หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ยกเว้นภาษีนำเข้า “โซลาเซลล์” โอกาสในเวลาที่จำกัด

ยกเว้นภาษีนำเข้า “โซลาเซลล์” โอกาสในเวลาที่จำกัด

เนื้อหาสาระข่าว: สืบเนื่องจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ยับยั้ง (veto) มติของสภาคองเกรสที่จะนำมาตรการภาษีนำเข้าสินค้ามาบังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าโซลาเซลล์จากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าสินค้าโซลาเซลล์จากกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงได้รับการยกเว้นภาษี หรือขยายเวลาออกไปนั่นเอง โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้มีคำสั่งดำเนินการตามมติดังกล่าวแล้วอย่างเป็นทางการ

ความเป็นมาของการออกคำสั่งขยายเวลาครั้งนี้ อาจย้อนไปได้ถึงเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนมีความต้องการขยายกำลังการผลิตโซลาเซลล์ของผู้ผลิตภายในประเทศให้เพียงพอ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานด้านพลังงานสะอาด และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลไบเดนที่มีต่อจีน ในฐานะ Supplier วัสดุในการผลิตโซลาเซลล์รายหลัก       จึงได้ประกาศให้มีการยกเว้นภาษีการนำเข้าวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่นั้นมา เพื่อให้เป็นเสมือนทางเลือกสำรองในการนำเข้าวัสดุดังกล่าวมายังผู้ผลิตสหรัฐฯ

สาระสำคัญที่น่าสนใจอยู่ที่ความซับซ้อนของรายละเอียดของระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์ของประเทศผู้ส่งออก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ตั้งแต่ก่อนที่จะนำเข้ามายังสหรัฐฯ      ว่าประเทศผู้ส่งออกเหล่านั้นได้มีการใช้วัตถุดิบส่วนหนึ่งส่วนใดนำเข้าจากประเทศจีนหรือไม่ ซึ่งหากปรากฏว่ามี      ก็จะส่งผลต่อการนำเข้าวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์จากบางบริษัท และบางประเทศผู้ส่งออกสินค้าเหล่านั้น ซึ่งรายละเอียดของวัสดุ/วัตถุดิบที่อยู่ในรายการที่ได้รับการตรวจสอบจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ                 ดังปรากฎในบางส่วนของการพิจารณาเบื้องต้นจากการไต่สวนเรื่องการหลบเลี่ยง (Preliminary Determination of Circumvention Inquiries) ได้แก่

    1. ผลึกซิลิคอน หรือ คริสตัลไลน์ ซิลิคอน (crystalline silicon photovoltaic cells) ซึ่งมีส่วนประกอบของโซลาเวเฟอร์ (wafers) จากประเทศจีน
    2. โมดูล (modules) ลามิเนต (laminates) หรือแผง (panels) ซึ่งมีส่วนประกอบของผลึกซิลิคอนซึ่งมีส่วนประกอบของโซลาเวเฟอร์จากประเทศจีน
    3. โมดูล ลามิเนต หรือแผง ซึ่งมีส่วนประกอบมากกว่า 2 ส่วนขึ้นไปของวัสดุต่อไปนี้ ได้แก่ เงิน (silver paste) กรอบอะลูมิเนียม (aluminum frame) กระจก (glass) แผ่นโซลาเซลล์ (back sheet) แผ่นเอทิลีนไวนิลอะซิเตท (ethylene vinyl acetate sheets) กล่องเชื่อมต่อพลังงานแสงอาทิตย์ (junction boxes) จากประเทศจีน

หมายเหตุ โซลาเวเฟอร์ที่ผลิตจากประเทศอื่น แต่มีส่วนประกอบของโพลีซิลิคอน (polysilicon) จากประเทศจีน จะไม่ถือว่าเป็นโซลาเวเฟอร์จากประเทศจีน

โดยในปัจจุบันผลจากการพิจารณาเบื้องต้น หรือการตรวจสอบที่ได้กล่าวไปนั้น ในกลุ่มประเทศ CMTV (กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม) มีเพียง 3 บริษัทจาก 2 ประเทศที่ผ่านการตรวจสอบ (Not Circumventing) ได้แก่ Hanwha Q CELLS และ Jinko Solar จากมาเลเซีย และ Boviet Solar จากเวียดนาม สำหรับประเทศไทยยังมี 2 บริษัทได้แก่ Canadian Solar และ Trina Solar ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ โดยทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าไม่ให้ความร่วมมือ (Uncooperative)

