ภาวะตลาดผลไม้สดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ผลไม้ไทยมีความหลากหลายและบางชนิดมีผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีความได้เปรียบด้านประเภทสินค้า และมีความยืดหยุ่นด้านปริมาณการส่งออก มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ จากสถิติการนำเข้าล่าสุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ปี 2566 พบมูลค่าการนำเข้าผลไม้สดและอบแห้งทั้งสิ้น รวมมูลค่า 2,713 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 6.9 อาจกล่าวได้ว่า การส่งออกของผลไม้ไทยไปยูเออีมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากผลไม้ไทยมีความหลากหลายและบางชนิดมีผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี ทำให้มีความได้เปรียบด้านประเภทสินค้า และมีความยืดหยุ่นด้านปริมาณการส่งออก มีรสชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ
สถานการณ์ตลาดตะวันออกกลาง
ไทยส่งออกผลไม้สดไปยัง 15 ประเทศในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 มีมูลค่าส่งออก 28.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+7.3%) ปี 2567 เพิ่มเป็น 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.5%) และในปี 2568 (ม.ค.) มีมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.9%)
กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ถือเป็นตลาดหลักของไทยในภูมิภาคนี้ โดยคิดเป็นสัดส่วน การส่งออกสูงถึง 99.4% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งมียูเออีเป็นผู้นำเข้าหลัก คิดเป็นสัดส่วน 46% ของการส่งออก รองลงมาคือ ซาอุดีอาระเบีย (สัดส่วน25%) กาตาร์ (13%) บาห์เรน (6%) คูเวต (5%) และ โอมาน (5%) ทั้งนี้ประเทศในกลุ่ม GCC เผชิญกับความท้าทายทางการเกษตรมาโดยตลอด จากการประสบปัญหาด้านการเพาะปลูกผลไม้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม อินทผลัม ยังคงเป็นผลไม้ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้
ไทยส่งออกผลไม้สดไปประเทศตะวันออกกลาง 15 ประเทศ ในช่วง 3 ปี มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี กล่าวคือ
ปี 2566 มูลค่า 28.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+7.3%)
ปี 2567 มูลค่า 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+11.5%)
ปี 2568 (ม.ค.-ม.ค.) 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+3.9%)
การนำเข้าของยูเออี
รัฐบาลยูเออีให้การสนับสนุนภาคเกษตรกรรมผ่านหลายช่องทาง โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนตลอดปีและข้อจำกัดด้านทรัพยากรน้ำ หนึ่งในแนวทางที่ได้รับความนิยมคือการทำเกษตรแนวตั้ง ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการเพาะปลูก แบบแนวนอน อีกทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้า เพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับ ภาคการเกษตร ปัจจุบัน ฟาร์มเกษตรในยูเออีมุ่งเน้นการปลูก ผักใบเขียว เป็นหลัก
ในด้านตลาด ยูเออีเป็นตลาดผลไม้ที่มีศักยภาพสูงและมั่งคั่งที่สุดในตะวันออกกลาง มีความต้องการผลไม้ทุกประเภทจากแหล่งผลิตทั่วโลก ด้วยยุทธศาสตร์ที่ตั้งอันโดดเด่น เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางอากาศขนาดใหญ่และมีผู้บริโภคหลัก เช่น โรงแรมหรูที่ต้องการผลไม้ที่มีคุณภาพสูง
แนวโน้มความต้องการผลไม้ของตลาดยูเออี ให้ความสำคัญกับผลไม้เมืองหนาวเป็นอันดับแรก รองลงมาคือผลไม้เมืองร้อนและผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากนี้ กระแสรักสุขภาพกำลังเติบโต ทำให้ผลไม้ประเภทเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิกเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับโภชนาการและการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ผักและผลไม้สดจึงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
