นาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี ในสังกัดพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP) มีดำริให้ยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์หรือ Electrofuels หรือ E – Fuel (Synthetic Fuel) ได้รับการลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกับยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้า (EV) โดยระหว่างการประชุมคณะรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2023 กับสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการสรุปผลการประชุมออกมาว่า “จะห้ามใช้รถยนต์สันดาป ในปี 2035 เป็นต้นไป และจะให้ใบอนุญาตรถยนต์ชนิด EV และ E-fuel ด้วย” ซึ่งนาย Lindner ให้ข้อมูลว่า “E – Fuel จะกลายเป็นเชื้อเพลิงอีกหนึ่งชนิดที่จะเข้ามาสนับสนุนแผนการผลักดันการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)”
ขณะนี้ ทางการได้ร่างกฎหมายลดหย่อนภาษีแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการที่จะละเว้นภาษีรถยนต์ , เปลี่ยนระบบจัดเก็บภาษีที่คิดกับผู้ผลิตรถยนต์ , ลดภาษีสรรพสามิต E-Fuel ใน EU และอาจยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มใน E-Fuel ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องหาข้อสรุปกับคณกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของ EU ก่อนโดยนาย Lindner เห็นว่า “การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อลดโลกร้อน นั้น ต้องใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าช่วยและอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในการลดปริมาณ Carbon Dioxide นั่นก็คือ E-Fuel ด้านนาย Volker Wissing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของเยอรมนี สังกัดพรรค FDP ก็เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวในงานแสดงสินค้ารถยนต์ IAA ว่า “ถึงตอนนี้นาย Wissing เองก็ยังไม่เชื่อว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถครองตลาด และเป็นนวัตกรรมพลังงานทางเลือกในยานยนต์เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย” และได้กล่าวต่อไปอีกว่า “เราไม่สามารถคาดเดาอนาคตของเทคโนโลยีในอีก 20 ปีข้างหน้าได้ เพราะบางทีนวัตกรรมอย่างพวก E-Fuel และพลังงานไฮโดรเจน อาจมีมูลค่ามากกว่ารถยนต์ EV เสียอีก”
รัฐบาลเยอรมันได้ออกมากดดันประเทศสมาชิก EU ในเรื่องการละเว้นภาษีสำหรับ E-Fuel เพื่อที่จะผลักดันรถยนต์ที่ไม่ปล่อยก๊าซมลพิษและเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานต่างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะส่วนใหญ่มองว่า ยานยนต์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่าและได้เตือนว่า E-Fuel อาจทำให้การที่คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดช้าลง โฆษกคณะกรรมาธิการ EU ได้ออกมากล่าวว่า “ในเวลานี้เรากำลังปรับกรอบแผนข้อบังคับ มอก. EURO-6 อยู่ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะนำแผนดังกล่าวไปนำเสนอให้กับผู้เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศสมาชิกต่อไป” อย่างไรก็ตามโฆษกฯ ก็ไม่ได้บอกให้ทราบว่า กระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลานานขนาดไหน
จาก Handelsblatt 15 กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)