หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ยูเออีเล็งเพิ่มยอดส่งออกต่อ (Re-export) หนุนเศรษฐกิจ

ยูเออีเล็งเพิ่มยอดส่งออกต่อ (Re-export) หนุนเศรษฐกิจ

Shiekh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับ     เอมิเรตส์และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวาระแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการส่งออกต่อ พ.ศ. 2570  (National Agenda for Re-Export Development 2030)  ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกต่อ (Re-export) จากยูเออีให้ขยายตัวเพิ่มเป็นสองเท่าในอีกเจ็ดปีข้างหน้า ผ่านโครงการริเริ่มและแผนงานจำนวน 24 แผน ที่จะช่วยเสริมสร้างและขยายตลาดส่งออกต่อให้เพิ่มมากขึ้นขยายหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกการส่งออกต่อของยูเออีให้เพิ่มมากขึ้น

Dr. Thani Al Zeyoudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ กล่าวเสริมว่านโยบายขยายการส่งออกต่อของประเทศให้เพิ่มเป็นสองเท่ามีส่วนสําคัญต่อทั้งเศรษฐกิจของยูเออีและในฐานะเป็น Gateway เชื่อมต่อโลก เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ โลจิสติกส์ ส่งผลให้ปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่ยูเออีอย่างไม่ขาดสาย การส่งออกต่อจึงมีบทบาทโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับในฐานะกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยูเออีให้เติบโตอย่างยั่งยืน

การส่งออกต่อเป็นส่วนสําคัญของการค้าโลกมาโดยตลอด เมืองหรือประเทศที่เชี่ยวชาญในการส่งออกต่อหรือเรียกว่า entrepôts กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน โดยใช้เครือข่ายเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดน และนำเสนอโซลูชั่นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คลังสินค้าขั้นสูง บริการทางการเงินและการประกันภัย ยิ่งประเทศใดส่งออกต่อมากเท่าไหร่ อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ยิ่งเจริญรุ่งเรืองและขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น

มูลค่าการส่งออกต่อของยูเออี

ในปี 2565 มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของยูเออี สูงถึง 0.61 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการส่งออกต่อคิดเป็นร้อยละ 27.5  ของทั้งหมดหรือประมาณ 167.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ยูเออีเป็นหนึ่งในห้าศูนย์กลางการส่งออกต่อของโลก โดยมีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทางทะเลทั้งหมดผ่านท่าเรือของยูเออีคิดเป็นร้อยละ 2.4 และในปี 2564 มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้าทะลุ 20 ล้าน TEUs

สินค้าที่ส่งออกต่อในปี 2565 มูลค่าสูงสุด ได้แก่ โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ คิดเป็นร้อยละ 18.3 รองลงมาคือเพชร รถโดยสารและขนส่ง เครื่องประดับอัญมณี ที่สําคัญยูเออีเป็นผู้ส่งออกต่อข้าวชั้นนําของโลก เป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่อันดับ 3 เป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับ 5 และเป็นผู้นําในการส่งออกต่อชา โดยทําการค้ากับ 154 ประเทศ     มีตลาดรองรับหลัก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อินเดีย โอมาน คูเวต จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม โดยอิรักและสหรัฐอเมริกามีการเติบโตเร็วที่สุดในปี 2565

จากข้อมูลล่าสุดพบว่าการส่งออกต่อของยูเออีมีสัดส่วนร้อยละ 6.6 ของ GDP หรือประมาณ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถสร้างงานประมาณ 1.3 ล้านตําแหน่ง ในภาคธุรกิจด้านโลจิสติกส์และบริการการค้าที่เกี่ยวข้อง ภาคการธนาคารและการเงิน การประกันภัย การสื่อสาร ภาคบริการ การขนส่งการดู ด้านสุขภาพและนันทนาการ

ดังนั้นนโยบายเพิ่มการส่งออกต่อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จะช่วยส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยกระตุ้นภาคบริการ เช่น การประกันภัยและบริการการค้าต่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลก็จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมากขึ้น

นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ

รัฐบาลยูเออีเตรียมแผนงานเริ่มต้น 24 โครงการเพื่อช่วยสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการส่งออกต่อของประเทศ   โดยจะเริ่มทยอยเปิดตัวในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า  ทั้งนี้จะเน้นไปที่สามประเด็นหลัก ได้แก่ การขยายการเข้าถึงตลาดส่งต่อโดยการเพิ่มความสัมพันธ์กับตลาดที่มีอยู่ผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPA) ผ่านสำนักงานตัวแทนการค้า 50 แห่งทั่วโลก และโดยการหาตลาดใหม่ หาผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้จะปรับปรุงความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อลดภาระผู้ส่งออกต่อ จัดหาคลังสินค้าปลอดศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์บางประเภท รัฐบาลวางแผนที่จะเปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเพื่อให้ง่ายต่อการนําเข้าและส่งออกบรรจุภัณฑ์และสินค้าฝากขายขนาดเล็ก รวมทั้งช่วยผู้ส่งออกในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมของการส่งออกต่อในยูเออี ได้แก่

  1. สถานที่ตั้งเชิงกลยุทธ์: อยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญทำให้เป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างทวีปต่างๆ
  2. เขตปลอดอากร (Free Zone): รัฐบาลยูเออีได้จัดตั้งเขตปลอดอากรหลายแห่ง โดยเสนอสิ่งจูงใจต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีและขั้นตอนทางศุลกากรที่คล่องตัว ซึ่งดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้ตั้งศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังสินค้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออกต่อ
  3. นโยบายที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ: นโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจ ปรับเปลี่ยนกฎหมายต่างๆ ลดค่าธรรมของหน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ
  4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน: โดยรัฐบาลได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก เช่น ท่าเรือ สนามบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า
  5. การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ: เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การค้าส่งออกต่อจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงนี้

ดังนั้นยูเออีจึงยังคงเป็นหนี่งในประเทศที่มีศักยภาพและเป็นประเทศเป้าหมายของตลาดส่งออกสินค้าของไทยในภูมิภาค ทั้งนี้ สถิติล่าสุด ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 ไทยและยูเออีมีมูลค่าการค้ารวม 263,184 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 44,299 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) อัญมณีและเครื่องประดับ 3) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และการนำเข้ามูลค่า 218,884 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำมันดิบ 2) น้ำมันสำเร็จรูป 3) สินแร่โลหะ 4) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 5) ก๊าซธรรมชาติ

*********************

khaleej times

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login