หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมขยายตัวจากยอดขายรถยนต์และ อุปกรณ์ก่อสร้าง – สคต. ชิคาโก

ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมขยายตัวจากยอดขายรถยนต์และ อุปกรณ์ก่อสร้าง – สคต. ชิคาโก

“ความนิยมเดินทางท่องเที่ยวและปรับปรุงบ้านพักอาศัยในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนมีส่วนช่วยทำให้ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ขยายตัว”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานมูลค่าค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม 2566 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขยายตัวของยอดค้าปลีกสินค้ารถยนต์และอุปกรณ์ก่อสร้างในตลาด แนวโน้มดังกล่าวน่าจะมีส่วนสำคัญช่วยชะลอการเกิดภาวะเศรษฐกิจถอยในสหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายต่างกังวลว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยรวมสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank หรือ Fed) จะได้ดำเนินนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Fed Funds Rate) เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นร้อยละ 5 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมาเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินที่รุนแรงและรวดเร็วที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2523 อีกทั้ง ในระหว่างการประชุมครั้งล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ส่งสัญญาณแผนการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.5 ภายในสิ้นปีนี้ด้วย

แม้ว่าปัจจัยด้านอัตราค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันทำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ปัจจัยด้านอัตราค่าแรงงานในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อประกอบกับปัจจัยด้านระดับเงินเก็บออมของชาวอเมริกันบางส่วนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ

ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 สวนทางกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในตลาดที่ต่างคาดการณ์ไว้ว่า ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ จะหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในช่วงดังกล่าว โดยรวมยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (Year-On-Year หรือ YOY)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือนพฤษภาคมยอดค้าสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์ดูแลตกแต่งสวนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.2 เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีอากาศอบอุ่นชาวอเมริกันนิยมปรับปรุงตกแต่งบ้านพัก รวมถึงยอดค้าปลีกสินค้ารถยนต์ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ของใช้สำหรับกิจกรรมสันทานการก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระดับอุปสงค์ของผู้บริโภคในตลาด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่ายอดค้าปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) สหรัฐฯ (ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยอดค้าปลีกของสินค้าที่มีความผันผวนสูง เช่น รถยนต์ น้ำมัน อุปกรณ์ก่อสร้าง และการบริการร้านอาหาร) เดือนพฤษภาคม 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ต่อเนื่องจากร้อยละ 0.6 ในเดือนที่ผ่านมา

การใช้จ่ายภาคประชาชนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 70 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ทั้งหมดของสหรัฐฯ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคประชาชนสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวเร็วที่สุดในรอบเกือบสองปีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวทำให้ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 1.3 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของมูลค่าสินค้าคงคลังในตลาดก็ตาม

สำหรับตลาดการจ้างงานในสหรัฐฯ พบว่า ยังมีแนวโน้มทรงตัวจำนวนผู้ว่างงานที่ขอรับสวัสดิการจากรัฐรักษาระดับใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 2.62 แสนราย อย่างไรก็ตามพบว่า มีจำนวน   ผู้ว่างงานที่ขอรับสวัสดิการจากรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในรัฐจอร์เจีย รัฐฟลอริดา รัฐอิลลินอยส์ รัฐอินดิแอนา รัฐคอนเน็คติกัต และรัฐนิวยอร์ก

ในส่วนของภาคการผลิตสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น (อัตราดอกเบี้ยสูง) ประกอบกับแนวโน้มของผู้บริโภคในตลาดที่หันไปใช้จ่ายเพื่อซื้อบริการมากขึ้น

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การใช้จ่ายภาคประชาชนเป็นกลไกหลักที่สำคัญและมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากที่สุด โดยในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบในตลาดหลายปัจจัยทั้งปัจจัยด้านปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่โดยรวมการใช้จ่ายภาคประชาชนที่ยังคงแข็งแกร่งของผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดกลับยังเป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยให้สหรัฐฯ สามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ตามที่หลายฝ่ายต่างมีความกังวลมาโดยตลอด

ทั้งนี้ แนวโน้มปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบทำให้ตลาดสินค้ารถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางตรงกับระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาด กล่าวคือเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นผู้บริโภคในตลาดก็มีแนวโน้มที่จะลดการเลือกซื้อสินค้าที่ต้องอาศัยการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาซื้อสินค้าลง ประกอบกับในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาปัจจัยด้านการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวสูงขึ้นก็มีส่วนทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดชะลอการซื้อรถยนต์ลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอากาศอบอุ่นมากขึ้น ชาวอเมริกันซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะมีนิสัยชอบทำกิจกรรมในช่วงที่มีอากาศอุ่น เช่น การออกไปเดินทางท่องเที่ยว และการปรับปรุงบ้านพักอาศัยก็มีแนวโน้มที่จะหันไปทำมากขึ้น ประกอบกับการสิ้นสุดของภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 (องค์การอนามัยโลกประกาศสิ้นสุดภาวะการแพร่ระบาดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา) ก็เป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญทำให้ชาวอเมริกันหันออกไปทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันเองซึ่งมีลักษณะการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาการใช้งานรถยนต์ในชีวิต ประจำวันค่อนข้างสูง ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดระบบการขนส่ง ห่วงโซ่อุปทาน และสายการผลิตในตลาดได้รับผลกระทบทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการผู้บริโภค ราคารถยนต์ในตลาดขณะนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมากจนผู้บริโภคในตลาดบางส่วนตัดสินใจชะลอการซื้อรถยนต์ลง เมื่อสถานการณ์ในตลาดเริ่มดีขึ้น ราคารถยนต์ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติทำให้ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อในช่วงก่อนหน้านี้ตัดสินใจซื้อรถยนต์มากขึ้นด้วย

แนวโน้มการขยายตัวของตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ ดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งในกลุ่มสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้างตกแต่งบ้าน รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภครายการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงดังกล่าวที่สหรัฐฯ ยังคงดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าภายใต้นโยบายปกป้องประเทศ (Safeguard Measure) เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนบางรายการเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 จากภาษีนำเข้าปกติซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาด

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการที่จะรอพึ่งพาให้สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะใช้โอกาสดังกล่าวเร่งปรับตัวสินค้าโดยเน้นพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจและเน้นการควบคุมต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เป็นที่สนใจในกลุ่มผู้บริโภคในตลาด เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ อุปกรณ์ก่อสร้างและของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อีกทั้ง การหาโอกาสพบปะเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าในตลาดเป้าหมายตามงานแสดงสินค้าศักยภาพอย่างต่อเนื่องและเสนอขายสินค้าให้ผู้นำเข้าในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม 3 – 4 เดือนก่อนที่จะถึงช่วงที่มีความต้องการบริโภคสูง (High Season) ของแต่ละกลุ่มสินค้า เช่น สินค้ารถยนต์ชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอุปกรณ์ก่อสร้างและตกแต่งบ้านในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน สินค้าเสื้อผ้าและเครื่องเขียนนักเรียนในช่วงปลายฤดูร้อน และสินค้าของขวัญและของชำร่วยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว เป็นต้น

นอกจากนี้ แนวโน้มความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าบริการมากขึ้นของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันยังน่าจะเป็นโอกาสในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจบริการไทยในสหรัฐฯ เช่น ร้านอาหารไทย และร้านนวดไทยด้วย

“นอกจากกลุ่มสินค้ารถยนต์และอุปกรณ์ก่อสร้างตกแต่งบ้านไทยจะมีโอกาสในตลาดแล้วกลุ่มธุรกิจบริการไทย เช่น ร้านอาหาร และร้านนวดก็มีโอกาสเช่นเดียวกัน”

ที่มา: สำนักข่าว Reuters 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

Login