ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นาย Gergely Gulyás รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่าคณะรัฐมนตรีฮังการีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการตรึงราคาสินค้าอาหารพื้นฐานสำหรับสินค้า อาทิเช่น แป้งสาลีอเนกประสงค์ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำตาลทรายนม UHT ไขมันต่ำ 2.8% เนื้อหมูส่วนสะโพก และเนื้อไก่ส่วนอก ปีก และหลัง จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 เป็นการตรึงราคาไว้ ณ ระดับราคาค้าปลีก ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 รวมถึงไข่ไก่ขนาดกลางและมันฝรั่ง ซึ่งตรึงไว้ ณ ระดับราคาค้าปลีก ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน รัฐบาลฮังการีระบุว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อรายเดือนน่าจะลดลงสู่เลขหลักเดียวได้ภายในปีนี้ ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 รัฐบาลฮังการีจะใช้มาตรการใหม่ที่ช่วยควบคุมภาวะเงินเฟ้อในฮังการี เช่น ระบบตรวจสอบราคาสินค้าออนไลน์ และการบังคับร้านค้าปลีกที่มีสาขาและซุปเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในประเทศจัดทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าช่วยผู้บริโภค นอกจากนี้ สำหรับแรงงานที่ได้รับคูปองเงินสด SZÉP Card[1] เป็นสวัสดิการจากนายจ้าง ก็จะสามารถซื้อสินค้าอาหารบางประเภท ได้แก่ อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ขนมปังและขนมอบ รวมถึงผักและผลไม้ ด้วยบัตรดังกล่าวได้ด้วยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการียังคงสานต่อนโยบายขอความร่วมมือให้ร้านค้าปลีกที่มีสาขาและซุปเปอร์มาร์เก็ต ทุกแห่งในประเทศ ยกเว้นร้านขายของชำอิสระขนาดเล็กในชุมชน จัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอาหารพื้นฐาน 20 ประเภทต่อไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เช่น เนื้อสัตว์ปีก ชีส ขนมปัง ขนมอบ ผัก ผลไม้ เป็นต้น โดยกำหนดให้ในแต่ละสัปดาห์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต้องลดราคาขายของสินค้าอย่างน้อย 1 รายการ จากประเภทสินค้าทั้งหมด 20 ประเภทสินค้า โดยการดำเนินการทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบ
ข้อคิดเห็นของ สคต.
แม้ว่ารัฐบาลฮังการีจะระบุว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติที่สามารถจัดการได้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อรายเดือนน่าจะลดลงสู่เลขหลักเดียวได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 ประกอบกับสินค้าอาหารบางประเภทเริ่มลดราคาค้าปลีกลงแล้วในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติฮังการี อัตราเงินเฟ้อรายเดือนยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อรายเดือน ครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน) ของปี 2566 อยู่ที่ 25.7% 25.4% 25.2% 24.0% 21.5% และ 20.1% ตามลำดับ ดังนั้น สำนักงานสถิติฯจึงเห็นว่าเป้าหมายการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ภายในเลขหลักเดียวจึงอาจเป็นไปได้ยาก แม้จะมีปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนก็ตาม นอกจากนี้ สินค้าอาหารบางประเภทที่ลดราคาค้าปลีกลงในเดือนมิถุนายนนั้นเป็นผลมาจากมาตรการบังคับจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอาหารพื้นฐาน 20 ประเภท มิได้เกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลงแต่อย่างใด
อีกทั้ง เมื่อยกเลิกมาตรการตรึงราคาสินค้าอาหารแล้ว สินค้าที่เคยถูกตรึงราคาไว้เป็นระยะกว่าหนึ่งปีครึ่ง จะปรับราคาขึ้นทันที เพื่อชดเชยต้นทุนที่เสียไปในช่วงบังคับใช้มาตรการดังกล่าว โดยนาย György Raskó นักวิเคราะห์เศรษฐกิจรายหนึ่ง เห็นว่าราคาน้ำมันดอกทานตะวันจะปรับราคาขึ้นในช่วง 30-40% ส่วนเนื้อไก่และเนื้อหมูจะปรับราคาขึ้นราว 500-600 โฟรินท์ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ มาตรการทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าไม่ได้ครอบคลุมร้านขายของชำอิสระขนาดเล็กในชุมชน ฉะนั้น ผู้บริโภคในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีร้านสาขาของซุปเปอร์มาร์เก็ตตั้งอยู่ จะได้รับผลกระทบจากการปรับราคาสินค้ามากกว่าผู้บริโภคในเขตเมืองที่มีตัวเลือกการจับจ่าย
เมื่อพิจารณาสถานการณ์เงินเฟ้อในฮังการี ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน (Cost-Push Inflation) โดยเฉพาะราคาพลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 นับเป็นปัจจัยหลักซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการทุกหมวดหมู่ ในขณะที่ระดับความต้องการสินค้าและระดับรายได้ประชาชนยังเท่าเดิมหรือลดลงเล็กน้อย ส่งผลอำนาจการซื้อสินค้าของผู้บริโภคฮังการีลดลง
รูปภาพที่ 1: องค์ประกอบของอัตราเงินเฟ้อรายเดือนนับตั้งแต่ปี 2564-2566 จะเห็นได้ว่าราคาอาหารยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น (ที่มาของข้อมูล: ธนาคาร ING)
รูปภาพที่ 2: การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลโฟรินท์ต่อสกุลยูโร (ที่มาของข้อมูล: Pénzcentrum)
การอ่อนค่าของเงินสกุลโฟรินท์เป็นผลมาจากทั้งความผันผวนในตลาดเงินโลก และปัจจัยภายใน อันได้แก่
- เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรฮังการีมีมติให้ความเห็นชอบผ่านร่างรัฐบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) โดยประมาณการรายได้ไว้ที่ 2 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 3.92 ล้านล้านบาท) ประมาณการรายจ่ายไว้ที่ 40.7 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 4.18 ล้านล้านบาท) กำหนดการขาดดุลงบประมาณให้ไม่เกิน 2.5 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) หรือไม่เกิน 2.9% ต่อ GDP ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 3.9% ต่อ GDP และกำหนดสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะไม่เกิน 66.7% ของ GDP ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4% YoY และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตลอดปี 6% YoY
