หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลีลดลงจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน

ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลีลดลงจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน

ยอดจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางของชิลีหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวน 142,486 คัน ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2566 มีจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนจำนวน 159,211 คัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการหดตัวจากปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.4 หากพิจารณาตามประเภทรถยนต์ พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อัตราการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 รถปิ๊กอัพลดลง ร้อยละ 23.9

ทั้งนี้ จากขอมูลดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายเดือน (Imacec) ของชิลี พบว่าในเดือนพฤษภาคมมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 เนื่องจากระดับการลงทุนต่ำ การชะลอตัวของการจ้างงาน อัตราการแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้น และการบังคับใช้มาตรการ / ระเบียบเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก[1] ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าว หรือกฎหมาย เลขที่ 21305 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยกระทรวงพลังงานของชิลี ครอบคลุมการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น การก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย การใช้เครื่องทำความร้อน การขนส่ง เป็นต้น ในส่วนของการขนส่ง กฎหมายดังกล่าวกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (การประหยัดเชื้อเพลิง) สำหรับยานพาหนะใหม่ 3 ประเภท ได้แก่ ยานพาหนะขนาดเล็ก (light-duty น้ำหนักรวมไม่เกิน 2,700 กิโลกรัม) ยานพาหนะขนาดกลาง (น้ำหนักรวมระหว่าง 2,700 – 3,860 กิโลกรัม) และยานพาหนะขนาดใหญ่ (น้ำหนักรวมตั้งแต่ 3,860 กิโลกรัม) มาตรฐานสำหรับรถยนต์ ทั้งนี้ รัฐบาลได้เผยแพร่รายละเอียดของกฎหมายควบคุมมาตรฐานสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567  ในขณะที่รายละเอียดของกฎหมายควบคุมมาตรฐานสำหรับยานพาหนะขนาดกลางจะมีการเผยแพร่ภายในปีนี้ และจะมีผลใช้บังคับในปี 2569 ส่วนยานพาหนะขนาดใหญ่จะมีการเผยแพร่รายละเอียดของกฎหมายควบคุมฯ ภายในปี 2569 และจะมีผลใช้บังคับในปี 2571 ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตยานพาหนะ เนื่องจากรถยนต์ที่จะจัดจำหน่ายในชิลีจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมายดังกล่าว

 

ในช่วงแรก มาตรฐานอ้างอิงเฉลี่ยการประหยัดพลังงานสำหรับยานพาหนะขนาดเล็กอยู่ที่ระดับ 18.8 กิโลเมตร / ลิตร สำหรับยานพาหนะขนาดเล็กที่กำหนดที่นำเข้ามายังชิลีระหว่างปี 2567 – 2569 โดยการวัดจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักเฉลี่ยของยานพาหนะที่นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้า หรือตัวแทนของแบรนด์ยานพาหนะนั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป มาตรฐานการประหยัดพลังงานจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 28.9 – 28.4 กิโลเมตร / ลิตร

การกำกับดูแลมาตรฐานยานพาหนะภายหลังจากปี 2573 ภาครัฐบาลจะดำเนินงานร่วมกับอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานยานพาหนะขนาดเล็ก โดยเพิ่มประสิทธิภาพเป็น 2 เท่า ภายในปี 2578 และเป็น 4 เท่าภายในปี 2593 โดยใช้ปี 2562 เป็นปีฐาน กระทรวงคมนาคมและโทรคมนาคมของชิลี มีหน่วยงานควบคุมและให้ใบรับรองยานพาหนะ (Vehicle Control and Certification Center: 3CV) รวมทั้ง การกำกับดูแลการปฏิบัติตามใบรับรอง ดำเนินการทดสอบยานพาหนะที่นำเข้า และจัดทำรายงานประสิทธิภาพการใช้พลังงานทุกครั้งที่ยานพาหนะรุ่นใหม่ต้องการนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะจัดทำรายงานดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง และจัดส่งให้หน่วยงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิง (Superintendence of Electricity and Fuels: SEC) เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและการพิจารณาค่าปรับสำหรับยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ทั้งนี้ ชิลีใช้หลักเกณฑ์ของ European Union’s New European Driving Cycle (NEDC) ในการกำหนดประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานของยานพาหนะแต่ละคันตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ฉบับที่ 211 (ปี ค.ศ. 1991) ของกระทรวงคมนาคมและโทรคมนาคมของชิลี