จากสถิติการนำเข้าล่าสุดปี 2566 มูลค่าการนำเข้าผลไม้ของยูเออี 2,713 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากมูลค่า 2,539 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของปีก่อนหน้า ประเภทผลไม้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มถั่ว ส้ม อินทผลัม สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล องุ่น กล้วย สับปะรด มะม่วง เป็นต้น โดยมีมูลค่ามากน้อย ปรากฎตามตาราง ดังต่อไปนี้
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าผลไม้สดระหว่างปี 2564-2566 | ||||||||
H.S. Code | ชนิดของผลไม้ | มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ | ร้อยละการเปลี่ยนแปลง | |||||
2564 | 2565 | 2566 | 2564 | 2565 | 2566 | |||
‘0802 | ถั่วชนิดต่างๆ | 612 | 754 | 723 | 21.7 | 23.2 | -4.1 | |
‘0804 | อินทผาลัม มะเดื่อฝรั่ง มะม่วง ฝรั่ง มังคุด ฯลฯ | 331 | 366 | 451 | 21.2 | 10.6 | 23.2 | |
‘0805 | ส้ม | 304 | 306 | 356 | 3.4 | 0.7 | 16.3 | |
‘0801 | มะพร้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ | 213 | 232 | 253 | 52.1 | 8.9 | 9.1 | |
‘0810 | สตรอเบอรี่ ราสเบอรี่ แบล๊กเบอรี่ ทุเรียน มะขามหวาน ขนุน ลิ้นจี่ ละมุด เสาวรส | 210 | 223 | 240 | 14.8 | 6.2 | 7.6 | |
‘0808 | แอปเปิ้ล แพร์ | 193 | 202 | 209 | 10.9 | 4.7 | 3.5 | |
‘0803 | กล้วย สับปะรด | 135 | 165 | 177 | -7.5 | 22.2 | 7.3 | |
‘0806 | องุ่น | 106 | 126 | 137 | 9.3 | 18.9 | 8.7 | |
‘0807 | แตงโม มะละกอ | 57 | 64 | 68 | -3.4 | 12.3 | 6.3 | |
‘0809 | แอปปริคอต เชอรี่ พีช | 52 | 64 | 58 | -3.7 | 23.1 | -9.4 | |
รวม | 2213 | 2502 | 2672 | -17.14 | 15.1 | 6.8 | ||
ผลไม้แห้งและแปรรูปอื่นๆ | 33 | 38 | 41 | -2.9 | 15.2 | 7.9 | ||
รวมทั้งสิ้น | 2,246 | 2,539 | 2,713 | 14.8 | 13.1 | 6.9 |
📌 แหล่งที่มา: : ITC calculations based on UN COMTRADE statistics.
การแข่งขันในตลาดผลไม้ของยูเออี
ตลาดผลไม้ของยูเออี เป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมี ผู้ส่งออกจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และยุโรปใต้ ที่เข้ามาชิงส่วนแบ่ง ทางการตลาด
สำหรับ ผลไม้เมืองร้อนของ ไทยต้องเผชิญการแข่งขันจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา และอินเดีย รวมถึงประเทศจากทวีปอื่นๆ อย่าง เคนยา บราซิล เปรู แอฟริกาใต้ อิสราเอล และยุโรปใต้ โดยการส่งออกของแต่ละประเทศมักขึ้นอยู่กับฤดูกาล
แม้ผู้นำเข้าจะให้ความสำคัญกับคุณภาพและจุดขายของผลไม้ที่แตกต่างกัน แต่ราคายังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวยูเออี การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลไม้คุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม
แหล่งนำเข้าหลักของผลไม้ในยูเออี
ยูเออีนำเข้าผลไม้จากหลากหลายประเทศ โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ อินเดีย จีน เวียดนาม อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย เอกวาดอร์ อียิปต์ และออสเตรเลีย ในปี 2566 ไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้ไปยูเออี อันดับที่ 17 คิดเป็นมูลค่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1% ของตลาด โดยมีอัตราการเติบโต 6.9% เมื่อเทียบกับปี 2565
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าผลไม้จากประเทศต่างๆ ปี 2564-2566 (chapter 08) | |||||||||
มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ | ร้อยละการเปลี่ยนแปลง | ||||||||