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการจัดเก็บรายได้จากแหล่งต่างๆ ภายในประเทศให้มากขึ้น เช่น การเก็บอัตราภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากบริษัทที่ประกอบธุรกิจธนาคาร ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจจัดจำหน่าย (Trading Company) เภสัชภัณฑ์ พลังงาน ประกันภัย และสายการบิน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลฮังการีมองว่าได้กำไรส่วนเพิ่มมหาศาลอยู่แล้ว
- เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ นาย Márton Nagy ให้สัมภาษณ์ว่าตนต้องการให้ธนาคารแห่งชาติฮังการีปรับนโยบายการเงินและขยายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมที่อยู่ในช่วง 2-4% เนื่องจากฮังการีอาจจะไม่สามารถทยอยปรับอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงอยู่ในกรอบดังกล่าวได้ภายในอนาคตอันใกล้ อย่างเร็วที่สุด คือภายในปี 2567 และอ้างว่า การขยายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยได้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนมาก มองว่าเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลฮังการีอาจบรรลุได้ยาก แม้แต่ธนาคารแห่งชาติฮังการีเองก็ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อฮังการีจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้เร็วที่สุดภายในปี 2568 ตลอดจน ข้อเสนอรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจฮังการีของอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซาและเงินเฟ้อ อีกทั้ง ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังรายงานว่า ดัชนีค้าปลีกประจำเดือนพฤษภาคมลดลงถึง 12.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2565 และปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคมก็ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปี 2565 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจฮังการีในปีนี้ยังคงชะลอตัว และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงวิเคราะห์ว่าในช่วงปี 2566 อาจเป็นปีที่เศรษฐกิจฮังการียังไม่ขยายตัวดีนัก และผู้บริโภคชาวฮังการีส่วนมากมีระดับรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในสหภาพยุโรป จึงนิยมให้ความสำคัญกับ ราคาขายเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเลือกพิจารณาซื้อสินค้าหรือบริการ หากสินค้าชนิดนั้นๆ มีคุณภาพใกล้เคียงกันจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า นอกจากนี้ ผู้บริโภคในฮังการีมองว่าสินค้าจากต่างประเทศมีภาพลักษณ์ว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพง ผู้บริโภคส่วนมากจึงมักเลือกสินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน ทว่าหากผู้ส่งออกไทยร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายในฮังการี ตั้งราคาขายที่เหมาะสม และนำเสนอคุณภาพสินค้าที่โดดเด่นกว่าสินค้าในประเทศ ก็อาจจะเป็นจุดขายให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอย หรือให้ความสำคัญกับแนวโน้มตลาดสมัยใหม่ เช่น การรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล หรืออาหารที่ปรุงมาสำหรับกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้านสุขภาพ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล:
- https://intellinews.com/hungary-s-parliament-approves-budget-with-questionable-targets-284025
- https://telex.hu/belfold/2023/07/10/akar-harmadaval-is-dragulhat-a-csirkemell-a-sertes-es-az-etolaj-az-arstop-kivezetesevel
- https://think.ing.com/snaps/hungarian-inflation-falls-on-food-deflation/
- https://think.ing.com/snaps/hungary-retail-sales-industrial-output-continue-to-plunge/
- https://www.agroinform.hu/gazdasag/dragulas-arsapka-kivezetes-tojas-liszt-cukor-tej-65694-001
- https://www.agroinform.hu/gazdasag/vasarloi-roham-fenyeget-mi-tortenik-augusztusban-az-uht-tejek-araval-65662-001
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-12/hungary-s-economy-chief-floats-idea-of-raising-inflation-target
- https://www.napi.hu/magyar-gazdasag/arstop-bolt-elelmiszer-dragulas-vasarlas.773884.html
- https://www.portfolio.hu/gazdasag/20230619/igy-valtoznak-a-szep-kartya-szabalyai-622658
- https://www.portfolio.hu/gazdasag/20230629/megjelent-igy-lesz-vege-az-arstopnak-625153
- https://www.reuters.com/article/hungary-budget-idUKL8N38T1O7
[1] คูปองเงินสด SZÉP Card เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่นายจ้างภาคเอกชนในประเทศฮังการีนิยมให้เป็นผลประโยชน์พิเศษของลูกจ้างที่นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือน (Fringe Benefit) นายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวงเงินในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี คูปองดังกล่าวสามารถใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวกับที่พักแรม การรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือโรงอาหารของที่ทำงาน การตรวจรักษาโรค กิจกรรมนันทนาการ กีฬา และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมบางประเภท โดยจะต้องตรวจสอบกับผู้ให้บริการ ณ สถานบริการนั้นๆ ก่อนว่ารับชำระเงินคูปองเงินสด SZÉP Card หรือไม่
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)