“เมื่อราคากุ้งตกต่ำลงจนเกือบจะเท่ากับราคาไก่อยู่แล้ว ความต้องการกุ้งจะพุ่งสูงขึ้นแน่ๆ”-Donelson Berger รองประธาน Sea Lion International
เนื้อหาสาระข่าว: ผู้ส่งออกกุ้งเข้าตลาดสหรัฐฯ ชี้ว่าราคานำเข้ากุ้งที่ตกต่ำลงมามากจะดีดกลับขึ้นมาอีกครั้งในที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงฤดูใบไม่ร่วงนี้ (ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม) การนำเข้ากุ้งในช่วง 11 เดือนต่อเนื่องมานี้หดตัวลงมาก โดยในเดือนพฤษภาคม 2023 ปริมาณการนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 17 ในขณะที่มูลค่าหดตัวลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2022 ขณะนี้ราคากุ้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.39 ดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าราคาในปีก่อนร้อยละ 12 แต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 2 นักวิจัยต่างคาดการณ์ว่าเมื่อเริ่มช่วงเวลาสั่งซื้อกันอีกครั้งก็มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นมาร้อยละ 7-12 บรรดาผู้ค้ากุ้งต่างคาดหวังกันว่าตลาดกุ้งนี้จะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3-4 นี้ ด้วยกลไกของดุลระดับอุปสงค์และอุปทานเอง ซึ่งแม้ยอดนำเข้าจะลดลงแต่ความต้องการของผู้บริโภคก็จะไม่ถูกกระทบมากนัก จึงพอมีหวังได้ว่าระดับความต้องการจะดีดกลับขึ้นมาอย่างแรงเมื่อราคากุ้งถูกลงมาใกล้เคียงกับราคาเนื้อไก่ แล้วในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คงจะมีโฆษณาส่งเสริมการขายกุ้งกันทั่วไป
บทวิเคราะห์: เห็นบทความนี้แม้ดูจะมีหวังขึ้นมาบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดกุ้งส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ก็มีอาการน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยแม้เรามียอดนำเข้าจะอยู่ในลำดับที่ 5 (แผนภูมินี้เรียงลำดับโดยปริมาณการนำเข้า) ซึ่งในลำดับที่ดีกว่าไทย ก็เป็นไปตามกลไกของราคา แต่พอพ้นลำดับที่ 6 ไปแล้ว ดูเหมือนจะมีคู่แข่งที่ราคาดีกว่าเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งปัจจัยก็มีทั้งด้วยคุณภาพ กำลังการผลิตและปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้
แต่จากการวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไป เรื่องที่น่ากังวลกลับกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันของไทย ด้วยเหตุจากภาษีนำเข้าซึ่งเรียกเก็บโดยสหรัฐฯ สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ไทยเราต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมากเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น ซึ่งจีนนั้นโดนเรียกเก็บเต็มๆ ที่ร้อยละ 25 ซึ่งก็ส่งผลให้ยอดนำเข้าจากจีนแต่เดิมที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอันต้องหดตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยหลังจากปี 2019 ยอดรวมเพียง 50 กว่าล้าน และลดลงปีละประมาณ 10 ล้านต่อเนื่องมาจนปีนี้ ที่มียอดเหลือเพียง 10 ล้านเท่านั้น แต่ภาษีนั้น ก็ประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาษีที่ไทยจ่ายอยู่ก็ไม่ถึงร้อยละ 0.2 ดูเหมือนจะไม่มากจนน่ากังวล แต่พอมาเทียบกับคู่แข่งทั้งกระดาน ก็ชัดเจนว่า อัตราภาษีที่เราจ่ายอยู่นี้ อาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในสินค้าประเภทนี้ เพราะหากดึงตัวเลขภาษีนำเข้าของทุกประเทศที่มียอดการนำเข้าสินค้ากุ้งสู่สหรัฐฯ ทุกรายมาเทียบกัน ก็จะพบว่า ยอดภาษีที่ไทยกำลังจ่ายอยู่นี้ มากมายจนน่าตกใจ อันเป็นผลมาจากมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ โดย U.S. International Trade Commission (USITC) ที่นำมาบังคับใช้กับสินค้ากุ้งแช่แข็งจากอินเดีย จีน เวียดนามและไทย และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปีนี้ ผลการพิจารณาก็ออกมาด้วยมติเป็นเอกฉันท์ว่าให้ยืนมาตรการเอาไว้ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบในเรื่องการเจรจากับประเทศคู่ค้าของเราน่าจะต้องเหนื่อยกันเต็มที่เพื่อหาทางให้เราได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่านี้ หรืออย่างน้อยก็เท่าเทียมกับคู่แข่งของเรา (จัดเรียงตารางในแนวนอนเพื่อเทียบให้เห็นชัดเจนขึ้นพร้อมแผนภูมิ)
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: เรื่องการเจรจาคงยังต้องดำเนินไปซึ่งน่าจะเร่งร้อนได้ยาก แต่ราคานำเข้ากุ้งที่ตกต่ำมานานกว่า 11 เดือนแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งจะดีดกลับขึ้นมาได้ดังที่ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์เอาไว้ ความต้องการสินค้ากุ้งในส่วนของผู้บริการอาหารนั้นลดลงได้ยากมากในสหรัฐฯ ทั้งนี้ก็เพราะอาหารจานกุ้งในร้านอาหารหลากหลายชนชาติในสหรัฐฯ นั้น มีกุ้งเป็นทางเลือกกันแทบทั้งสิ้น
ในส่วนของการแข่งขันนั้น ตราบเท่าที่ราคายังแข่งขันกันได้อยู่แม้กุ้งไทยจะแบกภาษีเอาไว้มากกว่าคู่แข่ง แต่หากเน้นในด้านคุณภาพ ความสะอาดและปลอดสารพิษและเชื้อโรคให้แน่วแน่ ก็จะเป็นมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ผู้ซื้อกลุ่มบริการอาหารยอมจ่ายสูงกว่าเพื่อแลกมา อีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยขยายตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาก็คือการแปรรูปที่มีความแตกต่าง อาหารจานกุ้งของไทย มีมากมายหากนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ในรูปแบบอาหารพร้อมปรุงหรืออาจถึงขั้นพร้อมทานได้ ก็จะเป็นวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าการขายกุ้งสด กุ้งแช่แข็ง และอาจกลายเป็นตลาดที่ยั่งยืนกว่าและราคาผันแปรน้อยกว่าได้
*********************************************************
ที่มา: Undercurrentnews เรื่อง: “US shrimp import pricing ‘pop’ expected after inevitable rebound” โดย: Daniel Hilliard สคต. ไมอามี /วันที่ 19 กรกฎาคม 2566