บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถือเป็นอาหารพร้อมทานประเภทหนึ่ง ซึ่งอาศัยกรรมวิธีในการถนอมอาหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจาก “บะหมี่” หน้าตาธรรมดาที่เราคุ้นเคย กลายเป็นเส้นบะหมี่ทอดที่มาพร้อมผงปรุงรส และอาศัยเพียงการใส่น้ำร้อนก็จะได้เป็นบะหมี่ที่พร้อมทาน ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวคิดค้นโดยคุณ Momofuku Ando ผู้ก่อตั้งบริษัท นิสชิน ฟู้ด โปรดักส์ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1958 และภายหลังความพยายามในการตีตลาดส่งออกบะหมี่มายังสหรัฐฯ ผ่านการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในการรับประทานบะหมี่กว่า 5 ปี ได้มีการพัฒนาต่อยอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย หรือ “Cup Noodle” สำเร็จในปีค.ศ. 1971 เป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดสหรัฐฯ เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันมักจะรู้จัก และคุ้นเคยกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในชื่อ “Instant Ramen” มากกว่า อย่างไรก็ตาม สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นถูกจัดเป็นสินค้าอาหารราคาย่อมเยา ซึ่งมิใช่ประเภทอาหารที่นิยมบริโภคเป็นอาหารมื้อหลัก และนอกจากนี้ยังถือเป็นอาหารซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่แม้กระนั้นปริมาณความต้องการของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกก็ยังคงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมามีปริมาณความต้องการสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกกว่า 121.2 พันล้านเสิร์ฟ (Billion Serving) โดยหากนับเฉพาะความต้องการในสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,150 ล้านเสิร์ฟ (Million Serving) โดยจากข้อมูลเชิงสถิติที่ได้กล่าวไป เป็นตัวชี้วัดให้เห็นได้ถึงอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลก และจากข้อมูลเชิงสถิติ พบว่าปริมาณความต้องการสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดสหรัฐฯ นั้นอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยอาจมีอิทธิพลมาจากสัดส่วนประชากรเอเชียในสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ลักษณะสำคัญของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าอาหารประเภทหนึ่งที่มีอายุเก็บรักษาไว้ได้นาน เนื่องจากผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารมาแล้ว และเป็นอาหารทานง่ายเนื่องจากมีลักษณะเป็นอาหารพร้อมทาน (ready-to-eat) ซึ่งมักจะนิยมบริโภคเป็นอาหารมื้อรอง เช่น มื้อดึก มากกว่าที่จะเป็นมื้อหลัก และสามารถบริโภคได้ตามความต้องการ ของผู้บริโภคเองได้เช่นกัน เนื่องจากสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเองนั้นมีรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่หลากหลาย ซึ่งสามารถพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่ หรือรสเนื้อธรรมดา ๆ ไปจนถึงรสชาติพิเศษ เช่น แกงกระหรี่ ต้มยำ ลักซา เป็นต้น ด้วยลักษณะสำคัญประการนี้ จึงทำให้ในอีกแง่มุมหนึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เป็นอีกหนึ่งอาหารทางเลือกได้เช่นกัน และอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงในทางโภชนาการ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากมีไขมัน และโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก อีกทั้งยังให้แคลลอรี่ที่สูงมากในหนึ่งมื้อ จึงทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นอาหารทางเลือกที่ราคาย่อมเยา และไม่นิยมบริโภคเป็นหลัก
ตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ
ขนาดตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสหรัฐฯ
สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodle Association: WINA) ได้รายงานปริมาณความต้องการสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลก โดยจัดอันดับการวัดอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อปีของแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปริมาณความต้องการสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรากฎว่าสหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ตามหลังประเทศญี่ปุ่น และเป็นประเทศนอกทวีปเอเชียประเทศแรกที่อยู่ในอันดับต้น ๆ
สำหรับปริมาณการบริโภคภายในสหรัฐฯ เองนั้น จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปีล่าสุด พบว่าปริมาณการบริโภค ซึ่งสะท้อนปริมาณความต้องการสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ นั้น มีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาข้อมูลในตารางด้านล่าง จะพบว่าภายในสหรัฐฯ มีค่าเฉลี่ยการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 5 ปีอยู่ที่ 4,866 ล้านเสิร์ฟ และมีอัตราเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ 3.38% ต่อปี
สถิติการนำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากหลายประเทศ รวมถึงจากประเทศไทยด้วย ในภาพรวมสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากจีนมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่ง ตามด้วยเวียดนาม และประเทศไทยตามลำดับ โดยปริมาณการนำเข้าจากประเทศไทยในปีล่าสุด (มกราคม – กรกฎาคม 2023) มีอัตราการนำเข้าสูงขึ้น 30.36%
สถิติการส่งออกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสหรัฐฯ
แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความต้องการ และนำเข้าสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงประเทศหนึ่งของโลก แต่สหรัฐฯ กลับไม่มีความโดดเด่นในภาคการส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 ถึง 2 ล้านเหรียญต่อปีเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในตารางแสดงสถิติด้านล่าง
ตัวอย่างสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ
ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก หรือ World Instant Noodles Association (WINA) ได้ระบุว่าความนิยมในสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวผู้บริโภคที่เน้นสะดวกสบาย หากสินค้าสามารถปรุงสุกได้ในบรรจุภัณฑ์ ผ่านไมโครเวฟได้จะเป็นที่นิยมอย่างมาก และเช่นเดียวกันกับส่วนของรสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีความหลากหลาย ประกอบด้วย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย (Cup) มีความหลากหลายวัสดุที่นำมาใช้ เช่น ถ้วยโฟม และถ้วยกระดาษเป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในแง่ของความปลอดภัย และผลข้างเคียงต่อสุขภาพ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชาม (Bowl) มีความหลากหลายวัสดุที่นำมาใช้ เช่น ชามโฟม และชามกระดาษเป็นต้น ตลอดจนรูปทรง และขนาดของชาม ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในแง่ของความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่อสุขภาพ และความสะดวกสบายในการรับประทาน
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสผัก (Vegetable Flavor)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (Chicken Flavor)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเนื้อ (Chicken Flavor)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสกุ้ง (Shrimp Flavor)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชีส (Cheese Flavor)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเครื่องเทศ (Spices Flavor)
โอกาสสำหรับสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยในสหรัฐฯ
ด้วยกระแสความนิยม หรือเทรนด์ของผู้บริโภคสหรัฐฯในปัจจุบันจะใส่ใจกับอาหารที่ให้คุณประโยชน์ ต่อร่างกาย และดีต่อสุขภาพมากกว่า ในขณะที่สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นถูกจัดเป็นอาหารที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศไทย ซึ่งมีความหลากหลายของรสชาติมากกว่านั้น จะมีพบเห็นได้บ้างตามห้าง หรือร้านขายสินค้าเอเชีย แต่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลายในตลาดของสหรัฐฯ จึงสามารถแยกโอกาสสำหรับสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยในสหรัฐฯ ได้ตามสินค้า ดังนี้
สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลดโซเดียม ในปัจจุบันมีสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศไทย ที่ปรับปรุงสูตรแบบลดโซเดียมลง 32 – 43 % โดยที่ยังคงรสชาติที่เป็นที่นิยมไว้ได้
สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติอาหารไทย เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างของชาวอเมริกัน อยู่แล้ว การส่งเสริมการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชในรสชาติของอาหารไทย อาจมีส่วนสำคัญในช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น
ช่องทางการตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ
ช่องทางการจัดจำหน่าย
ในปัจจุบันสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ที่พบเห็นได้ตามห้างจำหน่ายสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปนั้น ส่วนมากจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิต (Made / Manufactured) ในสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ Nissin, Maruchan, Dr. McDougall’s, Chef Woo, Mike’s Mighty Good เป็นต้น ในขณะที่บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เช่น Indomie ของประเทศอินโดนีเซีย และมาม่า ของประเทศไทย ตลอดจนยี่ห้ออื่น จะพบวางขายเฉพาะในห้าง หรือร้านค้าปลีกสินค้าเอเชีย (Asian Grocery Store) มากกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไปในสหรัฐฯ
ตัวอย่างห้างจำหน่ายสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญในสหรัฐฯ ได้แก่
ห้าง Whole Foods Market
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Whole Foods Market Inc.
