1 . ภาพรวมเศรษฐกิจสำคัญ/ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1.1 การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 แต่หดตัวลงจากร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการเติบโตในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ได้แก่ ภาคค้าส่งและค้าปลีก; การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.0 ภาคการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 9.5 ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 14.0 สำหรับภาคเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ภาคเกษตรกรรมป่าไม้และประมงขยายตัวร้อยละ 0.9 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.5 และภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในส่วนของด้านอุปสงค์พบว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.0 การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.6การนำเข้าสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 1.3 ในขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 6.7 และรายจ่ายเพื่อการสะสมทุนรวมเบื้องต้น (Gross Capital Formation) หดลงร้อยละ 1.6 สำหรับรายได้ประชาชาติ (Gross National Income) ขยายตัวร้อยละ 12.1 และรายได้ปฐมภูมิ (Net Primary Income ) ขยายตัวร้อยละ 112.5
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
1.2 ภาวะการลงทุน
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ฟิลิปปินส์มีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment: FI)มูลค่ารวม 2.73 หมึ่นล้านเปโซ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.31 หมึ่นล้านเปโซ โดยเป็นการลงทุนผ่านหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน 6 หน่วยงาน ได้แก่
– Authority of the Freeport Area of Bataan (AFAB)
– Board of Investments (BOI)
– Clark Development Corporation (CDC)
– Cagayan Economic Zone Authority (CEZA)
– Philippine Economic Zone Authority (PEZA)
– Subic Bay Metropolitan Authority (SBMA)
– Zamboanga City Special Economic Zone Authority (ZAMBOECOZONE)
ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 พบว่าเป็นการลงทุนจากประเทศสิงคโปร์มากที่สุดคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1.30 หมึ่นล้านเปโซ หรือคิดเป็นร้อยละ 47.8 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ไต้หวัน มีมูลค่าการลงทุน 3.63 พันล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 13.3 และสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการลงทุน 3.06 พันล้านเปโซ คิดเป็นร้อยละ 11.2 สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดคืออุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 60.2 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร(ร้อยละ 15.7) และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 15.5) ตามลำดับ โดยผลจากการลงทุนในไตรมาสที่ 3ของปี 2566 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 22,571 งาน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.0 ของการลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศทั้งหมด
1.3 การบริโภคภายในประเทศ
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 5.0 ลดลงจากร้อยละ 8.0 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่ามากที่สุด อยู่ที่ 1.36 ล้านล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 0.4 รองลงมาได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเชื้อเพลิง มีมูลค่า 553,861 ล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 6.1 และสินค้าเบ็ดเตล็ดและบริการอื่นๆ มีมูลค่า 471,236 ล้านเปโซ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ตามลำดับ
1.4 อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ลดลงจากเดือนกันยายน 2566ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 6.1 และอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนตุลาคม 2566 มีสาเหตุหลักมาจากอัตราเงินเฟ้อของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้านอาหารและบริการที่พัก ชะลอตัวลง รวมทั้งการหดตัวลงของราคาในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาสูบ เครื่องใช้ในครัวเรือน ของใช้ของตกแต่งบ้าน ค่าขนส่ง ค่าบริการสุขภาพ เป็นต้น
แผนภูมิ 1 – อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงเดือนตุลาคม 2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
1.5 อัตราการจ้างงานและอัตราการว่างงาน
อัตราการจ้างงานในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 95.5 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 95.6 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2565 ที่มีอัตราจ้างงานอยู่ที่ร้อยละ 95.0 สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2566 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 4.4 แต่ลดลงจาก เดือนกันยายน 2565 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 5.0
ตารางที่ 1 – สถิติด้านแรงงานของฟิลิปปินส์ในเดือนกันยายน 2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
2. สถานการณ์การค้า (การส่งออก-นำเข้า)
2.1 การส่งออก
การส่งออกของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีมูลค่ารวม 54,539.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากในช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าส่งออก 58,366.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 6.6ตารางที่ 2 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้า และตารางที่ 3 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของประเทศฟิลิปปินส์จำแนกตามตลาด
ตารางที่ 2 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามประเภทของสินค้า ในเดือนมกราคม–กันยายน 2565/2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
ตารางที่ 3 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกหลักของประเทศฟิลิปปินส์ แยกตามตลาดในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
2.2 การนำเข้า
การนำเข้าของฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีมูลค่า 94,360.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 105,059.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 10.2 ตารางที่ 4 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ โดยจำแนกตามประเภทของสินค้าและตารางที่ 5 แสดงถึงมูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์จำแนกตามแหล่งนำเข้า
ตารางที่ 4 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามประเภทของสินค้าในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
ตารางที่ 5 – มูลค่าและอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าหลักของฟิลิปปินส์ แยกตามแหล่งนำเข้าในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
2.3 มูลค่าการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์
มูลค่าการค้ารวมของไทยกับฟิลิปปินส์ใน เดือน มกราคม- กันยายน 2566 อยู่ที่ 8,071.59ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 8,682.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.87 ของการค้าไทยไปทั่วโลกสำหรับการส่งออกจากไทยไปยังฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม-กันยายน 2566 มีมูลค่า 5,774.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 5,696.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.71
ของการส่งออกไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันไทยมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ใน เดือนมกราคม-กันยายน 2566มูลค่า 2,297.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2565ที่มีมูลค่านำเข้า 2,985.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.05 ของการนำเข้าจากทั่วโลกสรุปการค้าระหว่างไทย – ฟิลิปปินส์ ใน เดือนมกราคม-กันยายน 2566 ปรากฏว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่า 3,477.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตารางที่ 6 – สรุปการค้าระหว่างประเทศของไทยกับฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
