นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของภาคตะวันตกของจีน ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเท่านั้น หากยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ “เมืองแห่งการบริโภคผลไม้” ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ Chengdu Fruit Association (2024) ระบุว่า นครเฉิงตูมีปริมาณการบริโภคผลไม้เฉลี่ยมากกว่า 10,000 ตันต่อวัน และมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 7,200 ล้านหยวนต่อปี (หรือประมาณ 36,000 ล้านบาทต่อปี) ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนศักยภาพด้านกำลังซื้อของประชากรและการบริโภคผลไม้ของชาวนครเฉิงตู รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบโลจิสติกส์ การค้าส่ง และเครือข่ายกระจายสินค้า ซึ่งทำให้นครเฉิงตูได้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภาคตะวันตก มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ครบวงจร และเป็นตลาดปลายทางสำคัญของผลไม้นำเข้า โดยเฉพาะจากประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย
ผู้นำร้านจำหน่ายผลไม้ที่ครองใจผู้บริโภคเมืองเฉิงตู : แบรนด์ระดับประเทศและแบรนด์ท้องถิ่น
ตลาดค้าปลีกผลไม้ในนครเฉิงตูมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีลักษณะเด่นคือ “การแข่งขันแบบผสม” (Mixed Competition) ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ระดับประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด และแบรนด์ท้องถิ่นที่เน้นความเข้าใจบริบทชุมชนและสร้างความต่างในเชิงประสบการณ์
- ร้านจำหน่ายผลไม้ Pagoda(百果园)
|
ร้านจำหน่ายผลไม้ Pagoda(百果园) เป็นแบรนด์ค้าปลีกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีสาขามากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ และในเฉิงตูเพียงเมืองเดียวมีมากกว่า 200 สาขา ถือเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการวางระบบควบคุมคุณภาพแบบครบวงจร (integrated supply chain) ตั้งแต่การจัดหาแปรรูป การกระจายสินค้า ไปจนถึงบริการลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สาขาของ Pagoda ในเฉิงตูมีพื้นที่เฉลี่ย 120–150 ตารางเมตร ต่อสาขา และสาขาขนาดใหญ่ที่สุด (เขตเทียนฟู่) มีพื้นที่ถึง 300 ตารางเมตร โดยภายในร้านมีการแบ่งพื้นที่อย่างเป็นระบบ ได้แก่ โซนพรีเมียมสำหรับตู้แช่ควบคุมอุณหภูมิสำหรับผลไม้นำเข้า โซนวัดความหวานที่ติดตั้งเครื่อง BRIX Scan 3 สำหรับการคัดเกรดผลไม้ โซน DIY พื้นที่ให้ลูกค้าเลือกจัดชุดผลไม้สำหรับของขวัญ และโซนสมาชิกสำหรับจุดบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ระบบสมาชิก Pagoda+
จุดเด่น : แบรนด์ Pagoda ให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านรสชาติและความปลอดภัย โดยใช้ระบบคัดเกรดผลไม้ตามมาตรฐานสากล ทั้งในด้านลักษณะภายนอกและความหวาน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ A AA และ AAA พร้อมด้วยการติดตั้งเครื่องวัดค่า BRIX (BRIX Scan 3) สำหรับตรวจระดับน้ำตาลในผลไม้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีระบบจัดเก็บความเย็นแบบเฉพาะสายพันธุ์สำหรับผลไม้ที่ต้องการรักษาคุณภาพเฉพาะ ประกอบด้วยผลไม้นำเข้า อาทิ ทุเรียนหมอนทองจากประเทศไทย มังคุด เชอร์รี่จากชิลี องุ่น Crimson จากออสเตรเลีย และแอปเปิ้ลฟูจิ สำหรับผลไม้ท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เพาะปลูกกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการร่วมมือกับแหล่งเพาะปลูกในมณฑลเสฉวน เช่น มะม่วงจากผานจือหว่า และ ส้มผูเจียง ซึ่งเป็นผลไม้ประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง
ช่องทางการจำหน่าย : แบรนด์ Pagoda ใช้ทั้งระบบหน้าร้าน (offline) และช่องทางออนไลน์ (online) ผ่านแอปพลิเคชัน Pagoda+ ซึ่งรองรับบริการเดลิเวอรีถึงบ้านภายใน 2 ชั่วโมง ภายในเขตเมืองเฉิงตู นอกจากนี้ยังมีระบบสมาชิกสำหรับให้ส่วนลด สะสมแต้ม และรับสิทธิ์ของขวัญตามเทศกาล
