หน้าแรกTrade insightข้าว > รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศห้ามส่งออกต่อสินค้าข้าว

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศห้ามส่งออกต่อสินค้าข้าว

          กระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกและส่งออกต่อ (Re-export) สินค้าข้าว ชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 เพื่อรักษาอุปทานข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ภายหลังจากรัฐบาลอินเดียประกาศคำสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เพื่อต้องการให้มีปริมาณข้าวเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและรักษาระดับราคาข้าวในประเทศให้คงที่ นอกจากนี้ ฤดูมรสุมปีนี้อาจส่งผลเสียหายต่อผลผลิตข้าวจำนวนมากที่ปลูกเมื่อเดือนมิถุนายน และจะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศได้ ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกข้าวหรือปริมาณ 55.4 ล้านเมตริกตันในปีที่แล้ว อินเดียยังเป็นหนึ่งในแหล่งนําเข้าข้าวที่สําคัญสําหรับผู้นําเข้าข้าวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

การค้าข้าวโลก

จากสถิติมูลค่าการส่งออกข้าวทั่วโลกล่าสุดในปี 2565 ตลาดข้าวโลกมีมูลค่ารวมประมาณ 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นมูลค่าการส่งออกข้าวของอินเดียอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 32.1 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกของตลาดข้าวโลก โดยแยกเป็นข้าวบาสมาติ มูลค่า 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13.4 และข้าวชนิดอื่นๆ มูลค่า 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 18.7 ในขณะที่เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกข้าว 4.85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดเป็นลำดับที่ 2 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 14.4 ส่วนไทยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3.94 พันเหรียญสหรัฐฯ  สูงเป็นลำดับ 3 ครองสัดส่วนร้อยละ 11.7 ของมูลค่าข้าวในตลาดโลก

          ปริมาณการส่งออกข้าวในตลาดโลกซึ่งมีประมาณ 48.4 ล้านตัน อินเดียมีปริมาณการส่งออกข้าวรวมในสัดส่วนที่สูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 46 หรือเท่ากับประมาณ 22.25 ล้านตัน แยกเป็นข้าวบาสมาติ 4.4 ล้านตัน หรือร้อยละ 9.1 และข้าวอื่นๆ 17.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 36.9

สถานการณ์การนำเข้าข้าวในยูเออี

          จากสถิติ ITC Trade Map แสดงสถิติการนำเข้าข้าวของยูเออีจากอินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม ไทย สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย แทนซาเนีย และศรีลังกา เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าระหว่างปี 2563-2565* (*Mirror data) มีดังนี้

ปี 2563 มูลค่า 587 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2564 มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง 14.8%)

ปี 2565 มูลค่า 723 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 44.5%)

ความเห็นของผู้นำเข้ายูเออี

          ผู้บริหาร Modern Trade ชั้นนำของยูเออีคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาชั่วคราวที่จะได้รับการแก้ไข โดยจะพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เวียดนามและปากีสถานมากขึ้น เพื่อเติมเต็มช่องว่างอุปทานของข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ

นาย Kamal Vachani ผู้อํานวยการและหุ้นส่วนของ Al Maya Group กล่าวว่า “นี่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวชั่วคราวเนื่องจากราคาจะมีเสถียรภาพ และสถานการณ์จะเป็นปกติในไม่ช้า เมื่อฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้นและอุปทานจะกลับมาเป็นปกติ”

ดร. Dhananjay Datar ประธานและกรรมการผู้จัดการ Al Adil Trading กล่าวว่าข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติหลายสายพันธุ์ถูกนําเข้ามาในยูเออีก่อนที่อินเดียจะตัดสินใจห้ามการส่งออก เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลงทําให้ราคาในตลาดท้องถิ่นสูงขึ้น  และตลาดทางเลือกที่จะนำเข้า ได้แก่ ไทย เวียดนาม และปากีสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุด ส่วนข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติกคิดเป็นประมาณร้อยละ 45 ของการบริโภคในยูเออี ซึ่งส่วนใหญ่บริโภคโดยชาวอินเดียใต้ พร้อมเสริมว่าราคาข้าวอาจเพิ่มขึ้น 40%

สถานการณ์ล่าสุด

กระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกและส่งออกต่อ (Re-export) ข้าว ชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 เพื่อรักษาอุปทานข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ปัจจุบันตลาดส่งออกต่อของยูเออี ได้แก่ โอมาน เบนิน ซิมบับเว สหรัฐอเมริกา และโซมาเลีย

ประเภทข้าวครอบคลุมข้าวทั้งหมดที่ยูเออีนำเข้าจากอินเดียหลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวสีทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงข้าวที่นำเข้าผ่านเขต Free Zone ทั้งนี้การระงับดังกล่าวอาจจะขยายเวลาออกไปโดยอัตโนมัติเว้นแต่จะมีการประกาศยกเลิก

บริษัทค้าข้าวที่ต้องการส่งออกหรือส่งออกต่อข้าวไม่ว่าจะเป็นข้าวนำเข้าจากอินเดียหรือที่อื่น ๆ จะต้องยื่นคําขอไปยังกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อขอรับใบอนุญาตที่มีอายุ 30 วันนับจากวันที่ออกและต้องส่งไปยังเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อให้ขั้นตอนเสร็จสมบูรณ์

การส่งออกของไทยไปยูเออี

ยูเออีเป็นตลาดส่งออกข้าวของไทยอันดับที่ 51 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.18 ของการส่งออกข้าวของไทยไปทั่วโลกปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.)  ประเภทข้าวที่ไทยส่งออกไปยูเออี ได้แก่

ข้าวนึ่ง 58%

ข้าวขาว 20%

ข้าวหอมมะลิ 14%

ข้าวเหนียว 5%

ข้าวกล้อง  3%

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ

นโยบายห้ามส่งออกข้าวของอินเดียน่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวโลก โดยคาดว่าราคาข้าวโลกในปี 2566 อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.8%  ส่งผลให้ข้าวไทยราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่าง ไทย เวียดนาม และปากีสถาน อาจได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการที่ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีความต้องการนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวอินเดียที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดข้าวในยูเออีกลับมา  อย่างไรก็ตาม อุปสรรคประการหนึ่งที่สำคัญคือราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวจากเวียดนาม

*****************************

ที่มา : The National Newspaper

Login