ที่ผ่านมานาย Robert Habeck รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการทางสภาพภูมิอากาศสหพันธ์ฯ ในสังกัดพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ได้เคยกล่าวไว้ว่า “จะมอบเขี้ยวเล็บให้แก่สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น” ซึ่งต่อมา รัฐบาลเยอรมันก็ได้ผ่านกฎหมายและดำเนินการตามนโยบายของนาย Habeck ที่เคยกล่าวไว้ โดยได้แก้ไขกฎหมายการรักษาสิทธิประโยชน์ทางการค้า (GWB – Gesetzes gegen Wettbewerbsbeschränkungen) ครั้งที่ 11 เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ นาย Habeck เห็นว่า “การแข่งขันด้านการค้าอย่างเป็นธรรม จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องผู้บริโภค จากการขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่ยุติธรรมได้ และการแข่งขันอย่างเป็นธรรมด้านนวัตกรรมจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศดีขยายตัวได้ดีขึ้น ตลอดจนสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้” การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดอย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ทางการค้า ผ่านการแก้ไขเกฎหมายการรักษาสิทธิประโยชน์ทางการค้าให้ทันสมัยขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ยังต้องผ่านการอภิปรายในรัฐสภา โดยเนื้อหาของกฎหมายนี้มีความทันสมัยและมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm) ซึ่งนาย Gerrit Rixen ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันสิทธิประโยชน์ทางการค้าและหุ้นส่วนของบริษัททนาย KPMG ชี้แจงว่า “เป็นเรื่องที่ชัดเจนและแน่นอนว่า บริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด ย่อมไม่ต้องกลัวผลกระทบจากการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้” แต่หากมีการส่งสัญญาณมาว่า “กลุ่มธุรกิจใดที่เข้าข่ายหรือเริ่มมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ ได้ทันที” ซึ่งในอดีต “การตรวจสอบกลุ่มธุรกิจ (Sektoruntersuchung)” ในลักษณะนี้ สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ก็แค่ทำรายงานผลการตรวจสอบให้รัฐบาลทราบ แต่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายต่อกลุ่มธุรกิจนี้แต่อย่างใด ซึ่งในอนาคตการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจจะมีผลแตกต่างออกไป โดยสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ จะสามารถจัดการกับเอกชนที่กระทำการให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นได้ โดยนาย Rixen กล่าวว่า “กฎหมายฉบับนี้จะมอบอำนาจให้กับสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ จัดการกับบริษัทเหล่านี้” โดยสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ จะสามารถบังคับให้เอกชนที่ทำการธุรกิจในลักษณะการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเปิดตลาดให้กับคู่แข่งเข้ามาได้ และสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ยังจะสามารถสั่งหยุดแนวโน้มการกระจุกตัวทางธุรกิจ หรือสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ก็ยังสามารถ ใช้ “ทางเลือกสุดท้าย (Ultima Ratio)” อย่างเช่นการสั่งแยกตัวผู้ที่โดดเด่นในตลาดจนทำให้จนทำให้การแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามนาย Rixen ก็เห็นว่า อำนาจสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ได้รับมาเพิ่มนี้อาจจะขัดกับข้อกฎหมายบางข้อในรัฐธรรมนูญได้ และกล่าวว่า “อำนาจที่ได้มานี้ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และไม่ได้คำนึงว่า มูลค่าของบริษัทหรือบางส่วนที่ลดลงนี้จะอย่างมีนัยสำคัญหากต้องมีการบังคับให้แยกตัวเกิดขึ้น”
ในอดีตหากสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ เห็นว่า มีการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ในทางทฤษฎีสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ก็สามารถที่จะบังคับใช้มาตรการ “Gewinnabschöpfung” ได้ (ในกฎหมายของเยอรมัน Gewinnabschöpfung หมายความว่า รัฐมีตัวเลือกการลงโทษทางกฎหมายที่หลากหลายต่อสำหรับพฤติกรรมการกระทำผิดกฎหมายของผู้ละเมิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมซึ่งจะทำให้ผู้ที่ละเมิดมองเห็นว่า การกระทำดังกล่าว “ไม่คุ้ม” ที่จะทำ) แต่ในทางปฏิบัติแล้วอุปสรรคในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนั้นสูงมาก จึงแทบจะไม่มีการนำมาใช้งานจริงเลย แต่หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น หากมีการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ ก็สามารถที่จะบังคับใช้มาตรการ “Gewinnabschöpfung” เรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 1% ของยอดจำหน่ายสินค้า และบริการที่มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม นาย Rixen กล่าวว่า “ในทางทฤษฎีแล้วแน่นอนที่เอกชนสามารถหักล้างสมมติฐานที่ตั้งขึ้นได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเอกชนเองก็จะต้องพิสูจน์ว่า บริษัทไม่ได้ทำยอดจำหน่าย (ที่ถูกเรียกเก็บ) ให้ทราบ” ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในเวลานี้ที่ภาคเอกชนจะต้องดูว่า ตัวเองอยู่ใน “กลุ่มธุรกิจ” และอยู่ใน “ตลาด” ใดบ้าง นาย Rixen กล่าวว่า “มีตัวอย่างมากมายจากแนวปฏิบัติของหน่วยงานรักษาสิทธิประโยชน์จากการผูกขาด และจากศาล ซึ่งเป็นแนวทางแรกที่รวดเร็วที่จะสามารถดูได้ว่า เราอยู่ในธุรกิจใด” ในอนาคต “การตรวจสอบกลุ่มธุรกิจ” จะมีความสำคัญมากขึ้น และไม่ได้เป็นการตรวจสอบเฉพาะเชิงทฤษฎีอีกต่อไป แต่หากสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ เห็นว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นก็จะส่งผลในเชิงปฏิบัติอย่างรวดเร็ว นาย Rixen กล่าวส่งท้ายว่า “สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ฯ สามารถบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว”
Handelsblatt 15 พฤษภาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)