หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > รัสเซียเพิ่มรายการสินค้าให้นำเข้าซ้อน

รัสเซียเพิ่มรายการสินค้าให้นำเข้าซ้อน

นับตั้งแต่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและพันธมิตร รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาตรการต่างๆ  เพื่อรับมือหรือบรรเทาผลกระทบดังกล่าว หนึ่งในมาตรการที่มีการนำมาใช้ คือ การอนุญาตให้นำเข้าซ้อน (parallel import)  โดยอนุญาตให้ผู้นำเข้าสินค้าในรัสเซียสามารถนำเข้าสินค้าที่มีสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้า ที่ผลิตและ/หรือจำหน่าย โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้าในประเทศอื่นๆ  เข้ามาขายในรัสเซียได้แม้ว่าผู้นำเข้ารายดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสินค้าที่มีสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้า ให้จำหน่ายในรัสเซียก็ตาม ซึ่งโดยหลักการแล้วสินค้าที่มีการนำเข้าซ้อนยังคงเป็นสินค้าจริงไม่ใช่สินค้าปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบแต่อย่างใด

รัฐบาลรัสเซียอนุญาตให้เริ่มมีการนำเข้าซ้อน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกและพันธมิตรห้ามไม่ให้มีการส่งออกสินค้าหลายรายการมายังรัสเซีย รวมทั้งห้ามไม่ให้บริษัทของตนเองดำเนินธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งทำผู้บริโภคชาวรัสเซียไม่สามารถหาซื้อสินค้าของชาติตะวันตกและพันธมิตรที่ตนใช้อยู่เป็นประจำได้ โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 รัฐบาลรัสเซียได้ออกข้อกำหนดหมายเลข 506 (Resolution No. 506) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียพิจารณาระบุรายการสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าซ้อน และต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียได้มีคำสั่งหมายเลข 1532 (Order No. 1532) ลงวันที่ 19 เมษายน 2565 (ประกาศโฆษณาวันที่ 6 พฤษภาคม 2565) ระบุรายการสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าซ้อน ซึ่งครอบคลุมสินค้าประเภทต่างๆ เช่น เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา เครื่องดนตรี ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียได้ออกคำสั่งหมายเลข 684 (Order No. 684) ลงวันที่ 2 มีนาคม 2566 (ประกาศโฆษณาวันที่ 14 มีนาคม 2566) ขยายรายการสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าซ้อนเพิ่มเติม เช่น เครื่องสำอางและน้ำหอม (ยี่ห้อ Kerastase, Yves Saint Laurent) เครื่องใช้ในบ้าน (ยี่ห้อ Zanussi, Wahl) ของเล่นและสินค้าเด็ก (ยี่ห้อ Hasbro, Logitech, Nintendo) ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับอุปกรณ์ทางการเกษตรและทางทะเล (ยี่ห้อ Caterpillar, Bauer Kompressoren) และน้ำมันเครื่อง (ยี่ห้อ Shell Helix, Rimula) เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียได้ระบุหลักการสำคัญในการพิจารณาสินค้า ที่อนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อน เช่น บริษัทเจ้าของสินค้าไม่ส่งออกสินค้า หยุดผลิต หรือถอนตัวออกไปจากรัสเซีย อย่างไรก็ดี หากบริษัทดังกล่าวกลับมาส่งออกสินค้าให้รัสเซีย หรือกลับมาผลิตสินค้าดังกล่าวในรัสเซียซึ่งทำให้มีอุปทานที่เพียงพอในตลาด กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียก็จะพิจารณาถอดสินค้านั้นๆ ออกจากสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าซ้อนได้

การอนุญาตให้นำเข้าซ้อนเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลรัสเซียใช้บรรเทาปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่ถูกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคชาวรัสเซียที่ยังคงมีความต้องการสินค้าจากชาติตะวันตกและพันธมิตร อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลรัสเซียอนุญาตให้ นำเข้าซ้อนอาจก่อให้เกิดผลกระทบบางประการต่อเจ้าของสินค้าผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร/เครื่องหมายการค้าเนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจำหน่ายในรัสเซีย ทั้งนี้ จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลรัสเซียจะยังอนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อนต่อไปนานแค่ไหน เพียงใด หรือจะมีการขยายรายการสินค้าที่อนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อนเพิ่มเติมในอนาคตอีกหรือไม่ รวมถึงการอนุญาตให้นำเข้าซ้อนดังกล่าวจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดรัสเซียในระยะสั้น และระยะยาว หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ที่มา:

–  What Trademark Holders Should Know About Russia’s Authorization of Parallel Imports (https://www.bloomberglaw.com/external/document/XCTMT3TG000000/trademarks-professional-perspective-what-trademark-holders-shoul)

–  The Ministry of Industry and Trade approved an updated list of goods for parallel imports (https://ria.ru/20230315/import-1857973944.html)

–  The Ministry of Industry and Trade of Russia approved a new list of goods for which parallel imports are allowed (https://www.garant.ru/news/1613641/)

– Order of the Ministry of Industry and Trade of the Russian Federation No. 684 (http://publication.pravo.gov.ru/Document/View/0001202303150001)

– Order of the Ministry of Industry and Trade of the Russian Federation No. 1532 (http://publication.pravo.gov.ru/Document/View/0001202205060

001?index=0&rangeSize=1)

– Resolution No. 506 (http://static.government.ru/media/files/wiACCKhlqBBRhLDOoPaC0xgnA4Y2mIAT.pdf)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login