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ plug-in hybrid (PHEV) สามารถกำหนดกำหนดค่าตัวคูณสามเท่าสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero-emission vehicles: ZEVs) หรือรถยนต์ ZEV จะอยู่ในกลุ่มยานพาหนะที่มีประสิทธิในการประหยัดพลังงานถึง 3 เท่า ซึ่งการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวจะสนับสนุนการผลิตรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ ZEV รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ plug-in hybrid จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยได้รับการลดอัตราภาษีแบบเร่งด่วนภายในระยะเวลา 10 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับในปี 2567[1]

ปัจจุบัน ยานพานหะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ หรือมีการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 106.4 ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หรือมียอดจัดจำหน่ายคิดเป็นจำนวน 7,268 คัน โดยรถยนต์ไฮบริด (HEV) มียอดการจัดจำหน่ายสูงที่สุด คิดเป็นจำนวน 2,770 คัน หรือมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.4 ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (BEVs) มียอดการจัดจำหน่ายจำนวน 1,735 คัน หรือมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 125.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวของจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า HEV และ BEV ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบัน ผู้ผลิตยานพาหนะจำนวนมากกว่า 33 แบรนด์มีการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าร้อยละ 100

รถยนต์ plug-in hybrid (PHEV) มียอดการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 189.6 หรือคิดเป็นนจำนวนรวม 475 คัน ใช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ปัจจุบัน ผู้ผลิตยานพาหนะจำนวน 14 แบรนด์มีการนำเสนอรถยนต์ plug-in hybrid (PHEV) รุ่นต่าง ๆ ในตลาดชิลี

รถยนต์ Micro-hybrid vehicles (MHEVs) หรือรถยนต์ไฮบริดแบบเบา เช่น รถยนต์ขนาดเล็ก (city car) มียอดการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 127.5 หรือคิดเป็นจำนวน 2,195 คัน ส่วนรถยนต์เอนกประสงค์ (SUV) ที่มีการใช้เทคโนโลยีลดมลพิษ มียอดการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 114.3 หรือคิดเป็นจำนวน 5,942 คัน นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.6 หรือคิดเป็นจำนวน 135 คัน รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล จำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 145.6 หรือคิดเป็นจำนวน 997 คัน รถปิ๊กอัพไฟฟ้า จำนวนเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.1 หรือคิดเป็นจำนวน 194 คัน[1]

ยอดการจัดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทที่ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความใส่ใจและความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษ

 

บทวิเคราะห์ / ความเห็น สคต.

กฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือก่อนหน้านั้น สำหรับรถยนต์ทุกคัน ถือเป็นการริเริ่มสำคัญในภูมิภาคลาตินอเมริกาต่อการรักษาสภาพแวดล้อม  โดยชิลีเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับยานพาหนะขนาดต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้เป็นความท้าทาย และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้มีการกำหนดมาตรฐานการประหยัดพลังงานในการขนส่งแล้ว เช่น บราซิล และเม็กซิโก อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมเพียงยานพาหนะขนาดเล็ก ในขณะที่บางประเทศ เช่น โคลอมเบียเน้นการจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ประเภทอื่น ๆ

 

ทั้งนี้ อุรุกวัยและชิลีมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจและมีการลงนามในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งในการประชุมดังกล่าวหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะขนาดใหญ่ / รถบัส ให้ได้ร้อยละ 100 ได้แก่ โคลอมเบียภายในปี 2578 คอสตาริกาภายในปี 2593  และเอกวาดอร์ภายในปี 2568 อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเทศ (15 ประเทศ) ในภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกเหนือจากประเทศที่กล่าวมาแล้วในตารางที่ 2 ที่ยังไม่มีนโยบายริเริ่มเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก[1]

 

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ประมาณการว่าเศรษฐกิจของชิลีจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2567 นี้ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 2.3 ในปี 2568 สคต.ฯ เห็นว่า แม้ชิลีจะบังคับใช้มาตรการ / ระเบียบเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลชิลี ส่งผลให้ความต้องการอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งชิลีจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าว เนื่องจากไม่มีโรงงานผลิตอะไหล่หรือชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศ การที่รัฐบาลเปิดกว้างต่อการนำเข้าสินค้ารถยนต์ ทำให้การแข่งขันในตลาดระหว่างแบรนด์มีค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับราคาของสินค้า รวมถึงบริการหลังการขาย ทำให้รถยนต์จากจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในชิลี เนื่องจากมีราคา บริการหลังการขาย และราคาอะไหล่ที่ถูกกว่า นอกจากนี้ ตลาดรถยนต์มือสองของชิลีมีแนวโน้มเป็นบวก โดยยอดการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.3 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และยอดการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่และการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มือสองมีอัตราที่ใกล้เคียงกันในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยอยู่ที่อัตรา 3.1 คันและ 3.5 คันตามลำดับ

