- ภาพรวมตลาด
1.1 ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค
ตลาดสาธารณรัฐเช็กมีประชากรประมาณ 10.9 ล้านคน โดยกลุ่มผู้บริโภคหลักคือ กลุ่มครอบครัวที่มีลูกจะมีการบริโภคผักและผลไม้มากที่สุด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการจัดเลี้ยง โดยนิยมบริโภค ผลไม้แปลกใหม่ นอกเหนือจากกล้วย และส้ม
การบริโภคผลไม้สดในตลาดสาธารณรัฐเช็กโดยเฉลี่ยในปี 2565 มีปริมาณการบริโภคผลไม้สดเฉลี่ย 87.4 กิโลกรัมต่อคน/ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 ลดลงร้อยละ 3.5 สำหรับประเภทผลไม้ที่มีการบริโภค มากที่สุดคือ แอปเปิ้ล เฉลี่ย 24.7 กิโลกรัมต่อคน/ปี และมีการบริโภคผลไม้เมืองร้อน เฉลี่ยประมาณ 36.8 กิโลกรัมต่อคน/ปี ลดลงร้อยละ 6.6
รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวเช็กส่งผลให้มีความต้องการในการซื้อผักผลไม้สดเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสาธารณรัฐเช็กจะเคยผลิตผักและผลไม้หลากหลายชนิดในอดีต แต่ปัจจุบันต้องพึ่งพาการนำเข้าผักและผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น ผลไม้ยอดนิยมอย่างแอปเปิ้ล เกือบร้อยละ 50 ของปริมาณการบริโภคทั้งหมดมาจากการนำเข้า ประกอบกับข้อมูลจากสหภาพผู้ปลูกผักและผลไม้ (Union of Growers of Fruits and Vegetable) เนื่องจากสาธารณรัฐเช็กเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สินค้านำเข้าจากประเทศสมาชิกฯ จึงไม่มีภาษีนำเข้า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ปลูกในประเทศ จึงมีส่วนทำให้มีการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยแอปเปิลเกือบครึ่งหนึ่งในสหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศโปแลนด์รวมถึงสาธารณรัฐเช็กด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าราคาจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า แต่ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้การให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากขึ้น แม้ว่าปริมาณการบริโภคผักและผลไม้สดจะเพิ่มมากขึ้น แต่สินค้าผลไม้บรรจุกระป๋องและบรรจุขวดก็ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผลผลิตที่อยู่นอกฤดูกาลที่มีราคาแพงกว่า
ผลไม้พื้นบ้านเป็นผลไม้ที่ปลูกในประเทศ ได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ลูกพีช แอปริคอต องุ่น เชอร์รี่ พลัม สตรอเบอร์รี่ อัตราการบริโภคสูงสุดอยู่ในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากราคาถูกกว่าช่วงอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามผลไม้ทุกชนิดยังสามารถซื้อได้ตลอดทั้งปีเนื่องจากมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสาธารณรัฐเช็ก สำหรับผลไม้ “แปลกใหม่” ซึ่งปัจจุบันมีวางขายโดยทั่วไปในตลาดเช็ก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อผลไม้ดังกล่าวตลอดทั้งปี (ปริมาณมากที่สุดในช่วงฤดูหนาว) ได้แก่ กล้วย ส้ม ส้มเขียวหวาน เกรปฟรุต มะนาว และกีวี ทั้งนี้ ส้มและกล้วยเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคชาวเช็กชื่นชอบมากที่สุดเป็นอันดับสองและสาม ส่วนผลไม้ แปลกใหม่อื่น ๆ เช่น สับปะรด มะพร้าว มะม่วง มีให้บริโภคเป็นครั้งคราว เพราะข้อจำกัดด้านราคา ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ในเช็กจะซื้อสินค้ากลุ่มนี้ในช่วงคริสต์มาสและเทศกาลพิเศษเท่านั้น ผลไม้เมืองร้อนชนิดอื่น ๆ เช่น มะเฟือง เงาะ มังคุด แก้วมังกร มะละกอ ลิ้นจี่ ขนุน และทุเรียน เป็นต้น แทบไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวเช็ก ในทางกลับกันผลไม้แปลกใหม่เหล่านี้จะถูกซื้อโดยโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัทจัดเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่
1.2 การผลิตผลไม้ภายในประเทศ
การปลูกผลไม้ในสาธารณรัฐเช็กมีมานานหลายศตวรรษ ปัจจุบันมีการปลูกผลไม้บนพื้นที่ประมาณ 14,500 เฮกตาร์ มีผลผลิตผลไม้สด เฉลี่ยปีละ 150,000 – 200,000 ตัน/ปี และอีกกว่า 200,000 ตัน/ปี จะใช้สำหรับการแปรรูปทางอุตสาหกรรม ผลไม้หลักที่ปลูกในสาธารณรัฐเช็กคือแอปเปิ้ล ประมาณ 120,000 ตัน/ปี แอปเปิ้ล พันธุ์หลักคือ Golden Delicious, Jonagold, Idared และ Gala และพันธุ์อื่นๆได้แก่ Braeburn หรือ Fuji และ Topaz, Rubinola หรือ Rozela ผลไม้ที่สำคัญอันดับสองในสาธารณรัฐเช็กคือลูกพลัม มีการเพาะปลูก บนพื้นที่ 2,000 เฮกตาร์ มากกว่า 20 สายพันธุ์ ซึ่งจะสุกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยผลผลิตลูกพลัม อยู่ที่ประมาณ 7,000 – 8,000 ตัน/ปี นอกเหนือการเพาะปลูกผลไม้สดเพื่อจำหน่ายแล้ว ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการผลิตผลไม้แห้ง แยม และการผลิตบรั่นดีแบบดั้งเดิมด้วยเช่นกัน ส่วนการปลูกเชอร์รี่เปรี้ยวนั้น ปลูกเพื่อการแปรรูปเป็นหลัก โดยมีผลผลิตประมาณ 5,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เชอร์รี่ สีเข้มพันธุ์ Kordia ที่ปลูกในภูมิภาค South Moravia สำหรับการเพาะปลูกพีชในสาธารณรัฐเช็กแทบจะไม่มีแล้ว เนื่องจากการนำเข้าผลผลิตราคาถูกจากประเทศในสหภาพยุโรปตอนใต้ ปัจจุบันลูกพีชที่ผลิตในประเทศจะพบได้ เฉพาะในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น โดยผลไม้ที่มีอัตราการปลูกเพิ่มมากขึ้นได้แก่ กูสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่แคนาดา ราสเบอร์รี่ และแบล็กเบอรรี
นอกจากนี้ การปลูกองุ่นในสาธารณรัฐเช็กมีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยผู้ผลิตหลักอยู่ในภูมิภาคโมราเวียน โดยองุ่นที่ปลูกในสาธารณรัฐเช็กใหญ่จะใช้สำหรับการผลิตไวน์ ส่วนองุ่นสำหรับบริโภคจะนำเข้าเป็นหลัก สาธารณรัฐเช็กผลิตไวน์หลากหลายประเภทตั้งแต่ไวน์ราคาไม่แพงไปจนถึงไวน์คุณภาพสูง ไร่องุ่น ครอบคลุมพื้นที่ 17,500 เฮกตาร์ โดยมีการเก็บเกี่ยวเฉลี่ยประมาณ 80,000 – 90,000 ตัน/ปี องุ่นขาวพันธุ์ที่ปลูกมากที่สุดคือ Veltlin Green, Mueller-Thurgau และ Italian Riesling และพันธุ์องุ่นแดงที่ปลูกมาก ที่สุดคือ Saint Lawrence และ Frankovka ไวน์จากสาธารณรัฐเช็กส่วนใหญ่เป็นผลผลิตคุณภาพสูงถูกส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก
การนำเข้าผลไม้และถั่วมายังสาธารณรัฐเช็กในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2566 มีปริมาณ 644,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 953 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 การนำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 การนำเข้ามะพร้าวอ่อน HS 0801 19 ลดลงร้อยละ 10 สับปะรด HS 0804 30 ลดลงร้อยละ 48 ในขณะที่การนำเข้ามะม่วง มังคุด HS 0804 50 เพิ่มขึ้น 1 ใน 5 มะละกอ HS 0807 20 เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า และการนำเข้ามะขาม ลิ้นจี่ เงาะ และอื่นๆ HS 0810 90 เพิ่มขึ้นร้อยละ 485
