“ภูมิธรรม” ถกผู้ว่าฯ วากายามะ เดินหน้าร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์-เกษตรแปรรูป
“ภูมิธรรม” ถกผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ เจรจาเพิ่มความร่วมมือภายใต้ MOU ขอช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ และเกษตรแปรรูปของไทย เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน และเพิ่มโอกาสในการส่งออกระหว่างกัน รวมถึงส่งออกไปประเทศอื่น ๆ พร้อมขอให้พิจารณานำเข้าวัตถุดิบเกษตรไปผลิตสินค้าเพิ่มเติม ย้ำไทยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนโรงแรม และอำนวยความสะดวกนักลงทุนจากวากายามะ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายคิชิโมโตะ ชูเฮ (KISHIMOTO Shuhei) ผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า และการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอให้จังหวัดวากายามะ ส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดวากายามะในสาขาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเกษตรแปรรูป เพื่อพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศ
“ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมประชุมกับภาคเอกชนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการหยิบยกประเด็นความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยขอให้ผมผลักดันความร่วมมือนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจังหวัดวากายามะได้มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยนำนวัตกรรมและองค์ความรู้มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าอันจะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดการส่งออกระหว่างกัน รวมถึงการเพิ่มโอกาสส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ”
ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ผู้ประกอบการในจังหวัดวากายามะ ในส่วนอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้พิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเกษตรจากไทยไปผลิตสินค้าเพิ่มเติม อาทิ บริษัท Nakata Foods Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมงาน Thaifex-Anuga Asia กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และมีความสนใจนำเข้าน้ำเสาวรสจากไทย เพื่อไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาการค้า ทั้งนี้ ได้ยืนยันไปว่าหากทางจังหวัดวากายามะ มีบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจสินค้าไทย กระทรวงพาณิชย์ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้แจ้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะว่า จากนโยบายของจังหวัดวากายามะในการดึงดูดนักลงทุนไทยที่เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ไปลงทุนในจังหวัดวากายามะ หากมีประเด็นใดที่กระทรวงพาณิชย์ สามารถช่วยเหลือได้ ทางจังหวัดวากายามะสามารถประสานผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ หรือหากภาคเอกชนของจังหวัดวากายามะมีความประสงค์จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการในประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ก็มีความยินดีจะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน
สำหรับจังหวัดวากายามะ ตั้งอยู่บริเวณภูมิภาคคันไซ มีอาณาเขตติดต่อกับ จ.โอซากา จ.นารา และ จ.มิเอะ มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าทั้งทางอากาศและทางทะเลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สนามบินคันไซ และมีท่าเรือ Shimotsu ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ และยังมีโครงข่ายการจราจรทางบกที่เชื่อมต่อทางพิเศษกับเมืองใหญ่ในภูมิภาคคันไซได้หลายเส้นทาง โดยธุรกิจ SMEs ในจังหวัดวากายามะ ส่วนมากเป็นด้านสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เครื่องเขิน และของใช้ในครัวเรือน โดยอุตสาหกรรมหลัก คือ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมอาหาร การส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีการลงทุนในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น อาทิ การให้เงินอุดหนุนในงบประมาณไม่เกิน 10,000 ล้านเยน สำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในจังหวัดตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเป็นวงเงินอุดหนุนที่มากที่สุดในญี่ปุ่น และมีกองทุนให้กู้ยืมสำหรับธุรกิจใหม่หรือการขยายโรงงาน ด้านเกษตรกรรม มีชื่อในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของญี่ปุ่นโดยเฉพาะส้ม ลูกพลับ และลูกบ๊วย พร้อมทั้งยังมีการจัดทำยุทธศาสตร์เร่งด่วนด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของจังหวัด เพื่อผลักดันให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ รวมถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารแปรรูป สินค้าเกษตร และประมง
ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญยิ่งของไทย ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยในปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีมูลค่าการค้ารวม 38,210.28
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,308,051.58 ล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 16,808.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (571,601.71 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.75 และการนำเข้ามูลค่า 21,401.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (736,449.87
ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.00 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศญี่ปุ่น ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าระหว่างกัน สำหรับโอกาสของสินค้าไทยมีความโดดเด่นทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ซีรี่ส์/ภาพยนตร์ สินค้ากลุ่ม BCG สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การพบปะหารือในวันนี้ จะมีส่วนช่วยในการกระชับความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ในการบุกตลาดญี่ปุ่น และเร่งผลักดันสินค้าที่มีศักยภาพอื่นๆ ของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวเข้าสู่การค้าในระดับสากลต่อไป
———————————–
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
19 ตุลาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)