จากการวิเคราะห์ตัวเลขยอดจำหน่ายปลีกในสาธารณรัฐเช็กเดือนพฤศจิกายน 2566 สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เพราะที่ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากลดลงมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 18 เดือน โดยยอดจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อปี และเมื่อเทียบเป็นรายเดือนก็เพิ่มขึ้นด้วยเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสำนักงานสถิติเช็ก (CSO) ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อกลางเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดย “การจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเชื้อเพลิงมีส่วนทำให้ยอดจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายอาหารยังคงลดลง” Jana Gotvaldova หัวหน้าแผนกสถิติการค้า การขนส่ง และบริการของสำนักงานสถิติเช็กกล่าว พร้อมเสริมว่ายอดจำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของยอดจำหน่ายเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในส่วนของการจำหน่ายอาหารลดลงร้อยละ 0.7 สิ่งที่น่าสนใจคือร้านค้าที่จำหน่ายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มียอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ร้านขายยาและร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าทางการแพทย์ยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 ธุรกิจออนไลน์และการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 แต่ร้านค้าที่จำหน่ายของใช้ในครัวเรือน เสื้อผ้าและรองเท้า มียอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงร้อยละ 6.5 และ 6.2 ตามลำดับ
ตามข้อมูลของ Tomas Volf นักวิเคราะห์ของ Citfin ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปีเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่ายอดขายจะมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง “แม้ว่าตัวเลขของตอนนี้จะดูดี แต่ก็ยังคงนำมาเป็นข้อสรุปที่ชัดจนไม่ได้ ชาวเช็กยังคงไม่กล้าที่จะใช้จ่ายเพราะหวั่นเกรงสถานการณ์ทางการเงินในอนาคต แม้ว่าอัตราการว่างงานจะยังต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ชาวเช็กยังคงใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น การที่ไม่พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินในร้านค้าต่างๆ ทำให้ผู้ค้าปลีกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลนักเศรษฐศาสตร์ Štepán Kreček ของ BHS กล่าวไว้ว่าสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น “เห็นได้ชัดว่าความต้องการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้คนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ควรจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าจ้างที่แท้จริงของพนักงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง”
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
จากข้อมูลสถิติตัวเลขทางเศรษฐกิจสาธารณรัฐเช็กคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 ในปี 2567 และร้อยละ 3.0 ในปี 2568 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจากร้อยละ 12.2 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2567 สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนและอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจ HORECA ให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกสินค้าไทยมายังตลาดสาธารณรัฐเช็กในอนาคต จึงเห็นควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จะนำเสนอสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ยอดค้าปลีกในสาธารณรัฐเช็กเพิ่มขึ้น