ประเทศ | 2564 | M.s % | 2565 | M.s % | 2566 | M.s % | 2565/64 | 2566/65 | |
1 | สหรัฐอเมริกา | 472 | 21.0 | 575 | 22.7 | 549 | 20.2 | 21.9 | -4.6 |
2 | แอฟริกาใต้ | 266 | 11.8 | 294 | 11.6 | 350 | 12.9 | 10.7 | 18.8 |
3 | อินเดีย | 268 | 11.9 | 277 | 10.9 | 265 | 9.8 | 3.2 | -4.3 |
4 | จีน | 90 | 4.0 | 118 | 4.6 | 143 | 5.3 | 30.4 | 21.4 |
5 | เวียตนาม | 76 | 3.4 | 94 | 3.7 | 139 | 5.1 | 23.4 | 47.5 |
6 | อิหร่าน | 110 | 4.9 | 118 | 4.6 | 122 | 4.5 | 6.7 | 4.0 |
7 | ซาอุดิอาระเบีย | 89 | 4.0 | 98 | 3.8 | 122 | 4.5 | 9.5 | 24.7 |
8 | เอกวาดอร์ | 86 | 3.8 | 120 | 4.7 | 120 | 4.4 | 39.0 | 0.6 |
9 | อียิปต์ | 74 | 3.3 | 97 | 3.8 | 108 | 4.0 | 32.2 | 10.7 |
10 | ออสเตรเลีย | 45 | 2.0 | 41 | 1.6 | 51 | 1.9 | -9.0 | 22.8 |
17 | ไทย | 25 | 1.1 | 27 | 1.1 | 28 | 1.0 | 7.0 | 3.3 |
รวม | 1,602 | 71.3 | 1,859 | 73.2 | 1,996 | 73.6 | 16.0 | 7.4 | |
อื่นๆ | 644 | 28.7 | 681 | 26.8 | 718 | 26.5 | 5.8 | 5.3 | |
โลก | 2,246 | 100 | 2,540 | 100 | 2,713 | 100 | 13.1 | 6.8 |
📌 แหล่งที่มา: ITC คำนวณจากสถิติของ UN COMTRADE (ตั้งแต่ ม.ค. 2020)
ประเภทผลไม้ที่ยูเออีนำเข้าจากแต่ละประเทศ
- สหรัฐอเมริกา – แอปเปิ้ล และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
- แอฟริกาใต้ – ผลไม้หลากหลายชนิด เช่น ส้ม องุ่น แอปเปิล แพร์ เชอรี่ พีช ลิ้นจี่ และสับปะรด
- อินเดีย – มะพร้าวแก่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ องุ่น กล้วย สับปะรด มะม่วง มะละกอ ฝรั่งกิมจู และบางครั้งมีลิ้นจี่และมังคุด
- จีน – ถั่วลิสง ส้ม แอปเปิ้ล และลูกแพร์
- เวียดนาม – มะพร้าวอ่อน แก้วมังกร ฝรั่งกิมจู ลำใย มะพร้าวอ่อน
- อิหร่าน – ประเทศที่มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาค ติดกับยูเออี นิยมใช้เรือ Dhow ขนส่งผักผลไม้ เช่น ถั่วพิสตาชิโอ แตงโม เชอรี่ องุ่น ส้ม และแอปเปิ้ล
- ซาอุดีอาระเบีย – อินทผลัมคุณภาพสูง
- เอกวาดอร์ – ผู้ส่งออกกล้วยรายใหญ่ที่สุดของโลก
- อียิปต์ – ส้ม ฝรั่ง(ไส้แดง) องุ่น มะเดื่อฝรั่ง และสตรอเบอรี่
- ออสเตรเลีย – ส้ม องุ่น เมลอน แตงโม พีช อโวคาโด
ระบบโลจิสติกส์ด้านการจัดซื้อ
วิธีการขนส่งและเก็บรักษาสินค้าผักผลไม้สดของยูเออีมีหลายวิธี เช่น
– ทางบก : โดยใช้รถตู้เย็นขนผักผลไม้สดจากประเทศจอร์แดน ซีเรีย เลบานอน โอมาน ส่งที่ตลาดกลางพืชผักผลไม้ดูไบ (Al Aweer) แล้วถ่ายเก็บสินค้าในห้องเย็นเพื่อจำหน่ายต่อไป
– ทางทะเล : เป็นการขนส่งทางเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ และเรือสินค้าพื้นเมืองขนาดเล็ก (Dhow) ที่นำเข้าสินค้าจากอิหร่าน อินเดียทางใต้ รัฐบาลดูไบได้จัดตั้ง Free Zone รองรับเพื่อขนถ่ายสินค้าพืช ผัก ผลไม้และสินค้าเน่าเสียง่าย
– ทางอากาศ : ขนถ่ายสินค้าบริเวณ Dubai Flower Center เมืองดูไบจัดตั้งเขตนี้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาศักยภาพในการขนส่งดอกไม้ ผัก ผลไม้สด และของสดที่ต้องแข่งกับเวลา รวมไปถึงการเก็บรักษา เพื่อการกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากขนส่งโดยสายการบิน Emirates จะมีการขนถ่ายสินค้าบริเวณ Emirates SkyCargo – Cargo Mega Terminal – สนามบินนานาชาติดูไบ
ขั้นตอนการนำเข้าผลไม้สดสู่ตลาดยูเออี: ตั้งแต่สนามบินดูไบถึงมือผู้บริโภค
กระบวนการนำเข้าผลไม้สดของยูเออีมีมาตรฐานเข้มงวด ตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพ ที่สนามบิน การยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ การตรวจสอบจากเทศบาล (Dubai Municipality) และศุลกากร ไปจนถึงการขนส่งที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัย ดังนั้น ผู้ส่งออกที่สามารถรักษาคุณภาพของผลไม้ และดำเนินการเอกสารได้ถูกต้องครบถ้วน จะสามารถขยายตลาดในยูเออีได้อย่างมั่นคง
