มาเลเซียสั่งระงับการนำเข้าโคมีชีวิตและกระบือจากออสเตรเลียเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 หลังจากที่อินโดนีเซียระงับการนำเข้าบางส่วนหลังจากตรวจพบโรคผิวหนังเป็นก้อน (LSD) ในโคจำนวนเล็กน้อยในเนื้อวัวที่นำเข้ามาจากออสเตรเลีย
มาร์ค ชิปป์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ของออสเตรเลีย ระบุว่า ออสเตรเลียกำลังเร่งประสานกับคู่ค้าของมาเลเซียอย่างเร่งด่วนเพื่อยกเลิกการสั่งระงับการนำเข้าดังกล่าวและยืนยันว่าโคและกระบือของประเทศออสเตรเลียยังคงปลอดจากโรคดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า “เราเข้าใจดีว่าการตัดสินใจระงับการนำเข้าของมาเลเซียในครั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของอินโดนีเซียที่พวกเขาระงับการนำเข้าวัวจากฟาร์มวัวที่ส่งออกสี่แห่งในออสเตรเลีย หลังจากตรวจพบโรค LSD ในวัวออสเตรเลียที่อินโดนีเซียสั่งนำเข้ามา”
อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกโคมีชีวิตของออสเตรเลียที่ใหญ่ที่สุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอินโดนีเซียได้วางข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นในการนำเข้าวัวจากออสเตรเลีย และเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลียมีการตรวจวินิจฉัยที่มาของโรคและหาทางแก้ไขโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม โรค LSD ในวัวซึ่งทำให้เกิดแผลพุพองและลดการผลิตน้ำนม เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้อย่างมากในโคและกระบือจากการถูกแมลงกัดต่อย อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่มนุษย์
ที่มา : The Star
ความคิดเห็น สคต.
รายงานจาก Beef Central สมาคมผู้ส่งออกโคและกระบือของออสเตรเลียระบุว่า มาเลเซียนำเข้าโคจากออสเตรเลียประมาณ 20,000 ถึง 30,000 ตัวต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2566 มาเลเซียนำเข้าโคมีชีวิตจากออสเตรเลียเพียง 2,328 ตัว ในทางกลับกัน มาเลเซียมีแนวโน้มการนำเข้าโคมีชีวิตจากไทยที่ดีขึ้น โดยมีตัวเลขการนำเข้าในปี 2563 – 2565 ที่ 15,075 ตัว, 13,214 ตัว และ 15,017 ตัว ตามลำดับ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่มาเลเซียสั่งระงับการนำเข้าโคมีชีวิตและกระบือจากออสเตรเลียเป็นการชั่วคราว สำนักงานฯ เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ส่งออกโคแบบชีวิตที่จะสามารถส่งออกมายังมาเลเซียที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตมายังมาเลเซียมีข้อบังคับที่เข้มงวดและฟาร์มที่ส่งออกจะต้องได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์และ Department of Islamic Development Malaysia ของมาเลเซียก่อนถึงจะสามารถส่งออกมายังมาเลเซียได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์