1 การจัดหาใบรับรองด้านการค้าที่เป็นธรรม รักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟเป็นกุญแจสำคัญในการขยายตลาดกาแฟสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยตรารับรองที่เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในตลาดนี้ ได้แก่ Rainforest Alliance, UTZ, Fairtrade และตรารับรองออร์แกนิก ได้แก่ EU organic logo, Ø-label (เดนมาร์ก), KRAV (สวีเดน) และ Debio (นอร์เวย์)
5.2 การค้นหาผู้นำเข้า/คู่ค้าทางธุรกิจที่มีปรัชญาการดำเนินธุรกิจตรงกับผู้ส่งออกสามารถเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจได้ดี สามารถทำการค้าด้วยกันได้ในระยะยาว โดยควรรักษามาตรฐานความสามารถในการส่งออกตามที่ได้ตกลงกัน ทั้งในด้านคุณภาพ ปริมาณ และการรับรองตามมารตรฐานสากล
5.3 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้ง online/offline และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้าออนไลน์ของกรมฯ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้ากลุ่มประเทศนอร์ดิกเข้าร่วมงานฯ เป็นประจำ เช่น THAIFEX – Anuga Asia
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน | กรกฎาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานแนวโน้มตลาดกาแฟในกลุ่มประเทศนอร์ดิก