- ร้านจำหน่ายผลไม้ Guoweiyi (果唯伊)
![]() ![]() ( ภาพและแหล่งที่มา : Wuhanpuxiaoge ) |
ร้านจำหน่ายผลไม้ Guoweiyi (果唯伊) เป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกผลไม้ระดับชุมชนที่เติบโตเร็วในนครเฉิงตู โดยปัจจุบันมีมากกว่า 130 สาขา ครอบคลุมหลายเขตเมืองและชุมชนที่อยู่อาศัย โดดเด่นด้วยการสร้างภาพลักษณ์ ผลไม้คุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล และสามารถครองใจผู้บริโภคในกลุ่มครอบครัว คนทำงาน และผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมือง ภายในร้านพื้นที่เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 80–120 ตารางเมตร ตกแต่งเรียบง่ายโดยเน้นการจัดแสดงผลไม้ในรูปแบบเปิดที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสรรได้ เน้นปริมาณและราคาคุ้มค่า จุดแข็งของแบรนด์ Guoweiyi คือการเข้าใจบริบทชุมชน และมีจุดขายที่ตอบโจทย์ต่อวิถีชีวิตคนท้องถิ่น
ในด้านคุณภาพแบรนด์ Guoweiyi ให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของผลไม้ โดยมีระบบหมุนเวียนผลไม้จากตลาดกลางในแต่ละวัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านมีความสดใหม่และไม่มีของเสียจากการค้างสต็อก การจัดวางสินค้าในร้านมีความเป็นระบบ โดยแบ่งพื้นที่ตามหมวดหมู่หลัก ได้แก่ ผลไม้ตามฤดูกาลที่มักจะวางในจุดเด่นเพื่อกระตุ้นการซื้อ ผลไม้นำเข้าซึ่งมีการติดป้ายแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและ ผลไม้พร้อมรับประทานที่วางในตู้แช่แบบเปิดสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ตอบโจทย์วิถีชีวิตเร่งรีบของผู้บริโภคในเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี
จุดเด่น : การวางตำแหน่งเป็นร้านผลไม้เพื่อชุมชนที่เน้น ความสดใหม่ ราคาเข้าถึงง่ายและบริการที่ประทับใจ โดยแบรนด์ใช้กลยุทธ์ราคาที่ยุติธรรมเป็นหลัก เนื่องจากราคาขายผลไม้จะต่ำกว่าแบรนด์คู่แข่งรายใหญ่อย่าง Pagoda ประมาณร้อยละ 15–20 ซึ่งช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าประจำและกลุ่มครัวเรือนขนาดเล็กที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า นอกจากนี้แบรนด์ Guoweiyi ยังมีบริการพิเศษที่สร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภค คือการบริการตัดและหั่นผลไม้ฟรี สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานทันที เช่น แตงโม แคนตาลูป มะละกอ และส้ม โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่มเติม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความแตกต่างจากร้านค้าผลไม้รายอื่นในตลาด และแบรนด์ Guoweiyi ใช้กลยุทธ์การตลาดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่จับต้องได้ เช่น โปรโมชั่นรายสัปดาห์อย่าง โปรโมชั่นเชอร์รี่สุดสัปดาห์ โปรโมชั่นทุเรียนในทุกวันศุกร์ เป็นต้น พร้อมติดป้ายราคาชัดเจนหน้าร้านเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าในพื้นที่
ช่องทางการจำหน่าย : ในส่วนของช่องทางออฟไลน์ มุ่งเน้นการเปิดร้านในพื้นที่ชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง เช่น ใกล้ตลาดสด คอนโดมิเนียม และหมู่บ้าน โดยเน้นความสะดวกในการเข้าถึงของผู้บริโภคในชุมชน สำหรับช่องทางออนไลน์ เปิดบริการผ่าน WeChat Official Account และ Mini Program ซึ่งไม่เพียงแต่สั่งซื้อได้ง่าย ยังสามารถติดตามโปรโมชั่นรายสัปดาห์ และรับข่าวสารต่างๆ ได้โดยตรงจากแบรนด์ อีกทั้งยังมีบริการจัดส่งถึงบ้านภายในรัศมี 2 กิโลเมตรโดยไม่เสียค่าจัดส่ง เมื่อมียอดสั่งซื้อขั้นต่ำ เช่น 30 หยวนขึ้นไป
เทรนด์ผู้บริโภคและแนวโน้มการซื้อผลไม้ในนครเฉิงตู ปี 2568
