หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ยุโรปกลางกับการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนและกระจายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าจากความสนใจลงทุนจากนักธุรกิจจีนและเอเชีย

ยุโรปกลางกับการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนและกระจายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าจากความสนใจลงทุนจากนักธุรกิจจีนและเอเชีย

 ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 29 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

 

สถาบันวิจัยเชิงนโยบาย Mercator Institute for China Studies และ Rhodium Group เปิดเผยรายงานการศึกษาแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจีนในภูมิภาคยุโรปฉบับล่าสุด ระบุว่าการลงทุนของจีนในสหภาพยุโรปกำลังเปลี่ยนจากการควบรวมและซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) ไปสู่การลงทุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยการก่อตั้งบริษัทสาขาหรือการลงทุนใหม่ (Greenfield Investment) คิดเป็นสัดส่วน 57% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จากจีนในสหภาพยุโรปแซงหน้าการลงทุนแบบ M&A เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551

 

ตัวอย่างการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจากนักลงทุนจีน อาทิ

  • บริษัท Envision AESC สัญชาติจีน ตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับยี่ห้อ Renault ขนาดกำลังผลิต 30 GWh ต่อปี ณ เมือง Douai ประเทศฝรั่งเศส
  • บริษัท SVOLT สัญชาติจีน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรถยนต์ยี่ห้อ Great Wall Motors ตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่งสำหรับแบรนด์ของตนเองในประเทศเยอรมนี
  • บริษัท Great Wall Motors ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (R&D) ของตนในประเทศออสเตรีย และเริ่มเปิดตลาดโรมาเนียและบัลแกเรีย
  • บริษัท NIO และ Xpeng สัญชาติจีน เปิดโชว์รูมสำหรับรถยนต์ของตนแห่งแรกในตลาดยุโรป ณกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เฉพาะในฮังการี ก็มีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลฮังการีเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ อาทิ

  • บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL) สัญชาติจีน หนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 14 GWh ต่อปี ณ เมือง Debrecen ประเทศฮังการี ในวงเงินลงทุน 3 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี
  • บริษัท BYD สัญชาติจีน ตั้งโรงงานประกอบรถเมล์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ณ เมือง Komárom ประเทศฮังการี ในวงเงินลงทุน 2 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 620 ล้านบาท) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 925 ล้านโฟรินท์ (ประมาณ 92.5 ล้านบาท)
  • บริษัท Novation Tech สัญชาติอิตาเลียน ลงทุนขยายไลน์การผลิตชิ้นส่วน Composite ซึ่งเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยพลาสติกและโลหะแผ่นเสริมแรง สำหรับการผลิตยานยนต์ ณ โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมโพสิต ในเมือง Szeghalom ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฮังการี ในวงเงินลงทุน 3 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 130 ล้านบาท) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 450 ล้านโฟรินท์ (ประมาณ 46 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทฯ จะจ้างแรงงานที่มีทักษะเพิ่มเติมอย่างน้อย 50 คน จากเดิมประมาณ 400 กว่าราย
  • รถยนต์ยี่ห้อ BMW ลงทุนเปิดโรงงานการผลิตรถยนต์รุ่นใช้พลังงานไฟฟ้า ภายใต้แพลตฟอร์มรุ่นใหม่ Neue Klasse ณ เมือง Debrecen ทางทิศตะวันออกของฮังการี ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านยูโร (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 1.23 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1.3 พันล้านบาท) ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีกำหนดเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2565 และมีกำหนดสร้างเสร็จภายในปี 2568 ขณะนี้อยู่ในช่วงการประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนต่างๆของโรงงาน ซึ่งรวมถึงออฟฟิศบริหารส่วนกลางและศูนย์ฝึกอบรมแรงงาน บริษัทแม่ BMW AGในเยอรมนีคาดว่า จะสามารถจ้างแรงงานในโรงงานในฮังการีได้ประมาณ 1,000 ราย และมีกำลังผลิตรถยนต์ได้สูงสุด 150,000 คันต่อปี
  • แบรนด์ Mercedes–Benz ในเครือของบริษัท Daimler AG ลงทุนขยายไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน แบบ SUV ขนาดเล็กรุ่น EQB ณ โรงงานประกอบรถยนต์เมือง Kecskemét ทางใต้ของฮังการี โดยกระบวนการผลิตจะมุ่งให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2565 ใช้เงินลงทุน 5 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 1.5 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1.6 พันล้านบาท) เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะจ้างแรงงานที่มีทักษะเพิ่มเติมหลักร้อยคน เพิ่มเติมจากพนักงานเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 4,000 กว่าราย
  • บริษัท EcoPro BM สัญชาติเกาหลีใต้ ประกาศว่าจะก่อสร้างโรงงานผลิตขั้วแคโทด (Cathode) สำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery) ในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ณ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้ของเมือง Debrecen บนพื้นที่กว่า 440,000 ตารางเมตร วงเงินลงทุน 64 แสนล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2.736 หมื่นล้านบาท) การก่อสร้างเฟสแรกมีกำหนด แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยโรงงานดังกล่าวเป็นฐานการผลิตแห่งแรกนอกพื้นที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเดินเครื่องการผลิตเต็มกำลังแล้ว จะมีกำลังผลิตขั้วแคโทดสูงสุด 108,000 ตัน/ปี สามารถรองรับรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.35 ล้านคัน

