กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) มีแผนเพิ่มการสนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงบ้านร้างเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยจะสนับสนุนบริษัทเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO) ที่ดำเนินการรีโนเวทบ้านร้าง โดยจะให้เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 เพราะหากปล่อยให้จำนวนบ้านร้างเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบกับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกันอัคคีภัย ด้านสุขอนามัย ฯลฯ นอกจากนี้ การปรับปรุงบ้านร้างและนำกลับมาใช้ประโยชน์ยังเป็นการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยมือสองอีกด้วย
ปี 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทบทวนมาตรการการดำเนินโครงการเกี่ยวกับบ้านร้างครั้งใหญ่ โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกรณีซื้อบ้านร้างและนำมารีโนเวทใหม่ซึ่งเป็นการปรับปรุงบ้านร้างและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในการเป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่เพื่อให้บริการต่างๆแทนการทำลายบ้านทิ้ง แต่หากเป็นการทุบบ้านร้างทิ้งจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 2 ใน 5 นอกจากนี้ หากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าของบ้านร้างต้องการสำรวจเพื่อหาวิธีนำบ้านร้างกลับมาใช้ประโยชน์ รัฐบาลก็จะช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสำรวจสูงสุดกึ่งหนึ่งอีกด้วย เป็นการผลักดันการแก้ปัญหาบ้านร้างร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น มาตรการการแก้ปัญหาบ้านร้างจึงมีความสำคัญอย่างมาก
จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร (Minstry of Internal Affairs and comunications) พบว่า จำนวนบ้านร้างทั่วประเทศในปี 2561 เท่ากับ 8.49 ล้านหลัง โดยมีบ้านร้างที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัยและถูกปล่อยทิ้งไว้ 3.49 ล้านหลัง หากไม่มีการดูแลที่ดี คาดการณ์ว่า บ้านร้างจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หรือ 4.70 ล้านหลังในปี 2573 หากจำนวนบ้านร้างเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่บ้านจะพังทลายลงมา นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ ความสะอาด และปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยอีกด้วย
สัดส่วนบ้านร้างในปี 2561 ของญี่ปุ่นเท่ากับร้อยละ 13.6 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อาจเป็นเพราะที่ต่างประเทศมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรีโนเวทบ้านเก่าเพื่อนำมาจำหน่ายสู่ท้องตลาด ทำให้ช่วยลดการเพิ่มจำนวนบ้านร้าง
ปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มครอบครัวและกำลังต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ภาครัฐและเอกชนจึงควรร่วมมือกันเร่งสร้างโครงสร้างเพื่อนำบ้านร้างกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และปล่อยออกสู่ตลาด
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ปัญหาจำนวนบ้านร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกปีเพื่อยับยั้งและชะลอจำนวนบ้านร้างที่ดูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้เป็นผลกระทบที่เกิดจากสังคมญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดของเด็กที่ต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะจำนวนประชากรที่ลดลงทำให้ขาดบุคลากรไม่ว่าจะด้านการประกันสังคม แรงงาน สังคมท้องถิ่นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หากประชากรของประเทศญี่ปุ่นลดลงจนกระทบความแข็งแกร่งของประเทศย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างแน่นแฟ้นกับประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานอย่างแน่นอน โดยญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แต่หากมองอีกด้าน ปัญหาบ้านร้างที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทนั้น ก็อาจเป็นโอกาสทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมตกแต่งภายในและภายนอก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ของไทยก็เป็นได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ฉบับที่ 38 ประจำวันที่ 17 – 23 มิถุนายน 2566
————————————–
อ้างอิงและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.nikkei.com/article/DGKKZO71891170U3A610C2EP0000/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)