1. การตรวจรับสินค้าที่สนามบิน
เมื่อสินค้าเดินทางถึงสนามบินดูไบ เจ้าหน้าที่สายการบินจะตรวจสอบ 1) สภาพสินค้า 2) ปริมาณและจำนวนที่ส่งมา 3) ตรวจสอบความเสียหายของสินค้า
หากสินค้าผ่านการตรวจสอบเรียบร้อย จะถูกเก็บไว้ในตู้แช่เย็นของสายการบิน เพื่อรักษาความสดใหม่ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำเข้า
- การยื่นเอกสารนำเข้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
– ผู้นำเข้าต้องลงทะเบียนสินค้าในระบบ DM Smart Portal (Food Import Report :FIR) ของ Dubai Municipality (www.dm.gov.ae) กรอกรายการสินค้า ราคา และน้ำหนัก ให้ตรงกับ Invoice
– เจ้าหน้าที่เทศบาลประจำสนามบิน ตรวจสอบข้อมูลในระบบ FIRS เทียบกับ Invoice ที่แนบมากับสินค้า ตรวจสอบว่าสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้า หากพบข้อผิดพลาดหรือสินค้าต้องห้าม ต้องแก้ไขหรือทำลายทันที พร้อมค่าปรับ
– เจ้าหน้าที่ อาจทำการสุ่มตรวจสินค้า เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าตรงกับเอกสาร ตรวจหาการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้แจ้งในรายการ
หลังจากเอกสารถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะคำนวณภาษีนำเข้าและดำเนินการชำระเงินก่อนนำสินค้าออกจากสนามบิน
3. ระยะเวลาขนส่งจากไทยถึงยูเออี เที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ – ดูไบ/ชาร์จาห์ ใช้เวลาเดินทางทางอากาศ 6 – 7 ชั่วโมง
หลังจากถึงสนามบิน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สำหรับกระบวนการนำออกจากสนามบิน สินค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว
- การขนส่งภายในประเทศ ผลไม้สดต้องขนส่งด้วยรถตู้เย็นที่ผ่านมาตรฐานเทศบาล
รถขนส่งต้องได้รับการรับรองจากระบบ HACCP เพื่อให้สามารถส่งสินค้าต่อไปยังโรงแรมและร้านค้าชั้นนำ - ระบบการชำระเงินและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
– การสั่งซื้อครั้งแรก – ผู้ส่งออกมักเรียกเก็บค่าสินค้า 100% ล่วงหน้า
– หากมีความน่าเชื่อถือ – อาจเรียกเก็บมัดจำ 50% และชำระส่วนที่เหลือก่อนจัดส่ง ผู้ส่งออกอาจถ่ายภาพสินค้าก่อนจัดส่งเพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบและชำระเงินส่วนที่เหลือ
– ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ – มักมีบริษัทจัดซื้อที่ดำเนินการอยู่ในประเทศผู้ส่งออก เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า
ช่องทางการนำเข้าและภาษี:
– การนำเข้าผ่านช่องทางดังนี้
- ผู้นำเข้า / ขายส่ง ร้อยละ : 60
- Hypermarket / ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ : 25
- ผู้ค้าออนไลน์ ร้อยละ : 15
– ภาษีนำเข้าจากราคา CIF : 5%
– ภาษีมูลค่าเพิ่ม : 5%
ศักยภาพการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดยูเออี
ผลไม้ไทย ถือเป็นสินค้าพรีเมียมที่ได้รับความนิยมในตลาดยูเออี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภค ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้จาก อินเดีย อิหร่าน แอฟริกา สหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศ แต่จุดแข็งของผลไม้ไทยคือ คุณภาพดี รสชาติอร่อย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดเดียวกันที่นำเข้าจาก เวียดนาม อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมาเลเซีย ผลไม้ไทยได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจาก คุณภาพที่สูงกว่าและรสชาติที่ดีกว่า
แนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2566-2568(ม.ค.-ม.ค.)
