หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าอาหารในประเทศเวียดนาม

รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าอาหารในประเทศเวียดนาม

                                           

  1. ภาพรวมสถานการณ์
    • สถานการณ์ตลาดและแนวโน้มการบริโภค

ตลาดสินค้าอาหารเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต เนื่องจากเวียดนามมีประชากรจำนวนเกือบ 100 ล้านคน บริษัท iPOS.vn ผู้ให้บริการโซลูชั่นการจัดการร้านอาหารระบุว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มของเวียดนามจะเติบโตร้อยละ 18.2 จาก 25,970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เป็น 30,710 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 รายงานอุตสาหกรรมอาหารเวียดนามปี 2565 ซึ่งจัดทำโดยบริษัท MISA AMIS CRM ระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อไปในปี 2566 และเทรนด์การจับจ่ายผ่านช่องทางสมัยใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากการสำรวจของรายงานดังกล่าว คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่นิยมซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และทางออนไลน์เป็นหลัก

ผู้บริโภคเวียดนามมีแนวโน้มนิยมบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดีมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม กรมสถิติเวียดนามระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ยอดค้าปลีกสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สถานการณ์การผลิตภายในประเทศ ความต้องการนำเข้า

          เวียดนามเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่โดยเฉพาะสินค้าสัตว์น้ำ ผลไม้ มะม่วงหิมพานต์ ข้าว กาแฟ ชา พริกไทย เป็นต้น ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมูลค่า 2,571 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-29.3%) กาแฟ 1,627 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.0%) ข้าว 1,526 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+51.6%) ผลไม้ 1,371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+17.6%) มะม่วงหิมพานต์ 952 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+4.5%) พริกไทย 317 ล้านเหรียญสหรัฐฯ    (-12.4%) และขนมและผลิตภัณฑ์ทำจากธัญพืช 299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-2.2%)

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเวียดนามที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนประมาณ 5,083 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.8 เมื่อเทียบกับปี 2562 กรมส่งเสริมการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพในภูมิภาค เนื่องจากรายได้ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของภาคการแปรรูปอาหารของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 โดยอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

ในเดือนเมษายน 2566 ดัชนีราคาอาหารลดลงร้อยละ 0.71 จากเดือนก่อน โดยราคาสินค้าลดลง เช่น ราคาเนื้อหมู (-1.62%) เนื้อสัตว์ปีก (-0.28%) น้ำมันพืช (-0.11%)  ขนม (-0.05%) และ ผัก (-3.29%) ส่วนสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดและแปรรูป (+0.26) เครื่องปรุง (+0.31%) เส้นหมี่และบะหมี่สำเร็จรูป (+0.71%) นมและเนย (+0.29%) และชา กาแฟ และโกโก้ (0.07%) เป็นต้น

          ข้อมูลสถิติการค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566

จากสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าอาหารของเวียดนาม ดังนี้

การนำเข้า

เวียดนามนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดมูลค่า 4,431 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 4,088 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน (354 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (344 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐฯ (305 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มาเลเซีย (178 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไทย (95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นต้น ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5

การส่งออก

เวียดนามส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดมูลค่า 8,713 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 9,144 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน (1,648 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐฯ (1,001 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ฟิลิปปินส์ (775 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (642 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เกาหลีใต้ (359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)  ไทย (177 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นต้น ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6

  1. โอกาส อุปสรรคและความท้าทาย

2.1 โอกาส

ตลาดอาหารและเครื่องดื่มของเวียดนามมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน โดยสัดส่วนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 และนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งะมีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น จึงจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ขนม ผลไม้แปรรูป และเครื่องดื่ม มายังเวียดนาม

2.2 อุปสรรค

ตลาดสินค้าอาหารของเวียดนามมีการแข่งขันสูง นอกจากสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว สินค้าที่ผลิตในเวียดนามก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัยของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งอาจทำให้สินค้าอาหารไทยต้องพบกับการแข่งขันมากขึ้นในตลาดเวียดนามมากขึ้น

  1. กลยุทธเจาะตลาดและแผนงานผลักดัน

3.1 รายงานสถานการณ์การค้าในเวียดนาม ให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถกำหนดแผน การตลาดได้อย่างถูกต้องและทันต่อสถานการณ์

3.2 ร่วมมือกับร้านอาหาร Thai Select ในการประชาสัมพันธ์อาหารไทยผ่านช่องทางออนไลน์

3.3 จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยในพื้นที่ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เช่น งาน Mini Thailand Week รวมทั้งกิจกรรม In-store Promotion และโครงการส่งเสริมตรา          T Mark กับซุปเปอร์มาร์เก็ตและผู้นำเข้า และการส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Influencer หรือ Youtuber

3.4 สคต. ดำเนินการนัดหมาย และจัดทำ online  B2B ให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า

3.5 สคต. หารือคณะทำงานเซลส์แมนประเทศ เพื่อหาความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่าเสริมการขายผ่านช่องทาง e- Commerce

3.6 สคต.ประสานกับพาณิชย์จังหวัด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าสำหรับสินค้าอาหาร

  1. ข้อเสนอแนะ/ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง

          ปัจจุบัน ราคาสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ในตลาดเวียดนามโดยรวมค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากมีอุปทานที่พอเพียงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามระบุว่า ในบริบทของ การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เผชิญกับความยากลำบากจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่งผ่านการดำเนินโครงการและมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เชื่อมโยงการค้า และสร้างแบรนด์สินค้า

 

   สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย

พฤษภาคม 2566

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login