หน้าแรกTrade insightสับปะรด > รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนกรกฎาคม 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนกรกฎาคม 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
**************
1. สรุปภาพรวมทั่วไป

เศรษฐกิจ
สถานภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่านพบว่า ในช่วงไตรมาสแรก แนวโน้มเศรษฐกิจของอิหร่านในปีปัจจุบัน (เริ่ม 21 มีนาคม 2566) ลดลงเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยในอิหร่านเพิ่มขี้นร้อยละ 40-50 ผู้มีประสบการณ์ทางเศรษฐกิจและผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่คุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่าน ได้แก่ การคว่ำบาตร การลดลงของปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศ ความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งเป็นผลให้แหล่งเงินทุนไหลออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่าน ได้แก่ การพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียและจีน และการ
แก้ไขข้อพิพาททางการเมืองกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค จะสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจของอิหร่านให้ดีขึ่น

อัตราเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิหร่าน (Statistical Center of Iran: SCI) เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 12 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดเดือนที่สี่ของเดือนปฏิทินอิหร่าน โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 47.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากตัวเลขสิบสองเดือนสิ้นสุดในเดือนที่สามของเดือนปฏิทินอิหร่าน สำนักงานสถิติแห่งชาติกำหนดอัตราเงินเฟ้อแบบจุดต่อจุดของประเทศไว้ที่ร้อยละ39.4 ในเดือนที่สี(ปฏิทินอิหร่านปี 1402 ตรงกับเดือนกรกฎาคม 2566) ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 39.4 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการแบบเดียวกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันกับปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 12 เดือน สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2566 (ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของปีปฏิทินอิหร่านที่ผ่านมา ปี 1401) อยู่ที่ร้อยละ 45.8 และอัตราเงินเฟ้อในช่วงสิบสองเดือนสิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2565 (สิ้นปีปฏิทินอิหร่าน 1400) ไว้ที่ 40.2 เปอร์เซ็นต์ และของปีปฏิทินอิหร่าน 1399 ที่ 36.4 เปอร์เซ็นต์

การว่างงาน
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิหร่าน (Statistical Center of Iran: SCI) เปิดเผยอัตราการว่างงานของชาวอิหร่านที่มีอายุในวัยทำงาน (15-45 ปี) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม – 20 มิถุนายน 2566) มีอัตราร้อยละ 8.2 เป็นอัตราการว่างงานที่น้อยที่สุดในช่วงเดียวกันของ 10 ปีที่ผ่านมาและเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ลดลงร้อยละ 1.0 โดยพบว่า ภาคบริการมีส่วนแบ่งการจ้างงานมากที่สุด รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

การลงทุนจากต่างประเทศ
ประธานองค์กรการลงทุนเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคนิคของอิหร่าน (Organization for investment Economic and Technical Assistance Of Iran) ได้เปิดเผย สถิติการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่สมัยการเข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประธานาธิบดีไรซี(ดำรงตำแหน่งประมาณ 23 เดือน) ว่ามีจำนวนการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 6.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 356 โครงการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัสเซียเป็นประเทศผู้ลงทุนในอิหร่านมากที่สุด โดยร่วมลงทุนในโครงการน้ำมันดิบจำนวน 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับรองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี จีน และอัฟกานิสถาน โดยที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาลงทุนในอิหร่านในอุตสาหกรรมขนาดย่อยและขนาดกลางจำนวน 25 โครงการ มูลค่า 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของกิจการเหมืองแร่และการสร้างสถานีขนส่ง การลงทุนที่ได้รับการอนุมัติมากทึ่สุด
เกี่ยวข้องกับภาคบริการ (ในส่วนของน้ำมันดิบ) คิดเป็นร้อยละ 50.6 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 32.3 และภาคพลังงานร้อยละ 11.3

2 . การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
กรมศุลกากรอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Customs Administration : IRICA) ได้รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม – 20 มิถุนายน 2566) พบว่าอิหร่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแล้วมูลค่า 12,462 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯมูลค่าลดลงร้อยละ 8.84 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ จีน อิรัก ตุรกีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย อิหร่านส่งออกสินค้าไปยังจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 3,540 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28.40 ของมูลค่าการส่งออก ในส่วนของการค้ากับไทย อิหร่านส่งสินค้าออกไปไทยแล้วมูลค่า 120,960,448 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สัตว์น้ำทะเลแช่แข็งและแช่เย็น สินค้าเกษตร ปลาสวยงาม เป็นต้น
การนำเข้า
ในช่วง 3 เดือนแรกของปีปัจจุบัน อิหร่านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 14,019 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.79 โดยมีนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน ตุรกี เยอรมันและอินเดีย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากที่สุดด้วยมูลค่า 4,096 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29.22 ของมูลค่าการนำเข้า ในส่วนของการนำเข้าจากไทย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 31,509,657 เหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าสำคัญได้แก่ ด้ายและเชือกทำจากยางวัลคาไนซ์ เอ็มดีเอฟ อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ ยางพารา ข้าวโพดหวาน สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น
ปัจจุบัน รัฐบาลอิหร่านยังคงเดินหน้านโยบายห้ามนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศอิหร่านและสินค้าที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ เพื่อรักษาเงินทุนสำรองของประเทศให้มากที่สุด รัฐบาลอิหร่านยินดีที่จะทำธุรกิจกับต่างประเทศโดยใช้ระบบทางการค้าแบบ Barter Trade หรือการค้าแบบหักบัญชีได้ซึ่งในปัจจุบันอิหร่านได้ทำธุรกิจในระบบนี้กับประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี
อาเซอร์ไบจาน และประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น
อนึ่ง รัฐบาลอิหร่านได้ออกกฎหมายโดยให้ผู้นำเข้าสินค้าชาวอิหร่านส่งออกสินค้าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการนำเข้าสินค้า (Export against import) และนำเงินที่ได้จากการส่งออกมานำเข้าสินค้า เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าภาคเอกชนได้ รวมทั้งรัฐบาลมีจุดประสงค์เพื่อสร้างกำแพงกีดกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้ามาอิหร่านประสบกับความยากลำบากเพิ่มมากขี้น อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจอิหร่านจะมีวิธีการของตนในการนำเข้าสินค้าแต่ละชนิด
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฏาคม 2566 อิหร่านได้ประกาศการห้ามนำเข้าสินค้าข้าวจากทุกประเทศ เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของอิหร่าน (ซึ่งปฏิบัติเป็นประจำเกือบทุกปี) เพื่อป้องกันอุปทานส่วนเกินและกระทบต่อราคาข้าวของอิหร่าน ทั้งนี้ คาดว่าจะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าข้าวอีกครั้งหลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว(ตุลาคม)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login