การส่งออกผลไม้ไทยไปยูเออีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกและอัตราการเติบโต ดังนี้
- ปี 2566 – มูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 9.2%
- ปี 2567 – มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 4.8%
- ปี 2568 – มูลค่า 31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 10.9%
แม้ว่าจะมีการขยายตัวในช่วงแรก แต่ในปี 2568 การส่งออกลดลง ซึ่งอาจมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด
ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมในยูเออี
ในอดีต ตลาดยูเออีจะนำเข้า เงาะ มังคุดและลำใย เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ผลไม้ไทยได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีการขยายตัวไปยังร้านค้าออนไลน์ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลไม้หลากหลายชนิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาของผลไม้ไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับผลไม้จากแหล่งผลิตอื่น ทำให้ไทยต้องเข้าสู่กสนแข่งขันในตลาดผลไม้พรีเมียม
นอกจากผลไม้ไทยที่วางขายตามซูเปอร์มาเก็ต ยังมีผู้นำเข้าที่จำหน่ายปลีก โดยบรรจุในถาดโฟมหรือ กล่องพลาสติก และมีพริกเกลือพร้อมรับประทาน เช่น มะม่วงเขียวเสวย ฝรั่ง สับปะรด (ภูแล) วางจำหน่ายตาม Kiosk ในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าและโอกาสการตลาดผลไม้ไทยให้สามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและกว้างขวางขึ้น
สถิติมาตรฐานประเภทของผลไม้ ไทยส่งออกไปสหรัฐอาหรับแอมิเรตส์ | |||||||||||||
ที่ | ประเภทผลไม้ | มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ | อัตราการขยายตัว (%) | สัดส่วน (%) | |||||||||
2566 | 2567 | 2568 (ม.ค.-ม.ค.) | 2566 | 2567 | 2568 (ม.ค.-ม.ค.) | 2566 | 2567 | 2568 (ม.ค.-ม.ค.) | |||||
1 | ผลไม้สดอื่น ๆ* | 7.34 | 7.80 | 0.67 | -23.34 | 6.35 | 1.61 | 47.91 | 48.61 | 64.91 | |||
2 | ลำไยสด | 1.62 | 1.84 | 0.14 | 231.02 | 13.77 | -28.33 | 10.58 | 11.48 | 13.09 | |||
3 | ส้มโอสด | 0.66 | 1.12 | 0.08 | 259.51 | 69.41 | 25.46 | 4.32 | 6.98 | 8.10 | |||
4 | มะม่วงสด | 1.00 | 0.87 | 0.07 | 58.48 | -13.63 | -15.96 | 6.56 | 5.40 | 6.42 | |||
5 | ทุเรียนสด | 0.66 | 0.29 | 0.03 | -8.90 | -56.49 | 150.88 | 4.29 | 1.78 | 3.09 | |||
6 | สับปะรดสด | 0.78 | 0.38 | 0.03 | -5.02 | -51.07 | -15.15 | 5.07 | 2.37 | 3.07 | |||
7 | มังคุดสด | 0.98 | 1.59 | 0.01 | 90.35 | 62.70 | -75.53 | 6.39 | 9.92 | 1.32 | |||
8 | กล้วยสด | 0.00 | 0.00 | 0.00 | 6.85 | 304.99 | -56.13 | 0.00 | 0.01 | 0.00 | |||
9 | เงาะสด | 2.16 | 2.04 | 0.00 | 103.97 | -5.67 | -100.00 | 14.13 | 12.72 | 0.00 | |||
10 | ผลไม้จำพวกส้ม | 0.00 | 0.00 | 0.00 | 6099.44 | -100.00 | 0.00 | 0.02 | 0.00 | 0.00 | |||
11 | ลิ้นจี่สด | 0.11 | 0.12 | 0.00 | 296.99 | 3.24 | 0.00 | 0.73 | 0.72 | 0.00 | |||
มูลค่ารวม | 15.31 | 16.05 | 1.04 | 9.22 | 4.81 | -10.92 | 100 | 100 | 100 | ||||
หมายเหตุ : ผลไม้สดอื่น ๆ* ได้แก่ มะพร้าวอ่อน มะละกอ มะขามหวาน ลองกอง มะปราง ระกำ เป็นต้น | |||||||||||||
📌 แหล่งที่มา: กรมศุลกากร โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ | |||||||||||||
เอกสารประกอบการนำเข้า :
การนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ จะต้องมีเอกสารประกอบการส่งออกได้แก่ Invoice, Certificate of Origin, Bill of Lading, Packing List, Health Certificate ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทยและ Legalize จากสถานทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศไทย ใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate : PC) หากพบผักผลไม้ที่มีสารตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจากการสุ่มตรวจสินค้า ผัก/ผลไม้ ชนิดนั้นจะถูกสั่งทำลาย บางกรณีผู้ส่งออกอาจต้องแสดงใบตรวจรับรองปราศจากสารตกค้างประเภทยาฆ่าแมลง โลหะหนัก (Certificate of Analysis) ด้วย
ปริมาณสารตกค้างที่กำหนด
เทศบาลรัฐดูไบ (Dubai Municipality) เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่นำเข้าประเทศผ่านด่านต่างๆ ของดูไบ ทั้งทางทะเล ทางบก และทางอากาศ
จากรายงานของ Food Trade Control Section – Dubai Municipality ได้รายงานผลวิเคราะห์จากการตรวจสอบสินค้าอาหาร ผัก ผลไม้สดนำเข้าจากไทยที่ผ่านมา พบว่ามีสินค้าหลายชนิดที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ส่วนมากเป็นสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ต่อมาได้รับการแก้ไขจากไทยจนสามารถนำเข้าได้
ตัวอย่างปริมาณสารพิษตกค้าง (Pesticide Residue) ในผักผลไม้สดที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรและสารที่ปนอยู่ในวัตถุอันตรายทางการเกษตร (Impurities) ที่พบในผลไม้ และปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit for Pesticide : MRL) ที่มีได้ในผักผลไม้ กำหนดโดยเทศบาลรัฐดูไบ หน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พอสรุปได้ตามเอกสารแนบท้าย