ผลไม้สดนำเข้าที่สำคัญที่สุดของสาธารณรัฐเช็ก คือกล้วย โดยนำเข้าจากประเทศเอกวาดอร์เป็นหลัก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.6 ตามมาด้วยโคลอมเบีย ร้อยละ 19 และคอสตาริกา ร้อยละ 12.7 การนำเข้า กล้วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 ในแง่ของมูลค่า
ผลไม้สดนำเข้าอันดับ 2 ของสาธารณรัฐเช็ก ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้ม มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 สินค้าสำคัญคือมะนาว ตามมาด้วยส้มและส้มแมนดาริน/ส้มเขียวหวาน ผู้นำตลาดของมะนาวคือสเปน มีส่วน แบ่งตลาดถึงร้อยละ 49.1 ตามมาด้วยแอฟริกาใต้ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.6 และตุรกี ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.4 ในส่วนของส้ม สเปนเป็นผู้นำตลาดเช่นเดียวกันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 34.6 กรีซครองตำแหน่งที่สอง มีส่วน แบ่งตลาดร้อยละ 24.5 ตามด้วยอียิปต์ ร้อยละ 15 สำหรับส้มแมนดาริน/ส้มเขียวหวาน สเปนเป็นซัพพลายเออร์หลัก โดยรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ร้อยละ 29.3 โครเอเชีย ร้อยละ 19.5 และตุรกี ร้อยละ 9.1
ผลไม้สดนำเข้าอันดับ 3 ของสาธารณรัฐเช็ก ได้แก่ องุ่นไวน์ โดยอิตาลีเป็นผู้นำตลาด ร้อยละ 22.6 ของตลาด ตามด้วยอินเดีย มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.7 และซัพพลายเออร์รายใหญ่อันดับสามคือแอฟริกาใต้ ร้อยละ 12.3 โดยการนำเข้าองุ่นไวน์มายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในช่วงปี 2566 (มกราคม – พฤศจิกายน)
ผลไม้เมืองร้อน (นอกเหนือจากกล้วย ส้ม) ที่มีการนำเข้ามากที่สุดในแง่ของมูลค่า ช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2566 HS 0804 50 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะม่วง (รวมถึงมังคุด) มีการนำเข้ามูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปริมาณ 6,470 ตัน) แหล่งการนำเข้าสำคัญคือบราซิล ร้อยละ 26.5 ตามด้วยเปรู ร้อยละ 18.3 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 10.1 ไอวอรี่โคสต์ ร้อยละ 5.1 กัมพูชา ร้อยละ 4 และเวียดนาม ร้อยละ 3.5 โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 9 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3 ผลไม้ที่สำคัญรองลงมาได้แก่ สับปะรด HS 0804 30 มีการนำเข้า มูลค่า 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปริมาณ 7,627 ตัน) ซัพพลายเออร์ชั้นนำของสับปะรดสู่ตลาดเช็ก ได้แก่ คอสตาริกา มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 64.9 เบลเยียม ร้อยละ 8.8 เยอรมนี ร้อยละ 7.2 ไอวอรี่โคสต์ ร้อยละ 5.1 และเอกวาดอร์ ร้อยละ 3.3 ส่วนแบ่งการตลาดของประเทศไทย ร้อยละ 0.3