 

สาเหตุที่นักลงทุนจากจีนและเอเชียหันมาสนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ที่เน้นสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ประกอบกับการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน ทำให้จีนเจาะตลาดสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น ในขณะที่ตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ลำดับสามรองจากจีนและสหรัฐฯ ยังคงเปิดกว้างสำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า อันจะเห็นได้จากสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ Tesla ในตลาดยุโรปที่สูงถึง 20%

 

เมื่อพิจารณาข้อจำกัดของตลาดยุโรปที่อาจส่งผลต่อโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ก็คือการที่สหภาพยุโรป มีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Transition) ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไม่รุนแรงเหมือนจีน อีกทั้ง ความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ายังตามหลังผู้ผลิตในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน นักลงทุนจากเอเชียจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการตั้งบริษัทสาขาในทวีปยุโรป เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่ง ตลอดจนใช้ประโยชน์จากระบบตลาดร่วมและระบบภาษีศุลกากรร่วมของสหภาพยุโรปในการจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดยุโรป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยสัญชาติเยอรมัน Allianz ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาความท้าทายของจีนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรป (The Chinese Challenge to the European Automotive Industry) โดยเสนอให้สหภาพยุโรปเพิ่มการคัดกรองการลงทุนของจีนในยุโรป จัดเก็บภาษีภายใต้หลักการต่างตอบแทนสำหรับรถยนต์นำเข้าจากจีน และพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเอง เพื่อรับมือกับการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ซึ่งหากไม่มีมาตรการรับมือที่เหมาะสม อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติยุโรป โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานที่ตั้งการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเยอรมนี สโลวาเกีย เช็ก และฮังการี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหลัก อาจสูญเสียผลกำไรเป็นอย่างมาก และคาดว่าอาจส่งผลต่อการหดตัวของรายได้เข้าประเทศสูงถึง 0.3-0.4% ของ GDP

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ภูมิภาคยุโรปกลางเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในยุโรป เนื่องจากมีจุดเด่นด้านต้นทุนแรงงานมีทักษะที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปตะวันตก รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก มีศักยภาพมากขึ้น จึงประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น Volkswagen, BMW และ Daimler ซึ่งมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคยุโรปกลางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นทั่วโลก และการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ผลิตในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

 

อย่างไรก็ดี การที่นักลงทุนจีนหันมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคยุโรปกลางอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และการสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ เนื่องจากอาจทำให้ความต้องการนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังคงมีโอกาสขยายธุรกิจด้วยการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ยังไม่มีการตั้งฐานการผลิตในยุโรปให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปกลางได้

 

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวในตลาดดังกล่าว ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสีเขียวทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาการลงทุนและวิจัยด้านการขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบไฟฟ้า (E-Mobility) การจัดการห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบไอที เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ขั้นสูง ตลอดจนการใช้แหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมรถยนต์ อันล้วนแล้วแต่เป็นเทรนด์สำคัญในวงการยานยนต์ระดับโลก เพื่อตอบสนองต่อการให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียวมากขึ้น

 

ประเทศฮังการีมีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และรัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา สินค้าไทยมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้มายังฮังการีอย่างต่อเนื่อง อันได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมประเภทวัสดุประกอบและชิ้นส่วนเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ เป็นต้น สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงขอนำเสนองานแสดงสินค้าในฮังการีปี 2567 ที่เกี่ยวข้อง คือ งานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ และเทคโนโลยียานยนต์ Automotive Hungary ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้า HUNGEXPO Budapest Congress and Exhibition Center กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 โดยงานครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มี Exhibitor กว่า 400 บริษัทจาก 15 ประเทศ และผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 15,000 คน

 

ทั้งนี้ งาน Automotive Hungary ในปี 2567 จะเปิดรับสมัครผู้สนใจออกบูธจนถึงช่วงเดือนมีนาคม 2567 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในปี 2567 ทั้งการเข้าชมงานและการออกบูธ สามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ของผู้จัดงาน Hungexpo (https://automotivexpo.hu/en/) หรือติดต่อ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เพื่อประสานงานกับผู้จัดงานต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login