 

จากข้อมูลการค้าการค้าไทย-ชิลี ในปี 2566 สินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปชิลี 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (3) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ (4) ผลิตภัณฑ์จากยาง (5) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ (6) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (7) เม็ดพลาสติก (8) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (9) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (10) อาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชิลีในอนาคตจะอยู่ในกลุ่มอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง  นอกจากนี้ การเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอื่นด้วย อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

 

นอกจากนี้ การที่แนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปในทิศทางบวก ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายแบรนด์วางแผนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และในไม่ช้ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถทดแทนการใช้งานรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิม (เครื่องยนต์สันดาปภายใน: Internal Combustion Engine) ทั้งนี้ การขยายตัวของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐในประเทศต่าง ๆ (การปรับลดภาษี การให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถ EV) กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลดการปล่อยมลภาวะในอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนแบตเตอรี่และการผลิตส่วนอื่น ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าที่กระจายอย่างทั่วถึง ตลอดจนการสนับสนุนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออกรถยนต์ และผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า

 

พลังงานแบตเตอรี่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันถึงร้อยละ 37 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มพลาสติก เนื่องจากวัสดุที่นำมาประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีน้ำหนักเบา เช่น พอลิโพรพิลีน (PP) ที่มักถูกนำมาใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนยานยนต์โดยจัดเป็นหนึ่งในวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ทนทานต่อสารเคมี สามารถขึ้นรูปเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงได้ จึงมักถูกนำมาใช้ ผลิตชิ้นส่วนกันชน (Bumpers) และแผ่นบังโคลน (Wheel Housing) เช่นเดียวกับ พอลิยูรีเทน (PU) ที่มักถูกนำไปใช้งานในกลุ่มวัสดุเคลือบผิว (Coatings) กลุ่มยาง (Elastomers) และกลุ่มโฟม (Foams) ตลอดจนพอลิไวนิลค์คลอไรด์ (PVC) ก็มักถูกนำมาขึ้นรูปเป็นชิ้นงานได้หลากหลาย จึงถูกนำมาใช้เป็นแผงติดเข็ม หน้าปัด และสวิทช์ของเครื่องยนต์ (Instrument Panel) และปลอกหุ้มสายไฟ (Sheathing) ในรถยนต์

 

ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสจากขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและความต้องการบริโภครถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเปลี่ยน/ต่อยอดจากฐานการผลิตที่มีอยู่เดิม จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่มีอยู่ได้ นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล จึงเป็นโอกาสของธุรกิจแบบใหม่ด้วยเช่นกัน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์ การพัฒนาระบบยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ เป็นต้น และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จไฟ อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบพกพา บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะนำมาใช้ในปี 2566-2570 ได้มีการกำหนดแนวทางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่สำคัญของโลก ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับการเติบโตของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสของการขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับชิ้นส่วน อะไหล่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากยาง และยางรถยนต์ด้วย และหากไทยมีความพร้อมทั้งนโยบาย และศักยภาพการผลิต การขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้

_____________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

สิงหาคม 2567

[1] The International Council on Clean transportation – https://theicct.org/wp-content/uploads/2022/08/lat-am-lvs-hvs-chile-EN-aug22.pdf

[1] Chile´s National Automotive Association – https://www.anac.cl/wp-content/uploads/2024/07/06-ANAC-Informe-Cero-y-Bajas-Emisiones-Junio-2024.pdf

[1] Chile´s Ministry of Energy  – https://energia.gob.cl/noticias/biobio/entra-en-vigencia-nuevo-estandar-de-eficiencia-energetica-para-vehiculos-livianos

Local Newspaper – https://www.biobiochile.cl/especial/bbcl-investiga/noticias/articulos/2024/02/02/ley-eficiencia-energetica-en-autos-sin-multa-establecida-comienza-a-regir-a-partir-del-12-de-febrero.shtml

[1] Chile´s National Automotive Association – https://www.anac.cl/wp-content/uploads/2024/07/06-ANAC-Mercado-Automotor-Junio-2024.pdf

Online news about retail and consumption in Latin America – https://america-retail.com/paises/chile/desplome-en-la-venta-de-vehiculos-nuevos-en-chile/

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ยอดจำหน่ายรถยนต์ในชิลีลดลงจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน

Login