หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนมิถุนายน 2566

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ประจำเดือนมิถุนายน 2566

  1. สรุปภาพรวมทั่วไป

เศรษฐกิจ

ธนาคารโลกได้รายงานว่า เศรษฐกิจของอิหร่านในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.7% ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ของ โลก ในด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการทบทวนการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 72 ประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โดยรายงานของธนาคารโลก เรื่อง Global Economic Prospects แสดงให้เห็นว่าอิหร่านเติบโตอย่างมีนัยสำคัญที่ 5% ในไตรมาสแรกของปี 2565 และลดลง 2.5% ใน    ไตรมาสที่สอง และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่สามที่ 3.4% ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอิหร่านสูงถึง 4.7% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 1.2% เท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอิหร่านจะเติบโต ปี 2566 ร้อยละ  2.2 และปี 2567 ร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์การเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าประเทศจะยังอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หลังจากอิหร่านโดนมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลให้ขาดแคลนสกุลเงินเดอลลาร์ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ อิหร่านจึงมีนโนบายลดการพึ่งพิงเงินสกุลเงินเดอลลาร์ โดยพยายามเสนอผ่านเวธีต่างๆ ให้แต่ละประเทศหันมาทำธุรกรรมโดยไม่ใช้เงินสกุลดอลลาร์ และแสวงหาความร่วมมือที่จะทำการค้าแบบ Barter Trade (การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีการชำระเงินระหว่างกัน) กับประเทศต่างๆ โดยล่าสุดประเทศปากีสถานจะทำก้ารค้าแบบ Barter Trade กับอิหร่าน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566

อัตราเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิหร่าน (Statistical Center of Iran: SCI) เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 12  เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดเดือนที่สามของเดือนปฏิทินอิหร่าน โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 48.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลง 0.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบจากตัวเลขสิบสองเดือนสิ้นสุดในเดือนที่สองของเดือนปฏิทินอิหร่าน สำนักงานสถิติแห่งชาติ กำหนดอัตราเงินเฟ้อแบบจุดต่อจุดของประเทศไว้ที่ร้อยละ 42.6 ในเดือนที่สาม (ปฏิทินอิหร่านปี 1402 ตรงกับเดือนมิถุนายน 2566) ซึ่งหมายความว่าประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 42.6 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการแบบเดียวกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันกับปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 12 เดือน สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2566 (ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของปีปฏิทินอิหร่านที่ผ่านมา ปี 1401) อยู่ที่ร้อยละ 45.8 และอัตราเงินเฟ้อในช่วงสิบสองเดือนสิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2565 (สิ้นปีปฏิทินอิหร่าน 1400) ไว้ที่ 40.2 เปอร์เซ็นต์ และของปีปฏิทินอิหร่าน 1399 ที่ 36.4 เปอร์เซ็นต์

การว่างงาน

อัตราการว่างงานของชาวอิหร่านที่มีอายุในวัยทำงาน (15-45 ปี) ในช่วงฤดูหนาวปีงบประมาณที่ผ่านมา (21 ธันวาคม 2565 – 20 มีนาคม 2566) มีอัตราร้อยละ 9.7 เพิ่มขี้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยพบว่าร้อยละ 12.9 ของผู้ว่างงานเป็นประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในช่วงดังกล่าว ภาคบริการมีส่วนแบ่งการจ้างงานมากที่สุดร้อยละ 53.7 รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 33.2 และเกษตรกรรม 13

การลงทุนจากต่างประเทศ

ประธานองค์กรการลงทุนเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคนิคของอิหร่าน (Organization for investment Economic and Technical Assistance Of Iran) ได้เปิดเผย สถิติการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่สมัยการเข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประธานาธิบดีไรซี (ดำรงตำแหน่งประมาณ 22 เดือน) ว่ามีจำนวนการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 6.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 356 โครงการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัสเซียเป็นประเทศผู้ลงทุนในอิหร่านมากที่สุด โดยร่วมลงทุนในโครงการน้ำมันดิบจำนวน 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับรองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี จีน และอัฟกานิสถาน โดยที่ผ่านมาจีนได้เข้ามาลงทุนในอิหร่านในอุตสาหกรรมขนาดย่อยและขนาดกลางจำนวน 25 โครงการ มูลค่า 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในส่วนของกิจการเหมืองแร่และการสร้างสถานีขนส่ง

   2 . การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

กรมศุลกากรอิหร่าน (The Islamic Republic of Iran Customs Administration : IRICA) ได้รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (21 มีนาคม – 20พฤษภาคม 2566) พบว่าอิหร่านส่งออกสินค้าไปต่างประเทศแล้วมูลค่า 7,513 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าลดลงร้อยละ 13.72 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ จีน อิรัก ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย อิหร่านส่งออกสินค้าไปยังจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 2,418 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 32.19 ของมูลค่าการส่งออก  ในส่วนของการค้ากับไทย อิหร่านส่งสินค้าออกไปไทยแล้วมูลค่า 113,007,799  เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สัตว์น้ำทะเลแช่แข็งและแช่เย็น สินค้าเกษตร เป็นต้น

การนำเข้า

ในช่วง 2 เดือนแรกของปีปัจจุบัน อิหร่านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่า 7,941 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ  4.79 โดยมีนำเข้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี เยอรมันและรัสเซีย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด ด้วยมูลค่า 2,396 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 30.17 ของมูลค่าการนำเข้า ในส่วนของการนำเข้าจากไทย อิหร่านนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 15,887,399  เหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ ด้ายและเชือกทำจากยางวัลคาไนซ์ เอ็มดีเอฟ อุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ ยางพารา  ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

ปัจจุบัน รัฐบาลอิหร่านยังคงเดินหน้านโยบายการค้าการลงทุนที่มีนัยยะสำคัญในทางปฎิบัติ 2 นโยบาย คือ 1) ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก (Neighbors First) และ 2) มองเอเชีย (Look East) โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน 15 ประเทศเหล่านี้ได้ก้าวเข้ามาเป็นตลาดส่งออก-นำเข้าทดแทนตลาดดั้งเดิมในยุโรป โดยเฉพาะการค้าสินค้าเกษตรและปิโตรเคมีที่อิหร่านมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งผลิตและส่งออก นอกจากนี้ หลากหลายประเทศในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิรัก ปากีสถาน อินเดีย จีน และรัสเซีย  ยังเป็นตลาดที่อิหร่านสามารถทำธุกรรมทางการค้าแบบ Barter Trade หรือการค้าแบบหักบัญชีได้ ทำให้อิหร่านให้ความสำคัญที่จะทำการค้ากับประเทศเหล่านี้

อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศอิหร่านพบว่า ปริมาณรายได้ที่รัฐบาลอิหร่านได้รับจากการส่งออกสินค้านอกเหนือจากน้ำมันดิบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ว่าอิหร่านได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศอิหร่านก็ตาม แต่ในทางกลับกันการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการแลกเปลี่ยน การขนส่ง และอื่นๆ รวมถึงการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของต้นทุน ทำให้กำลังการผลิต และการแข่งขันลดลง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าของอิหร่านลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดหาเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าภาคเอกชน ตลอดจนข้อจำกัดทางศุลกากร ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนภาคการผลิตซึ่งทำให้การผลิตภายในประเทศลดลงไปด้วย

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login