นักเศรษฐศาสตร์เริ่มมั่นใจว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ อย่างไรก็ดี ในปี 2567 นี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง อัตราการว่างงานที่ต่ำ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ จึงทำให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะไม่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ธนาคาร Wells Fargo ได้คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ (Soft Landing) เพื่อชะลอเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะเกิดภาวะถดถอยในกลางปี 2566
อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกฝ่ายเห็นว่าหากนักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ผิดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 การคาดการณ์ครั้งนี้อาจจะผิดพลาดอีกครั้งก็ได้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปี 2566 และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ถึงแม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวของสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้น และในขณะเดียวกันนั้น นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Wells Fargo ก็ได้ออกรายงานที่เกี่ยวกับตลาดแรงงานในสหรัฐฯ โดยพบว่ามีสัญญาณความอ่อนแอของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ จากการจ้างงานที่ชะลอตัวมากขึ้นและมีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีการจ้างงานใหม่ ถึงแม้อัตราการเลิกจ้างงานจะอยู่ในระดับที่ต่ำแต่ยังมีผู้ว่างงานที่อยู่ในภาวะยากลำบากในการหางานทำ
Ms. Sarah House ผู้เขียนรายงานของธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยบวกที่ส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และภาวะเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีพื้นที่ในการดำเนินนโยบายมากขึ้น โดยหากตัวเลขการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น Fed ก็อาจใช้วิธีลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยและยังมีแนวโน้มการเกิดของภาวะถดถอยได้อยู่ ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอาจมี 3 เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจ
สาเหตุหลักที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 คือ การดำเนินนโยบายของ Fed ตั้งแต่ปี 2565 เจ้าหน้าที่ของ Fed ได้พยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดในรอบทศวรรษ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสงค์ที่มากเกินไปในเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายและธุรกิจชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมากเกินไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงคนใน Fed มองว่าวิธีการดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง และเมื่อผู้บริโภคหรือบริษัทต่างๆ ลดการใช้จ่ายอาจทำให้เกิดภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่แสดงให้เห็นโดยเร็วว่าเศรษฐกิจจะมีการชะลอตัวลง มีหลายเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวช้ากว่าปกติ เช่น หลายบริษัทได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในปี 2563 – 2564 ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก นอกจากนี้ หลายครัวเรือนอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก เนื่องจากครัวเรือนได้มีการสะสมเงินออมและได้ปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
อย่างไรก็ดี เงินออมที่ได้สะสมกำลังลดลงหรือใกล้หมดแล้ว เห็นได้จากยอดการใช้บัตรเครดิตในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่สูง ตลาดที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัวมากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ลูกหนี้ของเงินกู้ยืมเพื่อศึกษาเริ่มกลับมาชำระหนี้อีกครั้งหลังจากหมดระยะเวลาหยุดพักชำระหนี้ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลระดับรัฐและระดับท้องถิ่นมีการลดงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือน้อยลงรวมทั้งรายได้จากภาษีลดลง
Ms. Dana M. Peterson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ The Conference Board สถาบันวิเคราะห์นโยบายสาธารณะให้ความเห็นว่า ความช่วยเหลือที่ผู้บริโภคเคยได้รับกำลังจะหมดลง อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบสภาวะถดถอยจากการลดปริมาณการผลิตลง ผู้บริโภคจึงเป็นเสาหลักสุดท้ายในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากตลาดแรงงานอ่อนแอลงแม้แต่น้อย ก็อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพราะหากพนักงานรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพอาจจะทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายน้อยลง
- อัตราเงินเฟ้อสูงอาจกลับมา
การที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสามารถชะลอตัวได้โดยไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัจจุบันตัวเลขอัตราเงินเฟ้อมากกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อระยะยาวของ Fed ที่ตั้งไว้อยู่ที่ร้อยละ 2 เพียงเล็กน้อย โดยราคาของสินค้าที่จับต้องได้ (Physical Good) กำลังลดลง เช่น เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์มือสอง เป็นต้น
หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ผู้กำหนดนโยบายจะมีพื้นที่ในการดำเนินกลยุทธ์ทางการเงินมากขึ้น เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยหากอัตราการเลิกจ้างงานมีการปรับตัวสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ของ Fed ชี้แจงว่ามีแนวโน้มว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปี 2567 เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ผู้กำหนดนโยบายจะมีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ย หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
นาย Raghuram Rajan นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Chicago Booth School of Business ที่ดำรงตำแหน่งในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารกลางในประเทศอินเดียให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีอุปสงค์ที่แข็งแรงแต่สถานการณ์นี้ก็สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ เพียงแต่คำถามคือสหรัฐฯ จะโชคดีเช่นนี้ไหม
ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ห่วงโซ่อุปทานได้กลับมาสู่ภาวะปกติหลังจากการหยุดชะงักที่เกิดจากโควิด-19 ตลาดสหรัฐฯ ได้มีแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาให้สหรัฐฯ และชาวอเมริกันกลับเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจมีทรัพยากรและแรงงานที่จำเป็นมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานโดยไม่ต้องขึ้นค่าแรงเพื่อจูงใจให้คนมาทำงานกับบริษัทมากนัก
ตลาดการเงินอาจทำให้ Fed ทำงานยากขึ้น ตลาดหุ้นและพันธบัตรที่มีความผันผวนเมื่อปลายปี 2566 ได้หักล้างกับความพยายามของ Fed ด้วยการทำให้นักลงทุนรู้สึกรวยขึ้นและทำให้บริษัทเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ถูกขึ้น นั่นอาจทำให้ Fed ต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกมากกว่านี้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยมากขึ้น
Ms. Lorie K. Logan ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ของเมืองดัลลัสได้กล่าวในการประชุมประจำปีว่า ถ้า Fed ไม่ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเพียงพอ ก็มีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อจะกลับมาอีก และ Fed ควรหาแนวทางที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
- เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
ในปี 2566 มีเหตุการณ์ที่ทำให้สหรัฐฯ มีภาวะเงินเฟ้อลดลง เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ไม่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง สภาคองเกรสรอดพ้นจากการปิดรัฐบาลและได้แก้ไขเรื่องเพดานหนี้ ส่วนภาวะสงครามในตะวันออกกลางได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ปี ในปี 2567 นี้ไม่มีอะไรรับประกันว่าสหรัฐฯ จะยังโชคดีอยู่ สงครามในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างขึ้นอาจหยุดชะงักเส้นทางการเดินเรือและการส่งสินค้าในพื้นที่ทะเลแดง สภาคองเกรสจะต้องเผชิญกับการตั้งงบประมาณของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมอีกครั้งหลังจากผ่านร่างฎหมายงบประมาณระยะสั้นฉบับชั่วคราว (Stopgap Funding Bill) ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เชื้อโควิดที่มีความรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งในพื้นที่ไต้หวัน วิกฤติในระบบการเงิน เป็นต้น มีหลายความเป็นไปได้ข้างต้นที่อาจทำให้ Fed ผิดหวังและส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นหรืออุปทานลดลง
มีความเสี่ยงหลายอย่างที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ Fed มีช่องว่างสำหรับความผิดพลาดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างมากและมีความต้านทานต่อผลกระทบด้านลบที่น้อยลง จึงทำให้ Fed อยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากต่อการเพิกเฉยของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวก็ตาม
Ms. Karen Dynan นักเศรษฐศาตร์มหาวิทยาลัย Harvard และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า Fed ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดได้เพราะอาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานที่มากขึ้น ซึ่งการตัดสินใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้กำหนดนโยบายมากนัก
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
2 ปีที่ผ่านมา Fed ได้พยายามอย่างมากในการลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันสูงกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ Fed กำหนดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผลจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยและอาจมีการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เป็นเสาหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการดำเนินงานและแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ทันตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