การบรรจุและขนส่งผลไม้ไทย: ปัจจัยสำคัญสู่ตลาดยูเออี
ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสะดวกและคุณภาพ “การบรรจุหีบห่อและการขนส่ง” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผลไม้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดยูเออีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบรรจุผลไม้ไทยในยูเออีมีหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะกับลักษณะการบริโภคของตลาด เช่น
– บรรจุถาดโฟมหุ้มฟิล์มใส – ใช้สำหรับผลไม้ขนาดเล็ก เช่น ลิ้นจี่ มังคุด เงาะ ขนาดบรรจุ 700-850 กรัม/ถาด และจัดใส่กล่องกระดาษ 2 ถาดต่อกล่อง
– กล่องพลาสติกใส – เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและให้ผู้บริโภคเห็นคุณภาพของสินค้า
– กล่องกระดาษลูกฟูก – เหมาะสำหรับผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น ทุเรียน บรรจุ 2-3 ผลต่อกล่อง หรือแยกบรรจุเป็น 1-2 กิโลกรัม/กล่อง เพื่อความสะดวกในการจำหน่าย
นอกจากนี้ ยูเออียังนำเข้าผลไม้จากประเทศอื่นเพื่อกระจายสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค เช่น มังคุดจากอินเดีย ลำไยจากเวียดนาม ลิ้นจี่สดจากมาดากัสการ์
การเปลี่ยนแปลงของตลาดและช่องทางการจำหน่าย
ปัจจุบัน ผู้บริโภคในยูเออีรู้จักผลไม้ไทยมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการจำหน่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยขยายช่องทางจำหน่ายไปยัง
🔹 Kiosk ในห้างสรรพสินค้า – จุดจำหน่ายผลไม้สดที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย
🔹 ร้านค้าออนไลน์ – ตอบโจทย์พฤติกรรมการซื้อของยุคใหม่
🔹 Hypermarket และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ – จัดโปรโมชั่นพิเศษในช่วงฤดูผลไม้ออกสู่ตลาด
พฤติกรรมผู้บริโภคผลไม้ในยูเออี
พฤติกรรมของผู้บริโภคในยูเออีมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงถึง
1. โครงสร้างประชากรกับพฤติกรรมการเลือกซื้อ : แม้ว่ายูเออีจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีกำลังซื้อสูง แต่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจากเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ) ชาวฟิลิปปินส์ และชาวอาหรับจากภูมิภาคอื่น ซึ่งโดยทั่วไป ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นอันดับแรก ก่อนคุณภาพ
ในทางกลับกัน กลุ่มลูกค้าหลักของผลไม้ไทย มักเป็น
– ชาวอาหรับพื้นเมือง – มีรสนิยมในการบริโภคผลไม้คุณภาพดี
– ชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง (Expatriate) – กลุ่มที่ยินดีจ่ายเพื่อรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทย แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าผลไม้จากอินเดียหรืออิหร่าน
2. ความต้องการผลไม้ในช่วงเดือนถือศีลอด (เดือนรอมฏอน-Ramadan) เป็นช่วงที่มีการบริโภคผลไม้สูงกว่าปกติ เนื่องจากเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งชาวมุสลิมจะงดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน หลังพระอาทิตย์ตกดิน Iftar นิยมรับประทานอินทผลัมและผลไม้สด เพื่อเติมความสดชื่นหลังจากอดอาหาร และผลไม้สดช่วยลดความกระหายน้ำ และให้พลังงานที่ดูดซึมได้ง่าย
สรุป
- ผลไม้ไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นดาวเด่นในตลาดยูเออี ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลไม้เกือบ 100% เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้เขตร้อนที่ไทยส่งออกนั้น ได้รับความนิยมอย่างสูงและครองใจผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และหลงใหลในรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ไทย
2. จุดเด่นของผลไม้ไทยในตลาดยูเออี ส่วนใหญ่เป็นผลไม้กลุ่ม Exotic ที่มีราคาสูง แต่มีคุณภาพดีกว่าผลไม้ชนิดเดียวกันจากประเทศอื่น เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ เงาะ มังคุด ลำใย มะขามหวาน ทุเรียน มะพร้าวอ่อน และขนุนสุกแกะเม็ด นอกจากนี้ ยังมีผลไม้บางชนิดที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเพียงรายเดียวในตลาด เช่น ชมพู่ทับทิมจันทร์ และมะปราง ซึ่งสร้างความแตกต่างและจุดขายให้กับผลไม้ไทย
3. ความท้าทายที่ต้องเผชิญ แม้ผลไม้ไทยจะมีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะ ปัญหาด้านการขนส่ง เนื่องจากผลไม้ไทยส่วนใหญ่ขนส่งทางอากาศ ทำให้มีค่าระวางสูง ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและเสียเปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม ที่สามารถเสนอราคาถูกกว่าได้