โดยปกติสาธารณรัฐเช็กไม่ได้นำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยโดยตรง ผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งในเช็กมักจะสั่งซื้อ จากผู้นำเข้าเนเธอร์แลนด์หรือเยอรมนีเป็นหลัก ในปริมาณที่ไม่มากนัก เนื่องจากราคาสูง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทยยังไม่ประสบผลตามความคาดหวัง เนื่องจากหลายปัจจัย เห็นได้ชัดในปี 2563 เนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 และในปี 2565 รวมถึงปี 2566 ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้กำลังซื้อของชาวเช็กลดลง ประกอบกับยังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเช็ก ทำให้ราคาขายมีราคาแพง สำหรับตลาดหลักของผลไม้สดจากประเทศไทยคือซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์ เช่น Delmart เครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเฉพาะทาง และร้านค้าออนไลน์ โรงแรม ร้านอาหาร และบริษัทจัดเลี้ยง ฤดูกาลที่ขายดีที่สุดคือช่วงคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อผลไม้แปลกใหม่ที่มีราคาสูง
ในแง่ของปริมาณ สินค้าผลไม้สดที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ มะพร้าวอ่อน ผู้นำเข้า รายใหญ่ที่สุดคือ CEROZFRUCHT CO., LTD. ที่นำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทยแบรนด์ GENUINE COCONUT จากซัพพลายเออร์ในประเทศสเปน ลูกค้าหลักคือกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ KAUFLAND เป็นอันดับ 1 มีการ จัดส่งให้ KAUFLAND ประมาณ 2,000 – 3,000 ลูกต่อสัปดาห์ ตามมาด้วย GLOBUS และ LIDL CEROZFRUCHT
คู่แข่งของผักและผลไม้เมืองร้อนไม่เพียงแต่เป็นประเทศในเอเชียเท่านั้น อาทิเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ แต่ยังรวมถึงบราซิล เปรู แอฟริกาใต้ อิสราเอล ประเทศแถบยุโรปใต้ และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล แม้ว่าจะเน้นความสดใหม่ คุณภาพ และจุดขายมากขึ้น แต่ราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ ในอนาคตผู้บริโภคสามารถคาดหวังที่จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นระหว่างผู้ขายเพื่อราคาที่ถูกลง แม้ว่าผักและผลไม้สดจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่สินค้ากระป๋องและขวดโหลยังคงเป็นทางเลือกทดแทน ในการซื้อผลผลิตนอกฤดูกาลที่มีราคาแพง
2. ช่องทางการจัดจำหน่าย
สาธารณรัฐเช็กมีผู้นำเข้าผลไม้สดรายใหญ่ ได้แก่ CEROZFRUCHT, HORTIM, EFEZ, E-SANDERA, ABASTO, GASTROFRESH, TIDBIT และ VVIS โดยผู้นำเข้าผักและผลไม้สดในสาธารณรัฐเช็กส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจค้าส่งด้วย
สำหรับการนำเข้าผักและผลไม้สดจากไทยในสาธารณรัฐเช็ก ผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งรายใหญ่พิจารณาเลือกผลไม้จากไทยและมาเลเซีย เช่น เงาะ มะละกอ มะเฟือง สับปะรด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งรายใหญ่ มักจะไม่นำเข้าผลไม้ดังกล่าวโดยตรง พวกเขาจะซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในเนเธอร์แลนด์ หรือบางครั้ง เยอรมนี และสินค้าจะถูกขนส่งมายังสาธารณรัฐเช็กโดยรถบรรทุก