2.4 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาสินค้า 5 อันดับที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ในเดือน มกราคม-กันยายน 2566 พบว่าสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออกสูงสุด 1,829.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 32.62 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 รองลงมา ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูปและเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ตามลำดับ
ตารางที่ 7 – การส่งออกสินค้า 5 อันดับของไทยไปยังฟิลิปปินส์ ในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
2.5 การนำเข้าของไทยจากฟิลิปปินส์
เมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้า 5 อันดับของไทยจากฟิลิปปินส์ ในเดือน มกราคม-กันยายน 2566พบว่า แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าสูงสุด 419.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 28.26 จากช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2565 รองลงมา ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ ตามลำดับ
ตารางที่ 8 – การนำเข้าสินค้า 5 อันดับของไทยจากฟิลิปปินส์ในเดือนมกราคม-กันยายน 2565/2566
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
-
- สถานการณ์และภาวะสินค้าเป้าหมายของไทยในตลาดฟิลิปปินส์
แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยมายังฟิลิปปินส์ ในเดือน มกราคม-กันยายน 2566 ประเภทสินค้าหลักของไทยที่มีการขยายตัวในการส่งออกมายังตลาดฟิลิปปินส์ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย และ น้ำมันสำเร็จรูป โดยสรุปข้อมูลสถานการณ์และภาวะสินค้าโดยสังเขป ดังนี้
3.1 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ของฟิลิปปินส์ส่งสัญญาณเชิงบวกตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขับเคลื่อน อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในฟิลิปปินส์จะกลับมาเติบโตเกินกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญของไทย และเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกมายังประเทศฟิลิปปินส์เป็นอันดับ 1 โดยสถานการณ์การส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยมายังฟิลิปปินส์ขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์ โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม-กันยายน) มีมูลค่า 1,829.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 1,379.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในฟิลิปปินส์ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและสามารถเติบโตได้อีกมากจากปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนประชากรขนาดใหญ่ อัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งปัจจัยหนุนอื่นๆ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการรถยนต์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภาวะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายออกไปโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และภาวะขาดแคลน
ไมโครชิปที่ใช้ในยานพาหนะสำหรับรถยนต์บางรุ่น
3.2 น้ำตาลทราย
ฟิลิปปินส์สามารถผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคภายในประเทศ และน้ำตาลถือเป็นสินค้าอ่อนไหวที่มีการควบคุมการนำเข้าโดยการใช้มาตรการโควตาภาษี (Tariff-Rate Quotas: TRQs) แต่ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลในบางช่วงเวลาที่ขาดแคลนเพื่อทดแทนผลผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์กำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำตาล เนื่องจากอุปทายภายในประเทศตึงตัวจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เปิดโควตาให้มีการนำเข้าน้ำตาลปริมาณมาก ในปี 2566 เพื่อให้แน่ใจว่ามีอุปทานเพียงพอในตลาดและรักษาเสถียรภาพราคา ทั้งนี้ น้ำตาลของไทยถือเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ ขนม รวมทั้งเครื่องดื่ม เนื่องจากได้รับความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม – กันยายน) ไทยส่งออกน้ำตาลมาฟิลิปปินส์มูลค่า 355.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.69 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าส่งออก 135.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3.3 น้ำมันสำเร็จรูป
น้ำมันสำเร็จรูปถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง (เช่น เบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซล เป็นต้น) ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า (เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา เป็นต้น) ใช้ในอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี (เช่น LPG และแนฟทา เป็นต้น) ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีแนวโน้มความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการขนส่ง ส่งผลให้ไทยสามารถขยาย การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมายังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงค์จากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์มีการควบคุมการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องหันมานำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ทดแทน โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม-กันยายน) ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป มายังฟิลิปปินส์มูลค่า 267.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.86 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัวร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่ 2/2566 แต่ต่ำกว่าในไตรมาสที่ 3/2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3/2566 ดังกล่าวนับเป็นการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดและเหนือกว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เช่น เวียดนาม (ร้อยละ 5.3) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 4.9) จีน (ร้อยละ 4.9) และมาเลเซีย (ร้อยละ 3.3) เป็นต้น และส่งผลให้อัตราเติบโตของ GDP ของฟิลิปปินส์ปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.5 สำหรับ การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3/2566 ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง การใช้จ่ายของภาครัฐที่ดีขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง การเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง การฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ดี โดยในเดือนมกราคม-กันยายน 2566 การส่งออกของไทยมายังฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยนอกจากสินค้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย และน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว ยังมีสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 84.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 7.73) นมและผลิตภัณฑ์นม มีมูลค่า 56.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 16.45) สิ่งปรุงรสอาหาร มีมูลค่า 54.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 24.49) กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่า 50.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 26.46) ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ มีมูลค่า 34.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 21.8) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มีมูลค่า 34.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 21.8) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มีมูลค่า 18.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 85.67) และรองเท้าและชิ้นส่วน มีมูลค่า 11.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+ร้อยละ 95.44)
—————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
15 พฤศจิกายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)