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้วางระเบียบใบรับรอง 3 ประเภท สำหรับผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเพื่อใช้ประกอบการได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ซึ่งหากขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปจะถือว่าไม่เข้าเกณฑ์การได้รับการยกเว้นภาษี โดยใบรับรองทั้ง 3 ประเภทประกอบด้วย

    1. ใบรับรองรายการสินค้า (Certification of Applicable Entries) – ใบรับรองสำหรับรายการสินค้าซึ่งได้รับการยกเว้นการเสียภาษี
    2. ใบรับรองรายการสินค้าที่สอบถามจากบริษัทพบว่าไม่มีการหลบเลี่ยง (Certification for Entries of Inquiry Merchandise from Companies Found Not to Be Circumventing) – ใบรับรองสำหรับบริษัทผู้ส่งออกที่ผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ
    3. ใบรับรองว่าด้วยส่วนประกอบจากประเทศจีน (Certification Regarding Chinese Components) – ใบรับรองสำหรับรายการสินค้าที่ไม่มีส่วนประกอบ หรือวัตถุดิบจากประเทศจีนตามข้างต้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือแม้ในปัจจุบันจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ใช่ว่าจะคงอยู่ตลอดไป เนื่องจากการขยายเวลาในครั้งนี้ อาจสิ้นสุดได้อย่างช้าที่สุดในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 และสามารถสิ้นสุดได้เร็วกว่านั้นหากทางการสหรัฐฯเห็นว่า “มีสถานการณ์ฉุกเฉิน” อย่างหนึ่งอย่างใดให้ต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้

บทวิเคราะห์: การที่ผู้ส่งออกวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม (CMTV) ถูกจับตามองและเพ่งเล็งอย่างมาก ถึงขั้นถูกไต่สวนตรวจสอบโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ นั้นอาจเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเชิงสถิติ ที่ปรากฎว่าทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม (อันดับ 1) มาเลเซีย (อันดับ 2) ไทย (อันดับ 3) และกัมพูชา (อันดับ 5) อยู่ใน Top Rank ของประเทศผู้ส่งออกวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์มายังสหรัฐฯ ดังข้อมูลที่ปรากฎในตาราง

ในขณะเดียวกันข้อมูลจากตารางแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศ CMTV ที่มีต่อตลาดและผู้ผลิตโซลาเซลล์ของสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าประเทศ CMTV ตั้งแต่ปี 2018 ถึง ปัจจุบันเป็น Supplier หลัก โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 สถิติการนำเข้าโซลาเซลล์พุ่งสูงกว่า 87% โดยสูงขึ้นกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว 12% ซึ่งสถิติการส่งออกจาก CMTV คิดเป็น 79.3% จากทั้งหมด และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ว่าหากวันหนึ่งปริมาณความต้องการวัสดุในการผลิตโซลาเซลล์ในตลาดของสหรัฐฯ ถึงจุดอิ่มตัว หรือลดน้อยถอยลงแล้ว หรือการดำเนินการในระดับนโยบายเปลี่ยนไปแล้ว สภาวะการตลาดดังกล่าวจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด

ในภาพรวมของรัฐบาลไบเดนซึ่งให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดนั้น ได้มีการตั้งเป้าหมายระยะยาวภายใต้แผน Community Solar Target ได้วางไว้ว่าภายในปี 2025 จะมีการติดตั้ง (Installation) ระบบพลังงานสะอาดโซลาเซลล์ให้กับ 5 ล้านครัวเรือนทั่วสหรัฐฯ โดยในปัจจุบันรัฐบาลของไบเดนได้มีนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงพลังงานสะอาดผ่านการลงทุน และอุดหนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้เห็นแนวโน้มในระยะยาวของการสนับสนุนจากนโยบายระดับรัฐบาล