จากข้อมูลของผู้นำเข้าเช็กระบุว่าวิธีการขนส่งสินค้าผักและผลไม้สดส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางอากาศ ปริมาณการซื้อน้อยและค่าขนส่งสูงเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าผักและผลไม้มีราคาค่อนข้างสูงในตลาดเช็ก ผู้นำเข้าเช็กกล่าวเพิ่มเติมว่าผลไม้บางชนิดสามารถขนส่งทางเรือได้ โดยใช้ภาชนะพิเศษที่จะช่วยชะลอหรือระงับกระบวนการสุก โดยผลไม้เมืองร้อนส่วนใหญ่ อาทิ มะละกอ มะม่วง นำเข้ามาจาก ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ บราซิล และเปรู สำหรับเงาะมีการนำเข้าจากเปรู ส่วนแอฟริกาใต้จะมีการนำเข้าขึ้นอยู่กับฤดูกาล
การขายปลีกผักและผลไม้จะเน้นความสดและคุณภาพของผักและผลไม้เป็นหลัก ผู้บริโภคราวสองในสาม จะซื้อผักและผลไม้สดในไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต หนึ่งในสี่ของผู้บริโภคซื้อผักผลไม้ในร้านค้าเฉพาะ และผู้บริโภคที่เหลือซื้อในตลาดกลางแจ้งและร้านค้าออนไลน์ ประกอบกับปัจจุบันร้านค้าปลีกผักและผลไม้ มักดำเนินธุรกิจโดยชุมชนชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก
ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ในสาธารณรัฐเช็กไม่ได้นำเข้าผลไม้จากไทยโดยตรง แต่จะซื้อสินค้าจากผู้นำเข้าและผู้ค้าส่งในประเทศ สำหรับ e-commerce ผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด ในธุรกิจอาหาร ได้แก่ ROHLIK.CZ, KOSIK.CZ, I-TESCO.CZ แต่ไม่ได้นำเข้าสินค้าจากเอเชียโดยตรงเช่นกัน พวกเขาเห็นว่าการประสานกับผู้นำเข้าของเช็กสะดวกกว่า และเพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องมีพื้นที่จัดเก็บสินค้า ขนาดใหญ่ การขนส่ง และต้นทุนการทำธุรกรรมอื่นๆ ดังนั้น การส่งออกสินค้าจากไทยจำเป็นต้องหาผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และบริษัทการค้าของสาธาธาณรัฐเช็กเป็นคู่ค้า โดยผู้นำเข้าจะดำเนินการจัดจำหน่ายให้กับผู้ค้าส่ง เครือข่ายร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ หรือลูกค้ารายบุคคลต่อไป
3. อุปสรรคและข้อจำกัดในตลาด
อัตราเงินเฟ้อสูง (อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 15.1 และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปี สำหรับปี 2566 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10.8) ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของครัวเรือนลดลง และมีแนวโน้ม ลดลงอย่างต่อเนื่องจากรายได้ที่แท้จริงที่ลดลง สถานการณ์ทางการเงินที่ตึงตัว และความเต็มใจในการใช้จ่าย ของผู้บริโภคที่ต่ำ ส่งผลให้การนำเข้าผักและผลไม้ลดลง จากการวิจัยของหน่วยงาน SC&C ในช่วงปี 2566 พบว่าร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามลดการซื้อผักและผลไม้ลง โดยผู้บริโภคสองในห้าหันมาปลูกผักและ ผลไม้เองและหนึ่งในสี่ได้มาจากญาติ โดยสามารถสรุปข้อจำกัดของตลาดได้ ดังนี้
3.1 ประชากรในสาธารณรัฐเช็กมีจำนวน 10.9 ล้านคน แต่ตลาดผักและผลไม้แปลกใหม่ในสาธารณรัฐเช็ก มีอย่างจำกัด โดยสินค้าส่วนใหญ่มีเฉพาะในโรงแรม ร้านอาหาร บริษัทรับจัดเลี้ยง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต ในเมืองใหญ่เท่านั้น
3.2 กำลังซื้อของชาวเช็กลดลงในปี 2565 – 2566 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ความแตกต่างของระดับรายได้และกำลังซื้อในเมืองใหญ่และชนบท โดยในชนบทผู้คนมักจะปลูกผักและผลไม้ทานเอง
3.3 ชาวเช็กยังไม่รู้จักผลไม้แปลกใหม่ เช่น เงาะ มังคุด ลำไย เป็นต้น และค่อนข้างลังเลที่จะทดลองรับประทานสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