ที่อยู่: 550 Bowie St., Austin, TX 78703
โทร: 512-477-4455 โทรสาร: 512-482-7000
เว็บไซต์: www.wholefoodsmarket.com
ห้าง Publix
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Publix Supermarket Inc.
ที่อยู่: 3300 Publix Corporate Parkway, Lakeland, FL 33811
โทร: 863-688-1188
เว็บไซต์: www.publix.com
ห้าง Trader Joe’s
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Trade Joe’s Co Inc.
ที่อยู่: 800 S Shamrock Ave. Monrovia, CA 91016
โทร: 626-599-3700
เว็บไซต์: www.tradejoes.com
ห้าง Walmart
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Walmart Inc.
ที่อยู่: 702 SW 8th St, Bentonville, AR 72716
โทร: 479-273-4000
เว็บไซต์: www.walmart.com
ห้าง Winn-Dixie
ข้อมูลติดต่อ บริษัท Winn-Dixie Stores, Inc.
ที่อยู่: 4400 W Sample Rd Suite 130b, Coconut Creek, FL 33073
โทร: 561-870-3733
เว็บไซต์: www.winndixie.com
การเจาะตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐฯ
- ศึกษาข้อมูลลักษณะพื้นฐานและความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตลาด ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้บริโภคบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูปนั้นมีลักษณะกระจายตัว เนื่องจากตัวสินค้าไม่ใช่อาหารมื้อหลัก แต่เป็นลักษณะอาหารทางเลือกมากกว่า ทั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีรสชาติหลากหลาย
- ผู้ผลิตต้องควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของทางการสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด เนื่องจากหน่วยงานด้านอาหารและยา และกระทรวงการเกษตรของสหรัฐฯ มีความเข้มงวดในระดับสูงต่อการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอาหารก่อนนำเข้ามายังสหรัฐฯ
- ติดตามความเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมผู้บริโภคในตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด และสินค้าให้เข้ากับกระแสสังคมได้
- รับฟังความคิดเห็น และเสียงตอบรับของกลุ่มผู้บริโภค และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อพัฒนา ต่อยอด หรือปรับปรุงสินค้าให้ตรงต่อความต้องการผู้บริโภคมากขึ้นต่อไป
- แสวงหาผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพทางด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสรรหาตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บรรณานุกรม
Anna Perling. (2022, May 16). The Best Instant Noodles, According to Chefs, Cookbook Authors, and Ramen Fanatics. Retrieved from: https://www.nytimes.com/wirecutter/blog/best-instant-noodles/ YUKI MASUDA. (2023, September 23). Global instant noodle demand marks record on food inflation. Retrieved from: https://asia.nikkei.com/Business/Food-Beverage/Global-instant-noodle-demand-marks-record-on-food-inflation The Ramen Rater. The Ramen Rater’s Top Ten American Instant Noodles of All Time 2022 Edition. Retrieved from: https://www.theramenrater.com/top-ten-american-2022/ The Business Research Company. (2023, July). Instant Noodles Global Market Report 2023. Retrieved from: https://www.reportlinker.com/p06466481/Instant-Noodles-Global-Market-Report.html?utm_source=GNW World Instant Noodle Association. (2023, May 12). Demand Rankings. Retrieved from: https://instantnoodles.org/en/noodles/demand/table/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)