ตัวอย่างเช่น มะม่วงสุก ที่แม้จะมีการแข่งขันสูงจากมะม่วงอินเดียและปากีสถาน แต่ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยเพราะติดใจในรสชาติและคุณภาพ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในโรงแรมระดับ 5 ดาวที่นิยมใช้มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นส่วนประกอบของของหวาน
นอกจากนี้ ผลไม้จากเวียดนาม ยังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยมากขึ้น อาทิ แก้วมังกร ฝรั่งกิมจู เงาะ ลำใย เสาวรส มะพร้าวอ่อน ที่มีราคาถูกกว่าผลไม้ไทยอย่างเห็นได้ชัด
- โอกาสในการขยายตลาด แม้จะมีความท้าทาย แต่ยูเออียังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับผลไม้ไทย เพราะนอกจากจะนำเข้าเพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อ (Re-export) ไปยังประเทศอาหรับใกล้เคียง เช่น โอมาน ซึ่งการขนส่งทางรถบรรทุกใช้เวลาไม่นานและสะดวกต่อการกระจายสินค้า
ดังนั้น ผลไม้ไทยมีโอกาสเติบโตในตลาดยูเออีได้อีกมาก หากสามารถแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและลดต้นทุนได้ พร้อมทั้งรักษาคุณภาพและเอกลักษณ์ของผลไม้ไทยไว้ให้ได้ นอกจากนี้ การตลาดที่เน้นจุดเด่นของผลไม้ไทยจะช่วยเพิ่มมูลค่าและดึงดูดผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบผลไม้ Exotic และมีกำลังซื้อสูง หากไทยสามารถปรับปรุงระบบโลจิสติกส์และเพิ่มรวมถึงควบคุมประสิทธิภาพการผลิต ผลไม้ไทยจะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผลไม้เขตร้อนของโลกได้
—————————————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
มีนาคม 2568
ตัวอย่างปริมาณสารพิษตกค้างที่พบในผลไม้ | ปริมาณสารพิษสูงสุดที่อนุญาต (Maximum Residue Limit for Pesticide; MRL) | |
1 | Acephate : 0.023 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
2 | Azoxystrobin : 0.028 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg |
3 | Benomyl as Carbendazim : 0.31 mg/kg | MRL : 0.1 mg/kg. |
4 | Buprofezin : 0.051mg/kg; | MRL : 0.01mg/kg, |
5 | Carbaryl : 0.027 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg |
6 | Chlorpyrifos : 0.0331 mg/kg, | MRL: 0.01 mg/kg. |
7 | Cyhalothrin (lambda) : 0.042 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg |
8 | Cypermethrin : 1.2 mg/kg | MRL : 0.05 mg/kg |
9 | Ethion : 0.58 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
10 | Imidacloprid: 0.0299 mg/kg; | MRL: 0.01 mg/kg. |
11 | Metalaxyl: 0.0251 mg/kg; | MRL: 0.01 mg/kg |
12 | Methomyl:0.11 mg/kg; | MRL : 0.01 mg/kg, |
13 | Omethoate : 0.024 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
14 | Pirimiphos methyl : 0.028 mg/kg; | MRL : 0.01 mg/kg, |
15 | Procymidone : 7.8 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
16 | Profenofos: 0.0211 mg/kg | MRL :0.01 mg/kg, |
17 | Propargite: 0.152 mg/kg | MRL :0.01 mg/kg |
18 | Prothiofos : 0.022 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
19 | Pyridaben : 0.0393 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg ; |
20 | Thiamethoxam : 0.0279 mg/kg | MRL : 0.01 mg/kg. |
📌 แหล่งที่มา: Food Safety Department, Dubai Municipality
List of Fresh Fruits and Vegetable Importers | ||||||||||
Company | PO Box | City/State | Country | Telephone | Fax | Website | ||||
ABU SAOOD TRADING ESTABLISHMENT | 4342 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6732102 | 6732103 | hekh8@yahoo.com | www.abusoud.net | ||
AL HARBI TRADING, FOODSTUFF, | 4252 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2857240 | 2857557 | smartope@emirates.net.ae | www.valley-sarsen.com | ||
AL SAFA SUPERMARKET – | 4516 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6727900 | 6744757 | kmtgroup@kmt-group.com | www.kmt-group.com | ||
BARAKAT VEGETABLE & FRUITS COMPANY – W L L | 43586 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6733500 | 6730473 | bvfcoadh@emirates.net.ae | |||
BARAKAT VEGETABLES & FRUITS CO. (L.L.C) | 11286 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3335666 | 3335665 | bvfco@emirates.net.ae | |||
DOHLER MIDDLE EAST | 262766 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 8860204 | 8863140 | suresh@foodspecialities.com | www.barakat-uae.com | ||
EMKE STORE | 4048 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 26421800 | 26410555 | emkews@emirates.net.ae | http://www.emkegroup.com | ||
FRESH FRUITS COMPANY LIMITED | 53630 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6730908 | 6730956 | yaseen@freshfruitscompany.com | www.freshfruitscompany.com | ||
FRESH FRUITS TRADING CO. (L.L.C.) | 5173 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3202016 | 3200636 | mznth@hotmail.com | |||