3.4 ไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยมายังสาธารณรัฐเช็กส่งผลต่อต้นทุนและระยะเวลาการขนส่ง
3.5 ต้นทุนการขนส่งผักและผลไม้ทางอากาศสูง ทำให้ราคาผลไม้ที่นำเข้าทางอากาศมีราคาสูง เช่น กล้วย 1 กิโลกรัม ที่ขนส่งทางเรือจะมีราคา 40 เช็กคราวน์ ในขณะที่เงาะหรือมังคุด 1 กิโลกรัม ที่ขนส่งทางอากาศจะมีราคา 550 เช็กคราวน์
4. กฏระเบียบการนำเข้า
สาธารณรัฐเช็กเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 จึงมีกฎระเบียบการนำเข้าเช่นเดียวกับสมาชิกสหภาพยุโรป และการนำเข้าผลไม้สดจากซัพพลายเออร์ในยุโรปจึงมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากไม่มีภาษีนำเข้า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/taxation_customs/dds/en/tarhome.htm
ภาษีมูลค่าเพิ่มในสาธารณรัฐเช็ก สำหรับอาหาร และผลิตผลทางการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 12 ประกอบกับ การนำเข้าผลไม้สดมายังตลาดสาธารณรัฐเช็กจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช ภายใต้กฎระเบียบการตรวจสอบ สุขอนามัยพืชตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป
5. ข้อสรุป/ข้อเสนอแนะ
ผลไม้ที่ปลูกในสาธารณรัฐเช็ก หรือผลไม้พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นแอปเปิ้ลและลูกแพร์ ที่มีตลอดทั้งปี ส่วนลูกพีช แอปริคอต องุ่น เชอร์รี่ พลัม สตรอเบอร์รี่ จะมีจำหน่ายในฤดูร้อนเท่านั้น โดยช่วงเวลาที่มีการบริโภค สูงสุดคือในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากสินค้ามีราคาถูกกว่าช่วงอื่น สำหรับผลไม้นำเข้าสามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปี แต่มีราคาสูงกว่ามาก ดังนั้น ผลไม้ท้องถิ่น อาทิ แอปเปิ้ลจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสาธารณรัฐเช็ก
สำหรับผลไม้ “แปลกใหม่” ซึ่งกลายเป็น “ผลไม้พื้นเมือง” ในตลาดเช็ก เนื่องจากผู้บริโภคสามารถซื้อได้ ตลอดทั้งปี และมีปริมาณมากที่สุดในฤดูหนาว ได้แก่ กล้วย ส้ม มะนาว ส้มเขียวหวาน เกรปฟรุต และกีวี โดย ส้มและกล้วยเป็นผลไม้ที่ผู้บริโภคชาวเช็กชื่นชอบมากที่สุดเป็นอันดับสองและสาม ผลไม้แปลกใหม่ชนิดอื่นๆ เช่น สับปะรด มะพร้าว มะม่วง มะเฟือง เสาวรส มีให้บริโภคเป็นครั้งคราว ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมซื้อผลไม้กลุ่มนี้ในช่วงคริสต์มาสและเทศกาลพิเศษ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านราคาที่สินค้าผลไม้กลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างสูง และผู้บริโภคยังไม่ค่อยรู้จักหรือไม่กล้าทดลองสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
ผลไม้ยอดนิยมจากประเทศไทยที่มีจำหน่ายตลอดทั้งปีในตลาดเช็กคือมะพร้าวอ่อน ซึ่งได้รับความนิยม ในหมู่ผู้รักสุขภาพหรือใช้ในธุรกิจ HORECA สำหรับเงาะ แก้วมังกร มะละกอ ลิ้นจี่ ขนุน มังคุด ฯลฯ แทบไม่เป็น ที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวเช็ก ดังนั้น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและการส่งเสริมการขาย มีความจำเป็นในการเพิ่ม ปริมาณความต้องการในอนาคต สำหรับผลไม้สดอื่นๆ ของไทยในตลาดเช็ก ผู้นำเข้ารายใหญ่ได้เลือกนำเข้าผลไม้ไทยบางชนิด อาทิ เงาะ มะละกอ มังคุด และลิ้นจี่ โดยปกติแล้วผู้นำเข้าจะไม่ได้นำเข้าผลไม้ดังกล่าวโดยตรง