ข้อมูลเชิงสถิติได้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของพลังงานสะอาดจากโซลาเซลล์ในส่วนของที่พักอาศัย โดยในไตรมาสที่สองของปีนี้ มีการติดตั้งโซลาเซลล์เพิ่มขึ้นกว่า 5.6 กิกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่แล้ว และภาพรวมในครึ่งปีแรกติดตั้งไปแล้วกว่า 12 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 45% ของพลังงานที่ติดตั้งใหม่ทั้งหมดในสหรัฐฯ ภายในครึ่งปีแรก ในทางตรงกันข้ามภาพรวมของการติดตั้งโซลาเซลล์ในระดับอุตสาหกรรม และชุมชนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจจะมองได้ว่ารัฐบาลไบเดนได้ให้ความสำคัญกับการติดตั้งพลังงานสะอาดและสนับสนุนประชาชนสหรัฐฯ ให้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: แม้ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ จะชัดเจนในเรื่องการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานสะอาด แต่องค์ประกอบอื่นที่มาควบคู่กันเป็นต้นว่านโยบายทางการค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น เป็นสิ่งที่ควรจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การที่ทางการสหรัฐฯ ออกระเบียบที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้สามารถส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแผงโซลาเซลล์ไปยังสหรัฐฯ ได้โดยมีข้อกีดกันทางการค้าน้อยลงนั้น สาเหตุสำคัญมาจากการที่สหรัฐฯ กำลังมีนโยบายกีดกันทางการค้าในระดับเข้มข้นกับจีนอยู่ ซึ่งโดยปรกติแล้วเป็นที่รู้กันว่าสินค้าเหล่านี้มีจีนเป็น Supplier หลักของตลาดโลก  อยู่แล้ว กล่าวคือ ในกรณีนี้ทางเลือกสำรองอย่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้รับอาณิสงค์แบบ “ส้มหล่น” ในทางการค้า เพราะการออกมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเฉพาะรายการ และเฉพาะกลุ่มประเทศในกรณีที่มิได้มี FTA ต่อกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งสหรัฐฯ เอง

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรจะใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะแม้เราอาจจะพอคาดคะเนได้ว่าโอกาสครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด (คาดการณ์ว่าเดือนมิถุนายนปีหน้า เมื่อมาตรการยกเว้นภาษีสิ้นสุดลง) แต่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าระหว่างทางจะเกิดการเปลี่ยนแปลงประการใดหรือไม่ ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดเชิงลึกที่เกี่ยวกับระเบียบ และวิธีปฏิบัติ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปบางส่วนแล้ว อาทิ ที่มาของวัตถุดิบ และ/หรือวัสดุของสินค้าส่งออกของเรา มีส่วนหนึ่งส่วนใดคลาดเคลื่อนไปจากข้อกำหนดหรือไม่ เช่นเดียวกับในส่วนของใบรับรองที่จะต้องมีการขอเป็นกรณีพิเศษนั้น ทำอย่างไรถึงจะมีได้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้สินค้าของเราพลาดโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ หรือ “ตกขบวนรถไฟ” ไปอย่างน่าเสียดาย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้ควรต้องช่วยกันรักษาความได้เปรียบนี้ไว้ให้ได้นานที่สุดคือการช่วยกันสอดส่องไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดกระทำหรือใช้สิทธิการได้รับประโยชน์ในทางที่เป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมโซลาเซลล์ของไทย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าจีนเป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตแผง    โซลาเซลล์ของโลก จนกระทั้งมีนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นผลให้สินค้าจากจีนเป็นจำนวนมากต้องหาช่องทางเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยมีบางส่วนถูกนำมาสวมสิทธิ์เพื่อใช้ข้อได้เปรียบในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรที่จะช่วยสอดส่องและรายงานให้กับภาครัฐให้ทราบถึงพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจที่อาจเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมโซลาเซลล์ของไทยในภาพรวม แม้ว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้คงอยู่ตลอดไป แต่หากผู้ประกอบการไทยสามารถรักษากฎระเบียบไว้ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจของรัฐบาลสหรัฐฯ จนเป็นที่น่าเชื่อใจและไว้ใจได้ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจจะขยายสิทธิพิเศษเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมโซลาเซลล์ของไทยได้ด้วยเช่นกัน

*********************************************************

ที่มา: JDSupra
เรื่อง: “Expect Higher Tariffs on Some U.S. Imports of Solar Cells and Modules From Southeast Asia by Mid-2024”
โดย: Brendan Holman, Nick Ognibene, Ken Rivlin, and Daniel Sinaiko
สคต. ไมอามี /วันที่ 8 กันยายน 2566

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login