หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนเมษายน 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนเมษายน 2566

1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพิ่มขึ้น +0.5% และทำให้การคาดการณ์สำหรับปี 2566 น่าจะอยู่ที่ +0.8% เป็นผลมาจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม (ที่ดีมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว จากอานิสงค์ของภาคการก่อสร้าง) การส่งออกยังมีแนวโน้มดี แม้ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศไม่เอื้ออำนวยก็ตาม การลดลงของราคาเชื้อเพลิงก๊าซช่วยทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา เช่นเดียวกับการลดลงของอัตราเงินเฟ้ออย่างเชื่องช้าและจะยังคงขัดขวางการบริโภค

2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีการบริโภค (Consumption index)
ข้อมูลของสมาพันธ์การค้าอิตาลี (Confcommercio) แสดงให้เห็นว่าในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนปี 2565 ดัชนีการบริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น (+0.2%) (แต่ลดลง -1.5% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้น +1.7%) โดยดัชนีการบริโภคด้านบริการเพิ่มขึ้น (+4.5%) (แต่ลดลง -13.2% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้น +5.8%) ในขณะที่ ดัชนีการบริโภคด้านสินค้าลดลง (-1.5%) (แต่ลดลง -6.0% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้น+0.4%) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสันทนาการในเวลาว่าง แม้จะมีแนวโน้มเชิงบวกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสำหรับภาคบริการเหล่านี้ (สันทนาการ โรงแรมและร้านอาหาร) แต่ยังกลับมาไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 (ปี 2562)
2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Consumer and business confidence)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงเกือบทั้งหมดเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับลดลงจาก 105.5 จุด มาอยู่ที่ 105.1 จุด ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัท ลดลงจาก 110.4 มาอยู่ที่ 108.7 จุด ซึ่งเป็นผลมาจาก ความเชื่อมั่นต่ออนาคต ลดลงจาก 113.3 จุด มาอยู่ที่ 112.6 จุด ความเชื่อมั่นส่วนบุคคล ลดลงจาก 100.9 จุด มาอยู่ที่ 100.1 จุด ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ลดลงจาก 100.2 จุด มาอยู่ที่ 100.0 จุด ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ลดลงจาก 102.8 จุด มาอยู่ที่ 101.4 จุด ภาคธุรกิจก่อสร้าง ลดลงจาก 164.2 จุด มาอยู่ที่ 159.4 จุด ภาคธุรกิจบริการ ลดลงจาก 105.5 จุด มาอยู่ที่ 104.1 จุด ภาคธุรกิจค้าปลีก ลดลงจาก 112.9 จุด มาอยู่ที่ 111.6 จุด
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาคเศรษฐกิจต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ (จาก 119.0 จุด มาอยู่ที่ 119.8 จุด) ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (จาก 119.07 จุด มาอยู่ที่ 119.8 จุด)
2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2566 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น +0.4% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (ที่เพิ่มขึ้น +7.6%) และเพิ่มขึ้น +8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565
2.4 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Producers Price)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) ในเดือนเมษายน 2566 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลง -4.8% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (+3.7%) และขยายตัวเพิ่มขึ้น +1.5% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565
2.5 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ว่า ในเดือนมีนาคม 2566 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง (-0.6%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง (-0.1%) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ดัชนีการผลิตเดือนมีนาคมที่เติบโต ได้แก่ สินค้าทุนเท่านั้น (+0.7%) ในขณะที่ลดลงสำหรับสินค้าตัวกลาง (-0.4%) สินค้าพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค (ลดลง -1.4% ในทั้งสองภาคส่วน)
2.6 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (Trade exchange with extra EU)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปว่า ในเดือนเมษายน 2566 การนำเข้าเพิ่มขึ้น +13.9% และการส่งออกลดลง -2.1% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566
สินค้าส่งออกที่ลดลงได้แก่สินค้าคงทน (-7.8%) สินค้าอุปโภคบริโภคไม่คงทน (-7.6%) และสินค้าตัวกลาง (-7.2%) ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าทุน (+7.5%) และสินค้าพลังงาน (+4.7%) ด้านการนำเข้า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสำหรับทุกหมวดสินค้า
2.7 การค้าปลีก (Retail Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานการค้าปลีกในเดือนมีนาคม 2566 ว่า ตลาดการค้าปลีกลดลงเล็กน้อย (-0.1% ในด้านมีมูลค่า และ -0.3% ในด้านปริมาณ) โดยการค้าปลีกสินค้าบริโภคมีปริมาณลดลง (-0.7%) และสินค้าอุปโภคมีปริมาณลดลง (-0.1%) เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566

3. การส่งออกของไทยไปอิตาลี
ช่วงสี่เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนเมษายน) การส่งออกมีมูลค่า 800.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.83% เมื่อเทียบกับช่วงสี่เดือนแรกของปี 2565 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก มีดังนี้

4. ข้อคิดเห็นของ สคต.มิลาน
– ในไตรมาสแรกของปี 2566 ตัวกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้ตลาดยังคงเคลื่อนไหวดีอย่างต่อเนื่องและความตึงเครียดลดลง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ลดลง และการขยายตัวของภาคธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการจัดเลี้ยง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่หนาวและมีแดดดีกว่าช่วงเวลาอื่นของปี นักท่องเที่ยวและผู้คนต้องการความผ่อนคลาย การเดินทางแม้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเทศกาลจึงเป็นไปอย่างคึกคักขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม ทำให้มีการหมุนเวียนรายได้จากสินค้าและบริการเพื่อสร้างสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
– ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมและการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้นด้วยการชะลอตัว การนำเข้าก็ลดลง เป็นผลจากความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ที่ยังส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ราคาถูกลง หรือที่มีโปรโมชั่น สินค้านำเข้าที่ราคาสูงกว่าสินค้าท้องถิ่นจะตีตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลในการใช้จ่าย สินค้าที่สามารถแข่งขันได้จึงต้องมีนวัตกรรม คุณภาพสูง และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
– สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งทวีความรุนแรงเรื่อยๆ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อย เช่น การแบกรับปัญหาและภาระผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน รวมถึงผู้อพยพจากแอฟริกาที่พยายามหลบหนีเข้ามาทางเรืออย่างไม่ขาดสาย และยังหาทางแก้ไขปัญหาในระดับสหภาพยุโรปไม่ได้โดยเด็ดขาด การหลบหนีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสงคราม ความยากจนและความแห้งแล้งที่เป็นตัวผลักดัน การติดตามข่าวความเคลื่อนไหวนโยบายด้านสงครามและการเมืองของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย
– สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการประหยัดพลังงาน ยังสามารถทำตลาดได้ดี สินค้าที่มีช่องทางดีในช่วงนี้เพราะกำลังเข้าใกล้ฤดูร้อน คือเครื่องปรับอากาศ (ที่สามารถปรับได้ทั้งอากาศร้อนและเย็นในเครื่องเดียวกัน) แผงโซล่าร์เซลล์ (ความกังวลจากค่าไฟที่ไม่แน่นอน) จักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถไฟฟ้า (ที่ในอนาคตก็ต้องเปลี่ยนเป็นระบบใช้ไฟฟ้าทั้งหมด) เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างจุดเด่นในเรื่องของการประหยัดพลังงาน และต้องศึกษากฎระเบียบสหภาพยุโรปอย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกำหนดของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดอิตาลีและยุโรป
– ส่วนสินค้าอาหารที่แนวโน้มตลาดยังดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส อาหารแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออกเสมอ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
พฤษภาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login