แต่จะซื้อจากซัพพลายเออร์ ในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี สาเหตุที่ผลไม้สดมีราคาค่อนข้างสูงในตลาดเช็ก สืบเนื่องจากการซื้อในปริมาณน้อย และค่าขนส่งสูง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ โรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยง/บริการด้านอาหาร ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต ในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และร้านค้าออนไลน์เป็นหลัก
ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่ายเครือข่ายร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสาธารณรัฐเช็กไม่ได้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยโดยตรงและซื้อสินค้าจากผู้นำเข้าและผู้ค้าส่งในประเทศ เช่นเดียวกับ e-commerce อาทิ ROHLIK.CZ, KOSIK.CZ, I-TESCO.CZ ที่ไม่มีการนำเข้าสินค้าจากเอเชียโดยตรงเช่นกัน โดยมองว่าการประสานงาน กับผู้นำเข้าของเช็กสะดวกกว่า และหลีกเลี่ยงการที่ต้องมีพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่ การบริหารจัดการการขนส่ง และต้นทุนการทำธุรกรรมอื่นๆ ดังนั้น การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสาธารณรัฐเช็ก จำเป็นต้องมีผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าชาวเช็กเป็นคู่ค้า โดยผู้นำเข้า/ผู้ค้าท้องถิ่น จะดำเนินการจัดจำหน่าย ให้กับผู้ค้าส่ง เครือข่าย ร้านค้าปลีก ธุรกิจบริการด้านอาหาร ร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ และ/หรือลูกค้ารายบุคคลต่อไป
หากกล่าวโดยสรุปตลาดผักและผลไม้เมืองร้อนในสาธารณรัฐเช็กยังถือว่าเป็นตลาดขนาดเล็ก โดยมีข้อจำกัดหลักคือ เรื่องราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ และการขาดความรู้ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ทั้งในด้านภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่สูงในปี 2565 และ 2566 ทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนและการบริโภคลดลง ด้วยรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว การนำเข้าผักและผลไม้สดจึงลดลง
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น สินค้ากลุ่มนี้ถือว่ายังมีโอกาสในการขยายตลาดในอนาคต เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และสนใจบริโภคอาหารที่เป็น ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวเช็ก ประมาณ 45,000 คน/ปี ทำให้เริ่มรู้จักอาหารไทยรวมทั้งผลไม้ไทยมากขึ้น โดยมองว่าอาหารไทยดีต่อสุภาพ ส่งผลให้ร้านอาหารไทยได้รับ ความนิยมและแพร่หลายมากขึ้นด้วย ดังนั้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ผลไม้และร้านอาหารไทย อาทิ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและร้านอาหารไทยทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ กิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างค้าปลีกที่วางจำหน่ายสินค้าผลไม้ไทย จะเป็นการให้ข้อมูลแก่ ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจ สร้างการรับรู้ ส่งผลให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่สินค้าผลไม้ไทยในตลาดสาธารณรัฐเช็กได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานตลาดสินค้าผลไม้สดในสาธารณรัฐเช็ก