IBSONS TRADING (L.L.C.) | 294218 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3202727 | 3202191 | kibsons@kibsons.com | |||
KIBSONS INTERNATIONAL (L.L.C) | 15418 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3202727 | 3202191 | info@kibsons.com | |||
MEHTAB VEGETABLES & FRUITS (L.L.C) | 294032 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3331565 | 3200113 | mehtab10@emirates.net.ae | |||
MINIS FOOD | 1304 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2653888 | 2653777 | wanfred_2000@yahoo.com | www.mahmoodtea.com | ||
NEW TRADING & MARKETING COMPANY | 6222 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6332255 | 6332256 | kiroandrou@yahoo.com | http://www.nmcgroup.net | ||
PAN EMIRATES FOODS DISTRIBUTION – L L C | 44829 | Abu Dhabi | U.A.E. | 971-2- | 6732737 | 6731191 | akamal@freshdelmonte.com | www.delmonte.com | ||
SAEED SALEH TRADING EST. | 51784 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3490509 | 3491983 | usra@emirates.net.ae | www.gthe.com | ||
SAEED SALEH VEGETABLES & FRUITS STORES | 51784 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3490509 | 3491983 | usre@emirates.net.ae | www.hakanfoods.com | ||
SARAH MEDAWEEKH TRADING | 90124 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2730191 | 2732276 | smtrajiv@emirates.net.ae | www.aldawry.com | ||
SENAN VEGETABLES & FRUITS TRADING | 20886 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2266069 | 2265257 | whiterosejewellery@yahoo.com | www.midlandcentury.com | ||
SEVEN MINARETS TRADING (L.L.C) | 231929 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2623979 | 2623979 | superbet%emirates.net.ae | www.aqroubi.com | ||
SHOKRI HASSAN TRADING CO. (L.L.C.) | 21142 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3201112 | 3201538 | shokri @emirates.net.ae | |||
SMART ONE TRADING CO | 6928 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3335591 | 3335594 | smartco@emirates.net.ae | |||
STAR FRUIT TRADING | 294223 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3446597 | 3445397 | yaldatra@emirates.net.ae | www.mozaq.com | ||
STAR VIEW TRADING (L.L.C) | 22194 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2668742 | 2668743 | viewstar@emirates.net.ae | www.jaleelgroup.com | ||
STEEL MASTERS INTERNATIONAL LTD. INC. | 17603 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 8872882 | 8872884 | smiltd@emirates.net.ae | www.101.com | ||
SUCDEN MIDDLE EAST | 9703 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3043600 | 3292024 | tradewhite@sucden.fr | www.goldfruitgroup.com | ||
SUNRISE FOODSTUFF TRADING(LLC) | 43734 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2267744 | 2262673 | srfs@emirates.net.ae | www.aldouri.com | ||
THAI FRUIT FZCO | 28500 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2354481 | 2354489 | abercstl@eim.ae | 050-7849257 Mr.Moeini | ||
TABARIYA TRADING CO. | 4975 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3202090 | 3200929 | tabarya@hotmail.com | www.citylight.com | ||
TAJ MOHD DAD TRADING CO. (L.L.C) | 64558 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2260018 | 2260087 | tajtrad@hotmail.com | www.ess-food.com | ||
VALLEY FLOWER FOODSTUFF TRADING | 41289 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2232465 | 2232567 | valley-fl@hotmail.com | www.heing.com | ||
VALLEY GARDEN TRADING | 19976 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2669651 | 2621818 | srisaipranav@yahoo.com | www.altaf-khammas.com | ||
VISHNUKUMAR TRADING | 115065 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2720765 | 2720865 | vktuae@emirates.net.ae | www.kibsons.com | ||
WAJDI ENTERPRISES | 960 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3594907 | 3594908 | wajdi@emirates.net.ae | www.kibsons.com | ||
YALDA TRADING CO. (L.L.C.) | 294007 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 3334090 | 3334701 | yaldatrd@emirates.net.ae | www.skokri.co.ae | ||
ZAHRAT AL MADAEN (L.L.C.) | 4511 | Dubai | U.A.E. | 971-4- | 2246975 | 2281803 | zahret@emirates.net.ae | www.smartco.com | ||
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานตลาดเชิงลึก : ภาวะตลาดผลไม้สดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์