หน้าแรกTrade insight > รัฐบาลบรูไนฯ เตรียมงบ 5.96 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

รัฐบาลบรูไนฯ เตรียมงบ 5.96 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรับมือต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

ที่มา : สำนักข่าว The Scoop

Dato Dr Hj Mohd Amin Liew Abdullah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจของบรูไนฯ กล่าวว่ารายรับของรัฐบาลเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2022/23 จากรายงานของรัฐบาลฯ เป็นที่น่าสนใจว่าการเกินดุลการค้ามีตัวเลขการเกินดุลเล็กน้อยที่ 100 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้นร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 2565 ขณะที่ราคาก๊าซเพิ่มขึ้นสองเท่า แม้ว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะยังคงสูงขึ้นในปี 2566 โดยเฉลี่ยประมาณ 83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่รัฐบาลบรูไนฯ ได้ประมาณการรายได้ของรัฐในปีหน้าไว้ที่ 2.99 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้ง รัฐมนตรีฯ กล่าวว่ารัฐบาลคาดว่าจะขาดดุลการค้าที่ 2.97 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2023/24 แม้ว่าตัวเลขการขาดดุลจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การผลิตน้ำมันและก๊าซในประเทศ ราคาพลังงานโลก ความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐ และการเติบโตของภาคปลายน้ำของบรูไน

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของบรูไนอาจถูกลดทอนลงโดยแนวโน้มทั่วโลกที่อ่อนแอ เศรษฐกิจของบรูไนฯ คาดว่าจะยุติการชะลอตัวที่ยืดเยื้อและเติบโตขึ้นร้อยละ 2.6 ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวประมาณร้อยละ 2.3 ในปี 2565 อีกทั้ง การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้งและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในภาคส่วนน้ำมันและก๊าซจะเป็นตัวกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม Dato Dr Hj Mohd Amin กล่าวว่าการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของบรูไนฯ อาจถูกควบคุมโดยปัจจัยหลายประการ เช่น การหยุดชะงักของการผลิตพลังงานในประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่สูง แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่องที่อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ความเห็น สคต.

แม้ว่าบรูไนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในอาเซียนเพียง  428,962 คน และมีพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ แต่บรูไนจัดเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพสูงด้านการค้าและเป็นตลาดที่สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อีกทั้ง ประชากรมีกำลังซื้อสูง ชาวบรูไนจึงนิยมสินค้าแบรนด์เนมและสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง รวมถึงสินค้าแฟชั่น และทันสมัยแบบตะวันตก นอกจากนี้ ชาวบรูไนยังให้ความสำคัญมากกับคุณภาพสินค้า และประโยชน์ใช้สอยซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงประเทศบรูไนฯ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ บรูไนมีรายได้หลักจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ชาวบรูไนฯ สนใจสินค้าประเภทอาหารและผลิตภัณฑ์จากไทย โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทาน อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป และไอศกรีม เป็นต้น เนื่องจากการผลิตของบรูไนยังไม่เพียงพอ ทำให้บรูไนต้องพึ่งพาการนำ เข้าสินค้าอาหารจำนวนมากจากต่างประเทศ ประกอบกับพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภคของชาวบรูไนที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือปัจจุบันชาวบรูไนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่สินค้าอาหารของไทยมีความได้เปรียบด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการยอมรับจากชาวบรูไน ทั้งนี้สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในบรูไนควรได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจาก Ministry of Religious Affairs ของบรูไนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในตลาดซึ่งประชากรเกือบร้อยละ 70 เป็นชาวมุสลิม รวมถึงควรแสดงเครื่องหมายฮาลาลให้เห็นชัดเจนบนฉลากสินค้าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าบรูไนฯ ในการทำตลาดอีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login