อินเดียประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดต่อสินค้า 3 ชนิดของจีนประกอบด้วย รถแม็คโครตักดินแบบล้อยาง แผ่นกระเบื้องยิปซั่ม และเครื่องจักรเลเซอร์ โดยวัตถุประสงค์ของการตอบโต้ในครั้งนี้เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศจากสินค้านำเข้าของจีนที่เข้ามาจำหน่ายในตลาดอินเดียทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย การประกาศใช้มาตรการในครั้งนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี ผ่านการแนะนำจากหน่วยงาน Directorate General Trade Remedies (DGTR) ซึ่งเป็นกลไกของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย
ตามประกาศของคณะกรรมการกลางภาษีทางอ้อมและศุลกากรของอินเดีย (CBIC) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวแล้วกับสินค้าแผ่นกระเบื้องยิปซั่มที่มีการเคลือบอย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง ด้วยการเก็บภาษีอากรดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้กับเครื่องจักรเลเซอร์ทั้งชนิดที่เป็นอุปกรณ์ทั้งตัวเครื่องหรือชนิดแบบนำเข้าอะไหล่มาประกอบในประเทศ(SKD) หรือชนิดสินค้าที่ประกอบด้วยอะไหล่จากภายในประเทศ(CKD) โดยเครื่องจักรเหล่านี้นำมาใช้เพื่อการตัดและการเชื่อม สำหรับรถแม็คโครตักดินแบบล้อยางจะอยู่ในรูปแบบของการนำเข้ามาแบบทั้งคัน (CPU) หรือแบบนำเข้าอะไหล่มาประกอบ (SKD) ซึ่งการบังคับใช้การเก็บอากรตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี เว้นแต่จะมีการเพิกถอน แทนที่หรือแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศ โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศเก็บภาษีอากรกับสินค้าบางชนิด อาทิ กระจกสำหรับเครื่องใช้ในภายในบ้าน และเส้นด้ายลินินบางชนิดจากจีน
ข้อมูลเพิ่มเติม
1.ภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี เว้นแต่จะมีการเพิกถอน แทนที่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศรวมถึงกระเบื้องยิปซั่มที่ผลิตโดยบริษัทบางแห่งในโอมานก็ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตราการดังกล่าว การจัดเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดเป็นมาตรการหนึ่งที่ทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมและสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมให้แก่อุตสาหกรรมภายในประเทศ การใช้มาตราดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการค้าระหว่างประเทศของอินเดียที่สอดคล้องต่อระบบการค้าระหว่างประเทศตามแนวทางขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งประเทศต่างๆ จะเปิดกระบวนการสอบสวนการทุ่มตลาดเพื่อประเมินผลกระทบของการนำเข้าสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าสินค้าชนิดเดียวกันต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ
2.ในช่วงปี 2565-2566 มูลค่าการส่งออกของอินเดียไปยังจีนคิดเป็น 15.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 98.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ถือเป็นการขาดดุลทางการค้า 83.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหตุผลสำคัญที่อินเดียขาดดุลการค้าสูงสุดกับจีนเนื่องจากตลาดอินเดียยังคงพึ่งพาการนำเข้าของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป จึงทำให้ปัญหาการขาดดุลทางการค้ายังคงไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลอินเดียจึงได้นำเสนอ นโยบาย Make in India ให้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาการขาดดุลการค้ากับจีนในทศวรรษต่อๆ ไป โดยตลาดจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย รองจากสหรัฐอเมริกา
ผลกระทบ
1.ความต้องการสินค้าไทยเพื่อทดแทนอาจเพิ่มสูงขึ้น: หากสินค้าจากจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ผู้นำเข้าอินเดียอาจพิจารณาหันมานำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันจากตลาดอื่น และสินค้าไทยจะกลายเป็นตัวเลือก ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยปรับตัวตามกลไกของตลาด
2.ลดการแข่งขันจากผู้ส่งออกจีน: เมื่อภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดมีผลบังคับใช้ต่อสินค้าทั้ง 3 ชนิด จะส่งผลให้ผู้ส่งออกจีนอาจเสียเปรียบด้านความสามารถทางการแข่งขันเพราะจะนำเข้าสินค้าที่ทำตลาดในอินเดียได้ยากขึ้น แต่จะกลายเป็นโอกาสของไทยในการคว้าส่วนแบ่งตลาดมาทดแทน
ข้อคิดเห็น
1.การที่อินเดียประกาศใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการนำเข้าสินค้าจากจีนทั้ง 3 ชนิดนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าให้แก่ประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันเพื่อทดแทนไปยังอินเดีย ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าและการทำตลาดใหม่สำหรับสินค้าไทยในตลาดอินเดีย ไทยอาจได้รับประโยชน์จากผลของมาตรการในครั้งนี้ในฐานะเป็นซัพพลายเออร์รายใหม่
2.หากพิจารณาถึงข้อมูลเชิงสถิติในปี 2565 การส่งออกไทยไปอินเดียสำหรับสินค้าเครื่องจักรเลเซอร์ (HS code 8456) คิดเป็นมูลค่า 3,637,784.70 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.19 สินค้าแผ่นกระเบื้องยิปซั่ม (HS code 680919) คิดเป็นมูลค่า 217,444.57 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 430.46 และส่วนประกอบเครื่องจักรสำหรับเจาะคว้าน (HS code 8431) คิดเป็นมูลค่า 11,535,898.87 เหรียญสหรัฐ หดตัวลงร้อยละ 7.02 สคต.เห็นว่า สินค้าทั้ง 3 ชนิดยังมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเจาะตลาดอินเดียเพื่อทดแทนสินค้าจากจีน ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาศึกษาประกาศของรัฐบาลอินเดียเพื่อทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดและสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับประเทศ รวมถึงผลกระทบของมาตราการทางภาษีในครั้งนี้ที่จะเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจไทยเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจกับอินเดียในระยะยาว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษามาตรการการนำเข้า ข้อจำกัด และความต้องการของคู่ค้าเป็นสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการด้านผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเฉพาะ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของไทยในตลาดอินเดีย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รัฐบาลอินเดียประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้า 3 ชนิดจากจีนเป็นเวลา 5 ปี