หน้าแรกTrade insightกุ้งขาวแวนนาไม > รัฐอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า

รัฐอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า

ความคืบหน้าข่าวสัปดาห์ที่ 4 เดือนพฤษภาคม 2566 เรื่อง “รัฐอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ยื่นคำร้องให้ขยายเวลาเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้า”

          วันที่ 1 มิถุนายน 2023 U.S. International Trade Commission (USITC) ได้ประกาศผลการลงคะแนนเสียงว่าจะยังไม่ยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งน้ำอุ่นแช่เยือกแข็งนำเข้าจากอินเดีย จีน ไทย และเวียดนาม ซึ่งหมายถึงสินค้ากุ้งน้ำอุ่นแช่เยือกแข็งจากประเทศเหล่านี้ยังต้องเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งนำเข้าสหรัฐฯ ต่อไปจนกว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ครั้งต่อไป (fourth sunset) ที่กำหนดจะกระทำในเดือนมิถุนายน 2028

คนอเมริกันบริโภคอาหารทะเลเพิ่มขึ้น โดยกุ้งยังคงครองแชมป์อาหารทะเลยอดนิยม

วันที่ 7 มิถุนายน 2023 The National Fisheries Institute (NFI) เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเรื่องการบริโภคอาหารทะเลของคนอเมริกันว่า ในปี 2021 คนอเมริกันบริโภคอาหารทะเล 20.5 ปอนด์ ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ร้อยละ 7.9 การเติบโตของการบริโภคอาหารทะเลในสหรัฐฯ เริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง COVIDและเพิ่มต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าการเติบโตของการบริโภคจะยังดำเนินต่อป

อาหารทะเล 10 อันดับแรกที่คนอเมริกันนิยมบริโภคในปี 2021 คิดเป็นร้อยละ 76 ของการบริโภคอาหารทะเลทั้งหมด

กุ้งยังคงเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในสหรัฐฯ อัตราการบริโภคเติบโตสูงถึงร้อยละ 18 โดยปลาแซลมอนเป็นอาหารทะเลที่มีอัตราเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 19 ปลาทูน่ากระป๋องยังคงเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมบริโภคติดอันดับ 1 ใน 10 แต่การบริโภคในปี 2021 ลดลงเหลือ 1.9 ปอนด์ต่อคนต่อปี ลดลงร้อยละ 0.7

ปริมาณ (ปอนด์) การบริโภคต่อคนต่อปีเปรียบเทียบปี 2020 และ 2021

ที่มา: IntraFish: “New list of America’s most-eaten seafood species released, showing some sharp shifts”, by Drew Cheerry & John Fiorillo, June 7, 2023

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สคต.ลอสแอนเจลิส

  1. ข้อมูลจาก FMI – The Food Industry Association แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการบริโภคและยอดขายอาหารทะเลในซุปเปอร์มาร์เก็ตในปี 2021 จะมีมูลค่าสูงถึง 16.9 พันล้านเหรียญฯ สูงกว่าปี 2020 ร้อยละ 0.9 แต่สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีความรุนแรงขึ้นในปี 2022 ทำให้ราคาสินค้าอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นและไปลดการบริโภคและการขายสินค้า มีรายงานว่ายอดขายอาหารทะเลในปี 2022 ลดลงร้อยละ 3.8 เหลือ 16.2 พันล้านเหรียญฯ อาหารทะเลสดและแช่เยือกแข็งได้รับผลกระทบมากที่สุด ยอดขายลดลงเหลือ 6.5 พันล้านเหรียญฯ (-8.45%) และ 1 พันล้านเหรียญฯ  (-2.74%) ตามลำดับ ขณะที่ยอดขายอาหารทะเลกลุ่ม shelf-stable รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง มีมูลค่า 2.67 พันล้านเหรียญฯ ขยายตัวร้อยละ 5.6  สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น อาหารกระป๋องและอาหารแห้ง มากกว่าอาหารสดและอาหารแช่เยือกแข็ง

สภาวะเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารทะเล โดยเปลี่ยนผู้บริโภคที่บริโภคอาหารทะเลเป็นประจำ ให้เป็นการบริโภคอาหารทะเลเป็นครั้งคราว และลดการเติบโตของการบริโภคของกลุ่มผู้บริโภคที่บริโภคอาหารทะเลเป็นครั้งคราว ซึ่งไปจำกัดโอกาสเติบโตของตลาด (ยังไม่มีรายงานอัตราการบริโภคต่อคนต่อปีสำหรับปี 2022)

อุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า การชะลอตัวของยอดขายในปี 2022 เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว เป็นผลจากถูกนำไปเปรียบเทียบกับยอดขายในปี 2020 และ 2021 ที่สูงผิดปกติ ทั้งนี้ คาดว่าการค้าและการบริโภคอาหารทะเลในสหรัฐฯ จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มดีขึ้นในปี 2023

  1. การนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยระยะ 5 ปี (2018 – 2022) ในภาพรวม แสดงให้เห็นว่าปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลสดและแช่เยือกแข็งและอาหารทะเลแปรรูปจากประเทศไทยยังคงเติบโตทั้ง 2 รายการ แต่การนำเข้ากุ้งสดและแช่เยือกแข็งยังคงชะลอตัว

2.1 มูลค่านำเข้า (ล้านเหรียญฯ) อาหารทะเลสดและแช่เยือกแข็งจากประเทศไทย 15 อันดับแรก – โดยในปี 2022 มูลค่าการนำเข้าปลาแช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

2.2 ปริมาณ (กิโลกรัม) นำเข้าอาหารทะเลสดและแช่เยือกแข็งจากประเทศไทย 20 อันดับแรก

2.3 มูลค่านำเข้า (ล้านเหรียญฯ) อาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดจากประเทศไทย

2.4 ปริมาณ (กิโลกรัม) นำเข้าอาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดจากประเทศไทย

3.  อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปไทยควรติดตามสถานการณ์และแนวนโยบายการนำเข้าอาหารทะเลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมายตลอดระบบห่วงโซ่อุปทาน

——————————————————–

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login