ในปี 2568 พฤติกรรมการซื้อผลไม้ของชาวเฉิงตูเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยกว่าร้อยละ 60 ของคำสั่งซื้อผลไม้มาจากช่องทางเดลิเวอรี ขณะที่การซื้อหน้าร้านลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40 ปัจจัยสำคัญคือความสะดวกและรวดเร็วของบริการจัดส่ง ตลอดจนความคุ้นชินจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น WeChat Mini Program, Meituan และ Ele.me เป็นช่องทางหลักในการเลือกซื้อผลไม้
ในทางเดียวกันนั้น เศรษฐกิจกลางคืน (Night Economy) กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของตลาดผลไม้ โดยข้อมูลจาก Meituan ระบุว่า คำสั่งซื้อผลไม้ช่วงเวลากลางคืนในระหว่าง เวลา 22:00–06:00 น. คิดเป็นถึงร้อยละ 35 ของยอดขายรวม ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งต้องขยายเวลาเปิดบริการเป็น 24 ชั่วโมง หรือจัดตั้งจุดจำหน่ายอัตโนมัติเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์กลางคืน อาทิ กลุ่มวัยทำงาน นักศึกษา และ ผู้ที่เลือกบริโภคผลไม้แทนของหวานเพื่อสุขภาพ
อีกหนึ่งแนวโน้มที่โดดเด่นคือการเติบโตของ Community Group Buying หรือการสั่งซื้อแบบกลุ่มผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ร้านค้าหลายแห่งใช้กลยุทธ์ลดราคาสินค้า ต่ำกว่าราคาหน้าร้านร้อยละ 20–30 สำหรับลูกค้าที่รวมกลุ่มสั่งซื้อในปริมาณมาก ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับราคาที่คุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ร้านค้าลดความเสี่ยงด้านสต็อกและขยายฐานลูกค้าในชุมชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ในปัจจุบัน นครเฉิงตูถือเป็น “ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและการบริโภคผลไม้ระดับพรีเมียม” ที่มีการบริโภคผลไม้เฉลี่ยมากกว่า 10,000 ตันต่อวัน และมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 7,200 ล้านหยวนต่อปี (Chengdu Fruit Association, 2024) โดยมีทั้งแบรนด์ค้าปลีกระดับประเทศ เช่น Pagoda และแบรนด์ท้องถิ่น เช่น Guoweiyi ซึ่งครองใจผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน จากการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคและโครงสร้างตลาดค้าปลีกผลไม้ในนครเฉิงตูอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มผลไม้ไทยยังคงมีโอกาสในการขยายตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้พรีเมียมและผลไม้เมืองร้อนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในเมืองระดับรองที่มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความใส่ใจต่อคุณภาพและสุขภาพมากขึ้น
หนึ่งในข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนคือการอยู่ภายใต้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ASEAN–China Free Trade Area: ACFTA) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผลไม้ไทยจำนวนมากสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยปลอดภาษี ครอบคลุมทั้งผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง และผลไม้แปรรูปบางรายการ อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง และกล้วย
ภูมิภาคจีนตะวันตก โดยเฉพาะมณฑล ยูนนาน กวางสี กว่างตง และเสฉวน มีบทบาทสำคัญในฐานะ “ประตูการค้าผลไม้ไทย” สู่ตลาดจีนตอนใน โดยมีระบบโลจิสติกส์ครบวงจรที่เชื่อมโยงจากจุดผ่านแดน เช่น เมืองโม่ฮาน เมืองผิงเสียง ไปยังศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ การใช้ข้อได้เปรียบจากความตกลง ACFTA กับเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมภาคตะวันตกของจีน จะช่วยให้ผลไม้ไทยสามารถเจาะตลาดเฉิงตูและเมืองอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้านต้นทุน และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งระดับภูมิภาคได้ในระยะยาว
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
เมษายน 2568
แหล่งข้อมูล :
Chengdu Fruit Association, 2024 คู่มือความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน-ACFTA.pdf |
อ่านข่าวฉบับเต็ม : มาทำความรู้จักร้านจำหน่ายผลไม้ในนครเฉิงตู